Nvidia ผู้ผลิตการ์ดจอที่พลิกมาเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการ AI ซึ่งมีมูลค่าบริษัทแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็อยู่ห่างไกลจากตัวเลข 2 ล้านล้านเหรียญเพียง 50 ล้านเหรียญเท่านั้น ด้วยแรงหนุนจากความต้องการการ์ดเร่งความเร็ว (Accelerator Card) ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อย่าง ChatGPT
ณ ตอนนี้ Jensen Huang ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Nvidia ยังครองตำแหน่งหนึ่งในอภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 7 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่มักจะได้รับเชิญไปปราศรัยว่าด้วยเรื่องของอนาคตที่ทางบริษัทของเขามีส่วนร่วมสร้างขึ้นบ่อยครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น เขาเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญคนสำคัญของงาน World Government Summit ในดูไบที่เพิ่งจบลงไปเมื่อหลายวันก่อน โดยภายในงาน เขาได้กล่าวเกี่ยวกับอนาคตของโลกใบนี้ที่ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าด้วยความก้าวหน้าทางการงานของพวกเราทุกคน
จากที่ Jensen พูดมา แนวทางการเรียนรู้วิธีเขียนโค้ด การสอนการสร้างโปรแกรมแก่เด็กๆ หรือกระทั่งการตั้งเป้าทำงานในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสายงานยอดนิยมในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมานั้น เรียกได้ว่า ลืมไปได้เลย
คุณเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่แล้ว
อาจฟังดูย้อนแย้งนิดหน่อย ความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้ในวงการไอทีทำให้โปรแกรมต่างๆ สามารถทำงานอัตโนมัติได้มากขึ้น ดังนั้นความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและคนทำงานในสายนี้จึงกำลังลดลงในระยะยาว
และซีอีโอแห่ง Nvidia ก็พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"ตลอดระยะเวลา 10 หรือ 15 ปีมานี้ แทบทุกคนที่มานั่งบนเวทีเหมือนกับผมย่อมบอกแก่พวกคุณว่า การสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้เด็กๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก และทุกคนควรเรียนรู้วิธีการเขียนโปรแกรม แต่ความจริงแล้ว ตอนนี้มันแทบจะตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
เป็นงานของพวกเราในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบที่ไม่มีใครจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเอง และภาษาสำหรับโปรแกรมนั้นก็คือมนุษย์ ทุกคนในโลก ณ เวลานี้ต่างก็เป็นโปรแกรมเมอร์ด้วยกันทั้งสิ้น
นี่คือปาฏิหาริย์แห่งปัญญาประดิษฐ์
Jensen Huang, ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Nvidia"
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
งานของมนุษย์ในอนาคตจะมีการเจาะจงลงในความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ การผลิต การทำเกษตรกรรม การก่อสร้าง การศึกษา วิศวกรรม และอื่นๆ
การทำความเข้าใจความท้าทายและใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติอันชาญฉลาดช่วยให้เราเข้าถึงวิธีการแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จำเป็นโดยเริ่มจากศูนย์
สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้ว วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะทางนั้นฟังดูไร้ความเชื่อมโยง เราต่างเรียนรู้หรือไม่ก็ได้รับคำแนะนำให้เรียนรู้วิธีการเขียนโค้ดมาโดยตลอด เพราะว่านั่นคือหนทางเดียวที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ได้
หากคุณอยากให้เครื่องจักรทำอะไรสักอย่าง คุณก็จำเป็นต้องรู้ว่าจะพูดคุยกับมันอย่างไรด้วยภาษาในการโปรแกรมขั้นสูง แต่การพัฒนา AI ที่เป็นไปอย่างว่องไวทำให้ทักษะเหล่านี้ไร้ความจำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกเหนือจากเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องคอยออกแบบและบำรุงรักษาระบบเพื่อให้คนอื่นๆ ได้พึ่งพาใช้งาน
เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ มีการทดลองในระยะตั้งต้นที่ชี้ว่า งานที่ปกติแล้วต้องใช้คนจำนวนมากนานหลายสัปดาห์ AI สามารถทำให้สำเร็จได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
แน่นอนว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้นหรอก แต่เรากำลังดำเนินไปบนวิถีโคจรที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะพลิกแผนการทำงานด้านเทคโนโลยีของคุณไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลกว่าในการพยายามพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อจะได้เข้าใจปัญหา และหนทางที่เป็นไปได้เพื่อการพัฒนาในอนาคต เมื่อเป็นดังนั้นคุณจะได้รู้ว่าควรขออะไรจาก AI
นั่นก็เพราะว่า แม้ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเสนอไอเดียใหม่ๆ ได้มากมายแค่ไหน มันก็ไม่มีทางรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับความเป็นไปในการทำงานของคุณมากเกินกว่าข้อมูลที่คุณป้อนให้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มีความสำคัญแค่ไหน และจะทำให้คุณสามารถตั้งคำถามที่ถูกต้องกับ AI เพื่อที่มันจะได้ตอบโจทย์ของคุณได้อย่างเหมาะสมที่สุด
เลือกเส้นทางของคุณเอง
คงต้องบอกว่าคำแนะนำแบบรวมๆ ว่าให้ “เรียนเขียนโค้ด” เป็นเรื่องผิดสำหรับผมมาโดยตลอด นั่นก็เพราะว่าเราต่างก็มีเวลาจำกัด และหากเราใช้มันไปกับสิ่งหนึ่ง ก็เป็นเรื่องแน่นอนว่าเราไม่สามารถนำมันไปลงทุนกับสิ่งอื่นได้
และหากว่ากันตามจริงแล้ว จะมีสักกี่คนที่สามารถเข้าถึงความเป็นเลิศในการเขียนโปรแกรมได้?
เช่นเดียวกับภาษาของมนุษย์ การจะชำนาญภาษาคอมพิวเตอร์ใดก็ตาม คุณจำเป็นต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องโดยใช้เวลา
ที่จริงแล้ว “เรียนเขียนโค้ด” ช่วยมอบความเข้าใจพื้นฐานว่าด้วยการใช้ให้คอมพิวเตอร์ทำเรื่องต่างๆ แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เว้นเสียแต่ว่าคุณจะคลุกคลีกับมันเป็นประจำ และแม้กระทั่งในแวดวงการเขียนโปรแกรมเอง ก็ยังมีความเป็นไปได้และความเชี่ยวชาญเฉพาะแยกย่อยลงไปไร้ที่สิ้นสุด
ดังนั้น “การเขียนโปรแกรม” จึงเป็นเพียงนิยายที่กว้างมากๆ และมีความว่างเปล่าในตัวของมันเอง
เขียนโปรแกรมอะไร? อย่างไร? ทำไม? ให้ใคร? ขนาดใหญ่แค่ไหน?
บางทีเด็กๆ ควรจะได้รับการศึกษาเรื่องวิทยาการคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เหมือนกับที่เรียนชีวภาพวิทยาของมนุษย์ แม้ว่าเราส่วนใหญ่จะไม่ได้เติบโตมาเป็นแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม ความเข้าใจโดยพื้นฐานว่าคอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนการทำงานในโลกอนาคตที่ AI เข้ามามีบทบาทได้อย่างไรนั้น นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง
โดยมีเพียงคนที่ตั้งใจจะทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่ต้องเรียนรู้ทักษะพิเศษเฉพาะทาง ส่วนคนอื่นๆ ก็ตั้งใจกับสิ่งที่หลงใหลหรือวางแผนเอาไว้ เพราะว่านั่นจะช่วยยกระดับโอกาสในการเป็นเลิศในสายงานนั้น
สรุปก็คือ ไม่ต้องเรียนเขียนโค้ดหรอก ให้เรียนรู้เพื่อเชี่ยวชาญในสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม AI จะคอยอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยเหลือคุณเสมอ
บทความโดย: Michael Petraeus
หมายเหตุ: คำพูดใดๆ นอกจากข้อความที่หยิบยกมา เป็นความคิดเห็นและการสรุปโดยผู้เขียนบทความ
แปลและเรียบเรียงจาก Don’t learn to code: Nvidia’s founder Jensen Huang advises a different career path
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศึกประชัน 'ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ' แบรนด์จีนเขย่าบัลลังก์อเมริกา
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine