Cisco เผยรายงานแนวโน้ม 5G ในอาเซียน พลิกโฉมอุตสาหกรรมยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

Cisco เผยรายงานแนวโน้ม 5G ในอาเซียน พลิกโฉมอุตสาหกรรมยุคดิจิทัล

5G เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก เพราะกำลังจะเป็นโครงสร้างสำคัญให้กับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น AI, คลาวด์, Big Data, หุ่นยนต์ขั้นสูง, IoT และจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล

ผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง Cisco จึงมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ เอ.ที.เคียร์เน่ จัดทำผลการศึกษา 5G ในอาเซียน: จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค (5G in ASEAN: Reigniting growth in enterprise and consumer markets)

Dharmesh Malhotra กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน, กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของ Cisco เผยถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่า 5G จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อธุรกิจบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยคุณลักษณะเด่น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว, การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ

คุณลักษณะดังกล่าวทำให้ระบบ 5G สามารถรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4G”

Malhotra ระบุว่า ผลการศึกษาคาดการณ์ว่าผู้ใช้บริการ 5G ทั่วโลกจะมีจำนวนเกิน 2.5 พันล้านรายภายในปี 2568 ซึ่งเพียงแค่ประเทศจีนก็มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคน ทั้งนี้ การเติบโตที่รวดเร็วของจีนจะช่วยเร่งการพัฒนาและเปิดตัวอุปกรณ์มือถือทั่วโลกในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

สำหรับภูมิภาคอาเซียนคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้งาน 5G ประมาณ 200 ล้านราย โดยประเทศไทยจะมีสัดส่วนการใช้งาน 33% ทั้งนี้ คาดว่าสิงคโปร์จะเป็นผู้นำในการเปิดตัว 5G ในปี 2563 ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทยที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2564

 

โอเปอเรเตอร์รายได้พุ่ง

Malhotra กล่าวว่า ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นอีกว่า การเปิดตัวบริการ 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือโอเปอเรเตอร์ในอาเซียนได้มหาศาล โดยช่วยเพิ่มรายได้ให้โอเปอเรเตอร์ในไทยมากถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ/ปี

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าโอเปอเรเตอร์จะมีรายได้เพิ่มราว 4.5–6 พันล้านเหรียญ ในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้น 9-12% จากรายได้ด้านโทรคมนาคมในปัจจุบัน

“5G จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถจัดหาบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นให้กับผู้บริโภคที่ต้องการการสตรีมวิดีโอความเร็วสูง หรือการเล่นเกมผ่านคลาวด์ได้ ดังนั้น เราจึงไม่คาดหวังว่าผู้บริโภคทั่วไปจะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ 5G แต่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำรายได้ให้กับโอเปอเรเตอร์เพิ่มขึ้น 6-9%”

Dharmesh Malhotra กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน, กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของ Cisco

ขณะที่กลุ่มใหญ่ที่จะขับเคลื่อนรายได้ให้กับโอเปอเรเตอร์คือลูกค้าองค์กร ที่จะนำ 5G ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การลดความเสียหายในการผลิตชิ้นส่วนมูลค่าสูง, การผ่าตัดที่แม่นยำผ่านการควบคุมระยะไกล หรือระบบขับขี่อัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งทำให้โอเปอเรเตอร์มีรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 18-22%”

 

ความท้าทายของ 5G ในอาเซียน

Malhotra กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานยังช้าเกินไปสำหรับการรองรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยในประเทศอาเซียน อุปสรรคที่ขัดขวางความคืบหน้าในการดำเนินการคือการมีเครือข่ายทีวีดาวเทียมในย่านความถี่กลาง (3.5 GHz) และการใช้ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz) เพื่อรองรับฟรีทีวี ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต

นอกจากนี้ อีกความท้าทายคือเรื่องของราคา ซึ่งโอเปอเรเตอร์จะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G, มีการกำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ดังนั้นการเข้าร่วมในสงครามราคาเพียงเพื่อดึงดูดลูกค้าจำนวนมากจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้ให้บริการเอง

และสุดท้ายคือการนำ 5G ไปใช้งานของลูกค้าองค์กร ที่บางครั้งองค์กรต่างๆ อาจยังมองไม่ออกว่าจะใช้ประโยชน์จาก 5G ได้อย่างไรบ้าง โอเปอเรเตอร์จึงจำเป็นต้องสร้างความสามารถใหม่ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าได้

 

โอเปอเรเตอร์ทุ่มลงทุน 1 หมื่นล้านเหรียญ

วัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ Cisco ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ธุรกิจทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสำคัญๆ เช่น ภาคการผลิต กำลังมองหาเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เข้ามาใช้ ซึ่งการเปิดให้บริการ 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

วัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ Cisco ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน

ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังรอคอยการเปิดตัว 5G เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้เนื้อหาบนอุปกรณ์ส่วนตัวของพวกเขา แนวโน้มทั้งสองนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยโอเปอเรเตอร์ในอาเซียนต่างเตรียมพร้อมเปิดตัวบริการ 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ภายในปี 2568 ราว 1 หมื่นล้านเหรียญ

  อ่านเพิ่มเติม
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine