AIS ลุย 3 เทคโนโลยีอนาคต ดีล 2 ช่องระดับโลก-จีบผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยลงแพลตฟอร์ม AIS Play - Forbes Thailand

AIS ลุย 3 เทคโนโลยีอนาคต ดีล 2 ช่องระดับโลก-จีบผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยลงแพลตฟอร์ม AIS Play

ซีอีโอ AIS-เอไอเอส เปิดข้อมูลคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือพุ่ง 80% เผยแผนงานลุย 3 เทคโนโลยี IoT - ช่องคอนเทนต์ AIS Play - Virtual Reality (VR) รองรับอนาคตโลกดาต้า

บนเวที Digital Intelligent Nation 2018 สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ประกาศวิสัยทัศน์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ด้วยข้อมูลรองรับด้านพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า ปีที่ผ่านมาคนไทยมีการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเฉลี่ย 7.3 GB ต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง 80% จากปี 2559 และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 10 GB ต่อเดือน อีกทั้งเวลาในการใช้งานโซเชียลมีเดียยาวนานขึ้นเช่นกัน โดยปี 2560 คนไทยใช้โซเชียลมีเดียเฉลี่ย 4.8 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 60% จากปี 2559 ข้อมูลดังกล่าวทำให้เอไอเอสต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ขึ้นรองรับโดยเป็นแพลตฟอร์มเพื่อประเทศไทย (Digital Platforms for Thais) ได้แก่ 1. AIS IoT Alliance Program – AIAP โดยมีสมาชิกความร่วมมือ 70 รายจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ IoT (Internet of Things) ให้เกิดขึ้นจริงและแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นพันธมิตรด้านธุรกิจ โดยทางเอไอเอสจัดเตรียมเครือข่ายเพื่อรองรับ IoT ไว้แล้ว คือ Narrow Band IoT และ eMTC – Enhance Machine Type Communication เริ่มนำร่องก่อนที่กรุงเทพฯ และ หัวเมืองอีก 9 จังหวัด
สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (Photo Credit: โพสต์ทูเดย์)
“คิดว่า IoT ไม่ใช่ early stage (เทคโนโลยีในยุคเริ่มต้น) เพราะหลายอุตสาหกรรมต้องการใช้งานแล้ว เช่น ดีเวลลอปเปอร์หลายแห่งมาคุยกับเราตลอดเพราะต้องการจะติดตั้ง IoT ในบ้านให้บ้านเป็น smart home ส่วนการรับรายได้ ต่อไปในอนาคตเราอาจจะเก็บค่ารายเดือนสำหรับอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่เป็น IoT โดยใช้คลื่นของเอไอเอส แต่ราคารายเดือนจะไม่สูงเท่าโทรศัพท์มือถือเพราะมีการรับส่งข้อมูลไม่มาก” 2. The Play 365 Platform จากพื้นฐานของค่ายเอไอเอสที่มีแอพพลิเคชั่น AIS Play สำหรับลูกค้าเอไอเอสใช้รับชมคอนเทนต์ต่างๆ แบ่งเป็นกลุ่มฟรีทีวีกว่า 70 ช่อง และเพย์ทีวีมีค่าใช้จ่ายสมาชิกเพิ่มเติม รวมทั้งหมดเป็น 100 กว่าช่อง รวมถึง VOD (Video on Demand) กลุ่มภาพยนตร์อีกกว่า 5,000 เรื่อง ปีนี้เอไอเอสจะขยายให้กลุ่มฟรีทีวีสามารถเข้าชมได้โดยประชาชนทั่วไป (แต่ในกลุ่มเพย์ทีวีจะยังสงวนให้สำหรับลูกค้าเอไอเอสเท่านั้น) สำหรับกลุ่มคอนเทนต์ที่เป็นเพย์ทีวี เอไอเอสได้บรรลุดีลนำช่อง CNN และ Cartoon Network เข้ามาเพิ่มใน AIS Play อีก 2 ช่อง ซึ่งสมชัยมองว่า ทำให้รายการที่มีทั้งหมดเป็น “ช่องสำหรับครอบครัว” ครบเครื่องขึ้น นั่นคือมีช่องการ์ตูนและช่องข่าวสาร-สาระความรู้ระดับโลกเข้ามา นอกจากนี้ค่ายเอไอเอสจะมีโครงการใหม่คือ The Play 365 รับสมัครผู้ผลิตคอนเทนต์เข้ามาผลิตเนื้อหาวิดีโอคลิปรายการต่างๆ ลงในแพลตฟอร์มของเอไอเอส โดยเบื้องต้นมีศิลปิน ดารา คนดังแล้ว 25 คนที่จะร่วมเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่จะรับสมัครบุคคลทั่วไปเข้ามาเพิ่มรวมเป็น 365 คน และหากคอนเทนต์ใดที่มีคุณภาพ เอไอเอสจะสนับสนุนงบลงทุนสร้างด้วย “เราไม่ได้ต้องการจะแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น YouTube แต่เชื่อว่าคนชอบดูคอนเทนต์ที่ดี รู้ว่าเป็นสิ่งที่ยากแต่เราอยากให้คนได้ดูคอนเทนต์คนไทย ยิ่งกว่านั้นคือเราต้องการสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่น (local content creator) ที่น่าจะได้ส่วนแบ่งที่ดีกว่าค่าโฆษณาในแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่ง AIS Play ต่อไปหากมีฐานคนดูมากขึ้นเราจะมีรายได้เข้ามาทั้งค่าโฆษณาและค่าสมาชิก” สมชัยกล่าว และเพิ่มเติมว่าคอนเทนต์จาก The Play 365 น่าจะเริ่มสตรีมมิ่งกันได้ภายใน 2 เดือน 3. VR (Virtual Reality) Platform เอไอเอสร่วมมือกับ IMAX นำเครื่องเล่นเกมแบบ IMAX VR เต็มรูปแบบให้ลูกค้าทั่วไปได้เข้ามาเล่นเกมในโลกเสมือนจริง ติดตั้งที่สยามพารากอน ชั้น 5 เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปได้สัมผัสประสบการณ์ของเทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ยังมีแว่นตา VR ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือให้ทดลองใช้สำหรับลูกค้าสมาชิกของ AIS DC ที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียมอีกด้วย “สำหรับ VR เราทราบดีว่ายังเป็นเทคโนโลยีใหม่มาก ตัวนี้ยังอยู่ใน early stage จริงๆ ยังไม่มีใครคิดออกว่าจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร แม้แต่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่จีนก็ตาม แต่ทุกคนเชื่อว่า ภายใน 3 ปี สินค้าที่ใช้เทคโนโลยี VR จะเกิดขึ้น เราจึงอยากให้คนไทยได้คุ้นชินกับมันก่อน” สมชัยกล่าว