กระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐอเมริกายื่นฟ้อง Adobe ด้วยข้อกล่าวหาว่าบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกรายนี้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดค่าธรรมเนียมที่ชัดเจนมากเพียงพอ และขั้นตอนการยกเลิกสมาชิกก็ยุ่งยาก
ตั้งแต่เข้าเดือนที่ 6 ของปี Adobe ก็มีเรื่องไม่หยุด จากประเด็นว่าด้วยเงื่อนไขและข้อตกลงการใช้บริการ (Term of Service) เริ่มต้นที่อัปเดตใหม่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อความที่สามารถตีความได้ว่า Adobe มีสิทธิ์เข้าถึงคอนเทนต์ทั้งหมดของผู้ใช้งาน ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าบริษัทฯ จะนำผลงานของพวกเขาไปใช้เทรน AI
ทาง Adobe ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิด และจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อตกลงการใช้บริการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะเผยแพร่ในวันที่ 18 มิถุนายน แต่พอเอาเข้าจริง แทนที่ทุกอย่างจะคลี่คลายลง กลับกลายเป็นว่าบริษัทฯ ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐยื่นฟ้อง
ละเมิดผู้ใช้ นำงานไปเทรน AI
สำหรับความวิตกกังวลว่าผลงานอาจถูกนำไปใช้เทรน AI นั้น บริษัทฯ กล่าวว่าไม่เป็นความจริง Adobe มีความจำเป็นต้องเข้าถึงคอนเทนต์ของผู้ใช้งานเพื่อตรวจสอบว่าเนื้อหาเหล่านั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย เช่น เข้าข่ายสื่ออนาจารเด็ก เป็นต้น แต่กรรมสิทธิ์ในผลงานนั้นเป็นของผู้ใช้งานทั้งหมด
Adobe จะไม่มีการนำผลงานของผู้ใช้งานทั้งในเครื่องและบนคลาวด์ไปฝึกฝน AI โดยข้อมูลที่ใช้เทรน Adobe Firefly หรือโมเดล Generative AI ของบริษัทฯ นั้นมาจากการซื้อขายอย่างถูกต้อง หรือไม่ก็เป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) ที่ปราศจากลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่เช่นกันว่า หากคอนเทนต์ใดๆ ก็ตามวางขายบน Adobe Stock บริษัทฯ จะสามารถนำไปเทรน Adobe Firefly ได้
ไร้ความชัดเจน เอาเปรียบผู้บริโภค
ความกำกวมของ Adobe ไม่ได้มีเพียงเรื่องกรรมสิทธิ์ในผลงานเท่านั้น กระทรวงยุติธรรมสหรัฐและสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) ได้ยื่นฟ้องบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่รายนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่า Adobe ละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพราะมีการปกปิดค่าธรรมเนียมยกเลิกการใช้บริการซึ่งมีราคาแพง อีกทั้งการยกเลิกสมาชิกยังซับซ้อนและชวนให้สับสน
“Adobe ล่อลวงให้ลูกค้าสมัครสมาชิกแบบรายปี โดยซ่อนค่าธรรมเนียมการยกเลิกก่อนกำหนด และขั้นตอนยกเลิกที่ยุ่งยาก” Samuel Levine ผู้อำนวยการ FTC เผยในแถลงการณ์
แผนสำหรับสมาชิกรายปีของ Adobe นั้นสามารถแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนได้ โดยมีค่าสมาชิกถูกกว่าปกติ แต่หากยกเลิกสมาชิกก่อนกำหนด ผู้ใช้งานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการยกเลิกสมาชิกหลายร้อยเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าใจผิด
นอกจากนี้ลูกค้าที่ต้องการยกเลิกสมาชิกยังต้องผ่านขั้นตอนอันซับซ้อนบนเว็บไซต์ มีการเปลี่ยนเว็บเพจไปมาหลายหน้า คล้ายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ดำเนินการได้สำเร็จ สำหรับลูกค้าที่ติดต่อขอยกเลิกสมาชิกผ่านโทรศัพท์หรือไลฟ์แชท ก็มีการร้องเรียนว่าสายหลุดบ่อยครั้ง เมื่อต่อสายได้ลูกค้าก็ต้องเริ่มต้นอธิบายทุกอย่างใหม่ตั้งแต่ต้น และบางคนก็ถูกโอนสายไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความยุ่งยากเหล่านี้ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน
Adobe ยังไม่ได้ออกมาตอบคำถามสื่อต่างๆ ที่ติดต่อไป อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีรายได้จากค่าสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2023 เทียบกับปี 2019 โดยตัวเลขอยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านเหรียญ และรายได้รวมเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 1.94 หมื่นล้านเหรียญ
แหล่งที่มา:
Adobe is having a terrible month
Adobe’s new terms of service say it won’t use your work to train AI
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Nvidia แซงหน้า Microsoft เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดในโลกแล้ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine