Google Walkout: พนักงาน Google ทั่วโลกนัดประท้วงต่อต้านการละเมิดทางเพศในองค์กร - Forbes Thailand

Google Walkout: พนักงาน Google ทั่วโลกนัดประท้วงต่อต้านการละเมิดทางเพศในองค์กร

พนักงาน Google ทั่วโลกนัดประท้วงยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อให้บริษัทปรับปรุงนโยบายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศและเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ภายใต้แคมเปญ ‘Google Walkout’ การประท้วงนี้เกิดจากความไม่พอใจทั่วองค์กรหลังการเปิดเผยว่า Andy Rubin หนึ่งในผู้ก่อตั้งและอดีตผู้พัฒนาระบบ Android ได้รับค่าจ้างลาออกสูงถึง 2.9 พันล้านบาทเพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการล่วงละเมิดทางเพศ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 เวลา 11.10น. เป็นวันดีเดย์ของแคมเปญประท้วงต่อการล่วงละเมิดทางเพศภายในองค์กร Google ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลาเดียวกันไล่ตามไทม์โซน โดยเริ่มต้นที่ Google ประจำประเทศญี่ปุ่นในกรุง Tokyo เป็นแห่งแรก ขณะที่ Google สิงคโปร์นั้นมีผู้ร่วมแคมเปญนับร้อยคน และไล่ไปจนถึง Google ใน Zurich, Berlin, Paris และ London สำนักข่าว The New York Times รายงานว่าแคมเปญในวันนี้น่าจะมีสำนักงานของ Google เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 60% ของทั้งหมด และมีพนักงานร่วมประท้วงไม่ต่ำกว่า 1,500 คน พนักงานทั้งพนักงานประจำและสัญญาจ้างที่เข้าร่วมการประท้วงจะวางใบปลิวข้อความว่า “ฉันไม่อยู่ที่โต๊ะเพราะฉันขอเดินออกไปร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกับพนักงาน Google คนอื่นๆ เพื่อประท้วงต่อการล่วงละเมิดทางเพศ การปฏิบัติที่ผิด และขาดความโปร่งใส และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน”
บรรยากาศ Google Walkout ที่สิงคโปร์
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า การประท้วง Walkout for Real Change ครั้งนี้เกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่สื่อ The New York Times ตีแผ่ประเด็น Google จ่ายค่าชดเชยลาออกให้กับ Andy Rubin ไป 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.9 พันล้านบาท) หนึ่งในผู้ก่อตั้งและอดีตผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ Android ไปตั้งแต่ปี 2014 แต่กลับปกปิดรายละเอียดข้อกล่าวหาการละเมิดทางเพศที่ทำให้เขาต้องลาออกจากบริษัท ซึ่ง Rubin เองยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2018 Sundar Pichai ซีอีโอ Google เพิ่งเปิดเผยว่าบริษัทได้ไล่พนักงาน 48 คนออกจากองค์กรจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 13 คนในนั้นเป็นพนักงานระดับผู้จัดการอาวุโส แต่กลับไม่มีการรายงานเรื่องราวดังกล่าวเลย ซึ่งทำให้เกิดการเรียกร้อง 6 ข้อในแคมเปญนี้ ได้แก่
  1. การบังคับให้ตกลงไกล่เกลี่ยเป็นการภายในในกรณีล่วงละเมิดทางเพศและแบ่งแยกทางเพศในปัจจุบันและอนาคต ต้องหยุดลงทันที
  2. บริษัทต้องให้คำมั่นเพื่อหยุดการจ่ายค่าจ้างและโอกาสการทำงานที่ไม่เท่าเทียมกัน
  3. รายงานต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยเมื่อมีเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ
  4. ช่องทางการรายงานการล่วงละเมิดทางเพศนิรนาม โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจนและเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วโลก
  5. ยกระดับให้ CDO-ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความหลากหลายในองค์กร ให้สามารถรายงานตรงต่อ CEO และสามารถให้คำแนะนำโดยตรงแก่บอร์ดบริหาร
  6. ให้มีตัวแทนของพนักงานอยู่ในบอร์ดบริหารด้วย
สำนักข่าว BBC รายงานว่า การบังคับตกลงไกล่เกลี่ยเป็นการภายในนั้น เป็นข้อสัญญาที่มักจะปรากฏในสัญญาจ้างงานของพนักงาน Google โดยกำหนดให้ข้อขัดแย้งใดๆ ภายในองค์กรต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเป็นการภายในมากกว่าจะใช้วิธีการตามปกติอย่างเช่นกระบวนการทางการศาล 
บรรยากาศการประท้วงใน Zurich
Google Walkout Berlin
ทั้งนี้ ซีอีโอ Pichai มีการออกแถลงการณ์ทางอีเมลตอบความไม่พอใจของพนักงานเมื่อเย็นวันที่ 31 ตุลาคม 2018 ว่า “ผมเข้าใจดีถึงความโกรธและความผิดหวังที่ทุกคนรู้สึก ผมรู้สึกเช่นเดียวกันและสัญญาอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันให้กรณีนี้คืบหน้า หลังจากที่ถูกชะลอกระบวนการมานานเกินไปแล้วในสังคมของเราและรวมถึงที่ Google นี้ด้วย พนักงานของเราได้ให้แนวคิดที่ช่วยพัฒนาองค์กรและนโยบายบริษัทให้ก้าวหน้า ซึ่งเรากำลังเปิดรับความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำแนวคิดทั้งหมดที่นำเสนอไปใช้เป็นข้อปฏิบัติจริง” ขอบคุณภาพจาก: Twitter @GoogleWalkout ที่มา: