'Solar D' Game Changer ตลาดโซลาร์เซลล์เมืองไทย เปิดตัวนวัตกรรม 'หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์' ครบวงจรครั้งแรกในไทย ติดตั้งเร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า ปีหน้าเตรียมพัฒนาเวอร์ชันใหม่ พร้อมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2569 ระดมทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าขายระยะยาวป้อนภาคอุตสาหกรรม และดึงคนไทยผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือนมากขึ้น
สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด หรือ Solar D ผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร กล่าวว่า การตื่นตัวเรื่องตลาดพลังงานทดแทนโซลาร์เซลล์ในเมืองไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี สะท้อนจากจำนวนผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ทำให้มีการใช้โซลาร์เซลล์ปีละ 1,000-2,000 เมกะวัตต์ หรือมีมูลค่าถึง 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี และตลาดจะขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานสะอาดในประเทศเพิ่มเป็น 60% ในปี 2040 อีกทั้งยังตอบสนองกับกฎข้อบังคับการค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น Solar D จึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาดรองรับการแข่งขันและการเติบโตของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกสิทธิ์ ‘หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์’ Light Speed 1.0 มาใช้ เพื่อลดระยะเวลาในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเหลือเพียง 6 วันต่อ 1 เมกะวัตต์ จากการติดตั้งในรูปแบบเดิมที่ใช้แรงงานคนที่จะต้องใช้เวลานานถึง 60 วัน
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราพบปัญหาในธุรกิจโซล่าร์เซลล์หลายอย่าง โดยเฉพาะการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้เร็วกว่าเดิม เป็น pain point ของทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ หุ่นยนต์เทคโนโลยี Light Speed version 1.0 จึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อจะอยากจะเติบโตธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่ต้องการเข้าไปจัดการและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานสะอาด จนนำไปสู่การมี well being ที่ดีขึ้นของคนไทยในอนาคต ซึ่งโซล่าเซลล์มีการเติบโตสูงเกือบ 100% ใน 5 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ต้นทุนระบบโซลาร์เซลล์ต่ำลง คนเข้าถึงง่ายขึ้นและคุณภาพดีขึ้น” สัมฤทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ จุดเด่นของ ‘หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์’ 1.0 version อยู่ที่ประสิทธิภาพในการติดตั้งทำได้เร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า ให้ความแม่นยำสูง ช่วยลดจำนวนแรงงานลงได้อีกครึ่งหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อหลังคา ลดความล่าช้าที่อาจเกิดจากสภาพอากาศ และลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน ทั้งหมดนี้ทำให้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น โดยหากใช้ระยะเวลาในการติดตั้งได้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประหยัดไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนบาท นอกจากนี้ Solar D ยังได้พัฒนาระบบแบตเตอรี่สำรองเพื่อการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เสริมโซลูชันที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนของธุรกิจอีกด้วย
“ในปีหน้าจะเราขยายบริการและพัฒนาเทคโนโลยี Light Speed 2.0 สำหรับหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้โซล่าร์เซลล์แข่งขันและลดต้นทุนในระยะยาวได้ อีกทั้งยังรองรับโครงการขนาดใหญ่และความต้องการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในตลาดพลังงานสะอาดระดับภูมิภาค” สัมฤทธิ์กล่าวเสริม
สันติ ศรีชวาลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด เผยว่า หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จะรองรับกลุ่มเป้าหมายหลัก คือเจ้าของอาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟมากๆ และต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือในพื้นที่กว้าง ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ในการติดตั้งไม่เพียงแต่จะช่วยเรื่องความรวดเร็วและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และความเสี่ยงในกระบวนการติดตั้งบนหลังคาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
บริษัทฯ จะแนะนำหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ของ Solar D ผ่านการให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ของบริษัท พร้อมร่วมจัดงานแสดงสินค้าและการเข้าร่วมสัมมนาด้านพลังงาน รวมถึงการทำตลาดร่วมกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ในด้านพลังงานและโรงงานอุตสาหกรรม
“ตลาดโซลาร์เซลล์ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะปัจจุบันในเมืองไทยมีการใช้ solar energy เพียง 7% หรือ 10,000 MW เท่านั้น ขณะที่ที่เหลืออีก 93% หรือ 203, 750 GWh เป็นพลังงานจากแหล่งอื่นๆ ที่ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน และจากโรงไฟฟ้า เป็นต้น” สันติกล่าว นอกจากนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนไทยต่อหัวต่อคนต่อปียังมีเพียง 3,333 kWh เท่านั้นเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ที่สูงถึง 11,884, 9,489 และ 8,348 kWh ตามลำดับ นี่แสดงถึงไฟฟ้ายังเข้าถึงชุมชนได้ในวงจำกัด จึงเป็นโอกาสที่โซลาร์เซลล์จะเติบโตได้ในอนาคต
ทั้งนี้ นอกจาก Solar D จะให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว สัมฤทธิ์ยังกล่าวด้วยว่า เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว บริษัทจะมีการพัฒนาหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ เทคโนโลยี่ LightSpeed 2.0 เพื่อรองรับความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น และยังจะขยายบริการไปสู่การทำธุรกิจภายใต้สัญญาเพื่อซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนในระยะยาวมากขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าภายใต้สัญญาดังกล่าวมีอยู่แล้วประมาณ 10 ราย คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้บริษัททั้งหมด คาดว่าสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้เอกชนจะเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 20% ในอนาคต
แหล่งข่าวระดับสูงของบริษัทกล่าวว่า บริษัทจะระดมทุนจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาลงทุนโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า จำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยมูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่ 20 ล้านบาท ต่อขนาดไฟฟ้า 1 เมกกะวัตต์ คาดว่าน่าจะมีลูกค้าที่ต้องการใช้ไฟฟ้าผ่านสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าในระยะยาวประมาณ 100 เมกกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ 2-3 ราย แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะเลือกใคร
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์หลักของ Solar D ประกอบด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบ Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating รวมถึงโครงการติดตั้งขนาดใหญ่, อีวี ชาร์จเจอร์ และอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน อย่าง Tesla Powerwall โดยบริษัทมีรายได้จากโซล่าเซลล์ 200 ล้านบาทในปี 2020 และเพิ่มเป็นเกือบ 1,000 ล้านบาทในปี 2023 ซึ่งคาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 1,400-1,500 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์ในปีหน้า รายได้จะโตเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท
ภาพ : Solar D
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ฟูจิฟิล์ม เผย ธุรกิจบริการด้านดิจิทัลโตต่อเนื่อง ตั้งเป้ารายได้บริการด้านไอทีโตเพิ่มจาก 29% ปี 2024 เป็น 31% ปี 2026
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine