ไมโครซอฟท์ทุ่มงบมหาศาลดัน 'AI' พลิกโฉมธุรกิจ - Forbes Thailand

ไมโครซอฟท์ทุ่มงบมหาศาลดัน 'AI' พลิกโฉมธุรกิจ

ไมโครซอฟท์เผยทุ่มงบมหาศาลดัน 'AI' พลิกโฉมธุรกิจ ชี้เป็นเทรนด์เด่น ธุรกิจไทยไม่ควรตกขบวน ฟันธง ปี 2563 AI จะเข้าสู่องค์กรกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ คาดสิ้นปี 2561 แอพฯ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดจะนำ AI เข้ามาเป็นแกนหลักของการทำงาน ผนึกกำลังภาครัฐ สถาบันการศึกษาพัฒนา 'นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล' รับไทยแลนด์ 4.0

ยิ่งนับวัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ยิ่งเริ่มมีความสำคัญในแง่ของการพัฒนาศักยภาพการให้บริการ รวมถึงการทำงานของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย “ไมโครซอฟท์” เจ้าแห่งตลาดซอฟต์แวร์โลกให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI มาก ถึงกับมีงบลงทุนเฉพาะ ที่คาดว่า เป็นเม็ดเงินลงทุนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของภาคธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ไมโครซอฟท์ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนา AI โดยปัจจุบันทุกผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ใช้เทคโนโลยี AI แล้วทั้งหมด ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ได้ลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนามากกว่า 13 พันล้านดอลลาร์  มีการลงทุนเรื่อง IOT ที่เป็นส่วนหนึ่งของ AI มากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 5 ปี  โดยไมโครซอฟท์มีแนวคิดนำ AI  เข้ามาเสริมศักยภาพของมนุษย์มากกว่านำมาเพื่อทดแทนมนุษย์  

คาดปี 2563 ธุรกิจ 85 เปอร์เซ็นต์ นำ AI มาประยุกต์ใช้งาน

“เราเคยนำเสนอรายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซีที่ทำร่วมกันในปีนี้ ซึ่งได้คาดการณ์ไว้ว่ากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของกระบวนการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ภายในปี 2562 จะมี AI เข้ามามีบทบาทสนับสนุนด้วย และในปี 2563 ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีองค์กรถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ที่นำ AI มาประยุกต์ใช้งาน” ธนวัฒน์ กล่าว พร้อมระบุว่า แนวโน้มความเคลื่อนไหวเหล่านี้  ยืนยันได้ถึงมุมมองของไมโครซอฟท์ที่ว่า โลกก้าวมาถึงยุคแห่ง ‘Intelligent Cloud’ และ ‘Intelligent Edge’ เห็นได้ชัดถึงการถ่ายทอดความสามารถเทคโนโลยีอันชาญฉลาดจากคลาวด์มาสู่ดีไวซ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้ทุกระดับสามารถใช้งานร่วมกันได้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ คาดว่า แอพพลิเคชันกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดจะนำ AI มาผนวกเพื่อใช้งานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในสิ้นปี 2561 นี้ ส่วนการใช้ BOT และ AI ติดต่อสื่อสารกับลูกค้า มีแนวโน้มแพร่หลายขึ้น คาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของการสนทนากับลูกค้าในปี 2568 ธนวัฒน์ บอกด้วยว่าจากแนวโน้มความต้องการที่เติบโตขึ้นดังกล่าวของ AI กลับสวนทางกันกับ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ที่ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทยในด้านทักษะดิจิทัลของบุคลากรในประเทศซึ่งไม่เพียงเฉพาะไทยที่ขาดแคลนบุคคลากรด้านทักษะดังกล่าวทั่วโลกก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน ไมโครซอฟท์จึงเห็นความสำคัญโดยร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรรองรับการพัฒนาบุคคลากรที่ขาดแคลนป้อนเข้าสู่ตลาดในอนาคตทั้งยังรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์มีโซลูชั่นและแพลตฟอร์มที่พร้อมยกระดับประสิทธิภาพขององค์กรที่หลากหลาย โดยจุดเด่น คือ การมีแพลตฟอร์ม AI และคลาวด์ระบบเปิดสามารถเชื่อมต่อหรือต่อยอดการพัฒนาได้ทุกรูปแบบ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในไทยของการนำเสนอโซลูชั่นและแพลตฟอร์ม AI ของไมโครซอฟท์ปีนี้จะได้เห็นการใช้งานจริงของภาคธุรกิจหลักไม่น้อยกว่า 10 โครงการ ด้านลูกค้าทั่วไปที่ใช้งานผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ มีการใช้ AI เป็นพื้นฐานอยู่แล้วกว่าหลักล้านราย ธนวัฒน์ บอกว่า ไมโครซอฟท์มุ่งพัฒนาเพื่อเสริมให้ทุกผลิตภัณฑ์และบริการมี AI อัจฉริยะอำนวยความสะดวกและเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอไอเดียการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ให้ผู้ใช้ใน PowerPoint การเสนอแนะแนวทางการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลดิบที่ผู้ใช้กรอกใน Excel หรือฟังก์ชันการเสนอแนะแนวทางการทำงานในด้านต่างๆ ของธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานขาย ปฏิบัติการ หรือบริการลูกค้า ใน Dynamics 365  

ชูแพลตฟอร์มเปิดหนุนนักพัฒนาต่อยอด

“วันนี้ไมโครซอฟท์มีแพลตฟอร์ม AIและคลาวด์ที่เปิดกว้างพร้อมสนับสนุนทุกแนวคิด จินตนาการ ให้นักพัฒนานำแพลตฟอร์มไปใช้สร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วยชุดเครื่องมือและบริการบนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ที่รองรับการพัฒนาโซลูชั่น AI หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นบน ออฟฟิศ 365 ไดนามิก 365 ออฟฟิศ 365 โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีฟีเจอร์ AI บรรจุอยู่ทั้งหมด” ธนวัตน์บอกด้วยว่าประเด็นด้านความเข้าใจของสังคมที่มีต่อเทคโนโลยี AI ยังถือเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อย “นอกจากแง่มุมด้านเทคโนโลยีแล้ว การใช้งาน AI อย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวางมาตรฐานที่ชัดเจนในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในการทำงาน และความรับผิดชอบของผู้พัฒนา เป็นต้น โดยการพัฒนา AI จะต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้มนุษย์สามารถทำงานได้ดีขึ้น มากขึ้น หรือทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่มนุษย์แต่อย่างใด”  

ชี้กฎหมาย GDPR ยกระดับความปลอดภัย

ธนวัฒน์ ยังได้กล่าวถึง การเริ่มบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของสหภาพยุโรป ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบุคคลหรือองค์กรจากชาติกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น องค์กรทั่วโลกที่มีลูกค้าในชาติสหภาพยุโรปหรือต้องทำธุรกรรมกับธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้จึงจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามกรอบข้อบังคับของ GDPR นับตั้งแต่การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อสองปีก่อน ไมโครซอฟท์ได้มอบหมายให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,600 คนลงมือทำงานเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐาน GDPR อย่างเคร่งครัด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ของไมโครซอฟท์พร้อมรองรับความต้องการของทุกองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจภายใต้กรอบของ GDPR