Lenovo เผย 9 เทรนด์เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจในปี 2025 ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อย่าง AI, การจัดการข้อมูล, กลยุทธ์การใช้งานคลาวด์, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการสร้างความยั่งยืน พร้อมคาดการณ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI จะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2028
วรพจน์ ถาวรวรรณ, ผู้จัดการทั่วไป Lenovo ประจำไทย และภูมิภาคอินโดจีน เผยถึง 9 เทรนด์เทคโนโลยีที่โดดเด่นในปี 2025 อาทิ AI, การจัดการข้อมูล, กลยุทธ์การใช้งานคลาวด์, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการสร้างความยั่งยืน โดยธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้จะเกิดความได้เปรียบมากกว่าในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล
9 เทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญในปี 2025 ได้แก่
1. ภาษา LLMs เฉพาะทาง จะเข้ามาพลิกโฉมการใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM จะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจ Healthcare, E-Commerce และ Banking มากขึ้น โดยการใช้งาน LLM เฉพาะทางจะช่วยให้การสร้างเนื้อหาหรือคำตอบที่มีความแม่นยำมากกว่าเดิม เนื่องจาก LLM ที่ AI ใช้งานนั้นจะเป็นภาษาที่มีข้อมูลเฉพาะเกี่ยวข้องในแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ ข้อมูลเชิงลึก ข้อกำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆ
2. เพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI
ในปี 2024 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความตื่นตัวในเรื่องของ AI และ Generative AI อย่างมาก เห็นได้จากรายงานที่คาดการณ์ว่าการลงทุนเกี่ยวข้องกับ AI จะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2028
และในปี 2025 จะเป็นปีที่เราได้เห็นการลงทุนด้าน AI เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เลอโนโวรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ผสานนวัตกรรมและประสิทธิภาพของ AI เข้าไป ได้แก่ AI PCs, AI Applications และโซลูชัน Hybrid AI รวมถึงอื่นๆ
3. AI จะเป็นเพื่อนร่วมงาน ช่วยตอบโจทย์การใช้งานยิ่งขึ้น
Agentic AI หรือ AI เอเจ้นท์ ที่มีความสามารถในการปฎิบัติงานหรือตัดสินใจได้ด้วยตนเอง จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอีก 2 -3 ปีข้างหน้า ทั้งในแง่ของส่วนบุคคลและส่วนรวม โดยจะเป็นครั้งแรกที่ AI ไม่ได้มีบทบาทเพื่อตอบโจทย์การทำงานพื้นฐานทั่วไปหรือเพียงแค่การตอบแชท แต่ AI จะสามารถทำงานได้ทั้งเชิงรับเชิงรุก กล่าวคือ AI จะเป็นเพื่อนรวมงานกับมนุษย์ได้อย่างแท้จริง
"ทั้งนี้ การ์ทเนอร์ ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปี 2028 AI จะเข้ามาช่วยตัดสินใจในการทำงานมากกว่า 15% โดย AI เอเจ้นท์จะนำเอา LLM มาใช้งานในการสื่อสารโดยใช้ชุดข้อมูลความรู้ที่มีเพื่อตอบสนองได้แบบเรียลไทม์โดยไม่พึ่งการประมวลผลบนคลาวด์ ส่งผลให้ข้อมูลมีความเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลไม่ต้องถูกส่งขึ้นไปบนคลาวด์แต่จะถูกเก็บไว้ที่ตัวเครื่องหรืออุปกรณ์" ผู้บริหาร Lenovo กล่าวเสริม
4. เกิดการใช้งาน AI ในโครงสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ
เซิร์ฟเวอร์รองรับการใช้งาน AI นั้นได้รับการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจหันมาใช้งาน AI และ generative AI มากยิ่งขึ้น ซึ่งเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ล้วนใช้พลังงานและก่อให้เกิดความร้อนมากกว่าเซิร์ฟเวอร์ทั่วไป
เลอโนโวคาดการณ์ว่าในปี 2025 ความต้องการในโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งาน AI โดยเฉพาะนั้นจะเพิ่มขึ้น ทำให้ออกแบบเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับการใช้งาน AI ที่เพิ่มขึ้นตามดีมานด์ รวมไปถึงช่วยลดพื้นที่การจัดเก็บและความจำ ยังผลให้การสื่อสารระหว่างเซิร์ฟเวอร์ เป็นระบบ และสามารถปรับแต่งการจัดเก็บข้อมูลได้ตามต้องการ และยังให้จัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การใช้งานระบบคลาวด์จากหลายผู้ให้บริการ
ธุรกิจจำนวนมากในเอเชียแปซิฟิกเริ่มพิจารณาการใช้งานระบบคลาวด์จากหลายผู้ให้บริการ หรือ multi-cloud เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดการใช้งานได้ตามความต้องการ รวมถึงป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากใช้งานคลาวด์จากผู้บริการรายเดียวต้องหยุดชะงักลง
เลอโนโวคาดการณ์ว่าในปี 2025 จะมีความต้องการใช้งานคลาวด์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคลาวด์โซลูชันที่เกี่ยวกับ AI เช่น การวิเคราะห์และคาดการณ์ ออโตเมชัน และการพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของระบบเก็บข้อมูลนั้นมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ผู้นำธุรกิจจึงควรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนระหว่างค่าใช้จ่ายในการย้ายและประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวจากความยืดหยุ่น และขนาดการใช้งานตามความต้องการ
6. การลงทุน Edge Computing จะเพิ่มขึ้น เสริมความรวดเร็วแบบเรียลไทม์
จากรายงาน Lenovo’s 2024 CIO Playbook พบว่าการใช้งาน edge นั้นเพิ่มขึ้นราว 25% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2023 และ 2024 โดยในปี 2025 อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน edge ซึ่งสร้างข้อมูลได้มากกว่า หรือจะเป็นโซลูชัน edge computing ที่ประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเพิ่มประสิทธิผลให้กับงาน
7. ความปลอดภัยทางไซเบอร์จะยังคงเป็นเรื่องที่สร้างความกังวล โดยเฉพาะการคุกคามที่มีเพิ่มขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
การสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงเป็นหัวข้อที่ธุรกิจในเอเชียแปซิฟิคให้ความสนใจในปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งภาครัฐในหลายประเทศล้วนเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวผ่านกฎหมายหรือ พรบ.ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Act) โดยให้ธุรกิจมีมาตรการที่ชัดเจนในการสร้างความปลอดภัย พร้อมมีบทลงโทษหากมีข้อมูลรั่วไหลอันเกิดจากระบบความปลอดภัยของธุรกิจ
หลายธุรกิจจึงหันมาลงทุนเพิ่มขึ้นในเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ และโซลูชันในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อมาตรการที่รัดกุมยิ่งขึ้นในการเข้าถึงและเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย และด้วยข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความนิยมในการใช้งาน AI ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโครงสร้างของระบบที่ดูแลและจัดเก็บข้อมูลจึงเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องสร้างระบบ
8. ธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ จะเติบโต
กลุ่มธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุการบริโภคข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2025 ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ต้องบริหารการใช้พลังงานและการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการโครงสร้างระบบพื้นฐานที่รองรับการใช้งาน AI
9. ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์
การใช้งานบริการดิจิทัลและ AI ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการในการใช้พลังงานของดาต้า เซ็นเตอร์ เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในทั่วภูมิภาค ปี 2025 นี้ธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ในบางประเทศมีการออกกฎหรือมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการจัดการกับปัญหาโลกร้อน สำหรับธุรกิจดาด้า เซ็นเตอร์ นั้นให้ความสำคัญกับการบริหารความต้องการใช้ดาต้า เซ็นเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ และการไม่สร้างคาร์บอนฟุตปริ้นที่เพิ่มขึ้นตาม ทั้งภาครัฐและธุรกิจล้วนจะหันมาให้ความสำคัญต่อการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีความเย็นมาใช้จัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตรวจสอบและดูแลด้านความยั่งยืนแบบองค์รวม และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้กับผลิตภัณฑ์
ภาพ : Lenovo
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Samsung แต่งตั้ง 'สิทธิโชค นพชินบุตร' นั่งแท่นผู้นำธุรกิจมือถือในไทย พม่า ลาว และกัมพูชา
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine