ภัยคุกคามจากภาพ AI เลียนแบบราว 2,500 ภาพ สร้างวิกฤตต่ออุตสาหกรรม 'ภาพยนตร์แอนิเมชัน' ญี่ปุ่น - Forbes Thailand

ภัยคุกคามจากภาพ AI เลียนแบบราว 2,500 ภาพ สร้างวิกฤตต่ออุตสาหกรรม 'ภาพยนตร์แอนิเมชัน' ญี่ปุ่น

ภาพแอนิเมชันที่สร้างขึ้นมาใหม่โดย AI กว่า 90,000 ภาพ พบว่ามีผลงานราว 2,500 ภาพ ที่คล้ายคลึงกับตัวละครในการ์ตูนดังของญี่ปุ่น ผลงานของ AI ดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ของเหล่าผู้ผลิตสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นต้นฉบับของจริงซึ่งอาจจะส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนต์แอนิเมชันได้ในอนาคต


    การใช้งานปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ AI ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะหากสร้างภาพ AI เอาไว้ใช้งานเอง เช่น การตั้งเป็นวอลเปเปอร์พีซี ก็ยังดูเป็นการใช้งานแบบส่วนตัว แต่ถ้าหากนำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่บนเว็บไซต์แชร์รูปภาพ ก็จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากภาพดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับผลงานที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่แล้วมากเกินไป

    สำนักข่าว Asia Nikkei ได้เผยผลสำรวจเบื้องหลังภาพแอนิเมชันที่สร้างขึ้นโดย AI พบว่า กว่า 90,000 ภาพ ที่ AI ทำขึ้นมาใหม่ มีผลงานราว 2,500 ภาพ ที่คล้ายคลึงกับตัวละครในการ์ตูนชื่อดังต่างๆ เช่น ทันจิโร่ จากดาบพิฆาตอสูร หรือ อาเนีย จากสปาย × แฟมิลี

    ภาพที่ถูกสร้างขึ้นมีหลายสไตล์ นับตั้งแต่ตัวละครในการ์ตูนต่อเนื่องไปจนถึงภาพยนตร์แอคชัน ผู้ใช้สามารถสร้างฉากหลังที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพเมือง ห้องนอน หรือภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสีหน้าและท่าทางของตัวละครได้ด้วย ซึ่งบางภาพก็มีความคล้ายคลึงกับผลงานต้นฉบับที่มีลิขสิทธิ์มากๆ จนแทบจะแยกไม่ออกเมื่อมองดูในแวบแรก

    ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวกลายเป็นช่องทางละเมิดลิขสิทธิ์รูปแบบใหม่ หลังจากผลงานกว่า 3 พันชิ้นได้ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ที่อนุญาตให้แชร์ภาพได้ ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชันของญี่ปุ่นอย่างมหาศาล 

    "จากการสืบสวนของ Nikkei มีความเป็นไปได้ที่เอไอจะสร้างภาพละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่คาดคิด หากคำสั่งระบุชื่อตัวละคร จะยิ่งถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่ายขึ้น" โคทาโร่ ทานาเบะ ทนายความจากสำนักงานกฎหมาย มิมูระ โคมัตสึ กล่าว

    ในญี่ปุ่น การพิจารณาว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นอยู่กับความคล้ายคลึงว่าลักษณะการแสดงออกพิเศษนั้นมีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการอ้างอิงว่ามีการอ้างอิงผลงานที่มีอยู่เดิมหรือไม่ด้วยเช่นกัน

    ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ละเมิดลิขสิทธิ์ อีกทั้งการรับมือจัดการกับปัญหานี้มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างภาพได้จำนวนมากและรวดเร็วเกือบจะทันที

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ศาลอินเตอร์เน็ตกว่างโจว ประเทศจีน ได้ตัดสินว่า ภาพที่สร้างโดย AI ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนอย่างมาก ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า คอนเทนต์ของญี่ปุ่นกำลังตกเป็นเป้าหมาย

    ตามรายงาน Anime Industry Report 2023 จากสมาคมแอนิเมชันญี่ปุ่น ยังระบุด้วยว่า ตลาดแอนิเมชันที่เผยแพร่ทั่วโลกมีมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านเยน หรือราวๆ 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของ AI สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ กำลังกลายเป็นภัยเงียบที่กัดกร่อนอุตสาหกรรมอันทรงคุณค่าของญี่ปุ่น

    ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างมาตรการป้องกัน เพื่อปกป้องสิทธิของนักวาดการ์ตูน ศิลปิน และผู้สร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาฝึกเอไอด้วย มิเช่นนั้น ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นแก่นของวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นอาจต้องเสื่อมถอยลงได้


แปล/เรียบเรียง และอ้างอิงจากบทความ : NIKKEI Film: Japanese anime vs. generative AI



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Agoda หนุนรัฐบาลไทย หลัง ‘นายกฯ เศรษฐา’ ตั้งเป้า Silicon Valley แห่งเอเชีย พร้อมผลักดัน ‘ท่องเที่ยว’ ปี 68

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine