ไมโครซอฟท์ “ไทย” ปรับตัวหนักรับ Digital Transformation พร้อมย้ำความแกร่งธุรกิจคลาวด์ - Forbes Thailand

ไมโครซอฟท์ “ไทย” ปรับตัวหนักรับ Digital Transformation พร้อมย้ำความแกร่งธุรกิจคลาวด์

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Microsoft ที่ต้องปรับตัวตามให้ทัน จากเดิมที่ Satya Nadella ผู้เป็นซีอีโอของ Microsoft มีนโยบายมุ่งเน้นไปที่ “Mobile First, Cloud First” มาถึงตอนนี้เทรนด์สำคัญ 3 อย่างขององค์กรคือ Multi-device” ที่สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ไม่ใช่เพียงแค่โทรศัพท์มือถืออย่างเดียว AI” (Artificial Intelligence) ซึ่งกำลังเป็นกระแสในทุกองค์กร เพราะ AI สามารถเรียนรู้และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ Serverless” เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากทุกที่

สำหรับในไทย ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาดๆ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ก็พร้อมปรับทิศทางองค์กรในไทยเพื่อให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

ปรับตัวรับ Digital Transformation

ธนวัฒน์ให้มูลค่าโอกาสของ Digital Transformation ที่ Microsoft จะเข้าไปช่วยลูกค้าทั่วโลกว่า ในปี 1995 อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนั้นในปี 2005 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านเหรียญ ก่อนที่ในปี 2015 มูลค่าจะพุ่งขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านเหรียญ และในปี 2017 อยู่ที่ราว 4.5 ล้านล้านเหรียญ

เขากล่าวว่า ภารกิจของ Microsoft คือการส่งเสริมพนักงาน สร้างความผูกพันกับลูกค้า ขยายโอกาสในการปฏิบัติการ และการมีผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับ Digital Transformation โดยมีเครื่องมือสำคัญ 4 อย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา การมีแอพพลิเคชั่นเชิงธุรกิจตัวใหม่อย่าง Microsoft Dynamics 365 ที่เป็นการรวมระบบ ERP และ CRM เข้าด้วยกัน การมี “ไฮบริด คลาวด์” เป็นต้น

“ทิศทางต่อจากนี้ของไมโครซอฟท์ในไทยคือการโฟกัสไปที่ภารกิจดังกล่าว และปรับโครงสร้างองค์กรไปตามนั้น เราจะยังไม่มีการลดจำนวนคน แต่คนจะไปอยู่ในแต่ละกระบวนการที่ทำอยู่” กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) บอก

ส่วนการให้บริการลูกค้านั้น ธนวัฒน์เผยว่า จะให้ความสำคัญทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยควบคู่กันไป โดยลูกค้ารายใหญ่อาจเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านไฮบริด คลาวด์ หรือ AI ส่วนลูกค้ารายย่อย ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จะทำงานร่วมกับพันธมิตรเช่น AIS ที่มีฐานลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ราว 7 แสนราย นำเสนอผลิตภัณฑ์ อาทิ Microsoft Office 365 เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีได้ใช้เทคโนโลยีที่เอื้อต่อธุรกิจให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

 

เพิ่มฐานรายได้ธุรกิจคลาวด์

ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไลเซนส์และอื่นๆ ที่ 70% และธุรกิจคลาวด์ 30% ธนวัฒน์คาดหวังให้คลาวด์เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2018 (1 กรกฎาคม 2017-30 มิถุนายน 2018) ที่ตั้งเป้าโตตัวเลขสองหลัก เขาไม่หวั่นว่าการแข่งขันในธุรกิจคลาวด์จะเข้มข้น เพราะ Microsoft มีจุดแข็งอยู่ที่การมีดาต้าเซ็นเตอร์ในทุกภูมิภาค ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทำงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยตามอุตสาหกรรมต่างๆ

“ปีนี้คลาวด์จะยังคงเป็นธุรกิจสำคัญของเรา นอกจากนี้เราจะพยายามออกจากการขายไลเซนส์มาเป็นการนำเสนอโซลูชั่นให้มากขึ้น ทางหนึ่งก็เพื่อหนีการตัดราคาของคู่แข่ง” ธนวัฒน์ กล่าว