อาณาจักร 'สิงห์' ถึงเวลาปรับตัวครั้งใหญ่รับกระแสเทคโนโลยีมาแรง ตั้ง 'Singha Ventures' ภายใต้การนำของ ภูริต ภิรมย์ภักดี ซึ่งรับหน้าที่ประธานกรรมการบริหาร ทุ่มงบ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 800 ล้านบาท หนุนสตาร์ทอัพดาวเด่นให้เติบโตระดับสากล พร้อมผลักดันไทยเป็นฮับของสตาร์ทอัพระดับโลก
ภูริต เผยว่า สิงห์มีความคิดจะจัดตั้งบริษัทในรูปแบบ VC (Venture Capital) มานาน เมื่อทุกอย่างลงตัวจึงก่อตั้ง
Singha Ventures ในปี 2560 ภายใต้ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และจดทะเบียนที่ฮ่องกงเพื่อความคล่องตัวในการเป็น VC ระดับสากล โดยไม่จำกัดตัวเองแค่ในประเทศ
ปีที่ผ่านมา
Singha Ventures ใช้งบ 25 ล้านเหรียญลงทุนใน 2 กองทุน คือ
Kejora Ventures แพลตฟอร์มด้าน technology ecosystem ที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุง Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งลงทุนในธุรกิจไปแล้วเกือบ 30 ธุรกิจ และ
Vertex Ventures บริษัท VC ในกลุ่ม Temasek Holdings ของสิงคโปร์ ที่มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีทั่วโลก ซึ่งทั้งสองบริษัทที่ลงทุนไปล้วนให้ผลประกอบการที่ดีทั้งสิ้น
“ต้องบอกว่าเราเต็มที่กับ Singha Ventures และบริหารจัดการโดยไม่ต้องผ่านบอร์ด โดยงบจะมาเป็นก้อนๆ ทำให้บริหารจัดการได้เร็วและคล่องตัวขึ้น” ภูริตกล่าว
ประธานกรรมการบริหาร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
Singha Ventures จะเน้นลงทุนใน 3 กลุ่มหลักทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ
กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ฯลฯ เนื่องจากเล็งเห็นว่าประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีด้านดังกล่าวมารองรับ
กลุ่มเทคโนโลยีด้านการขนส่งและจำหน่ายสินค้า ทั้งการขนส่งระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) และการขนส่งแบบอี-คอมเมิร์ซ และ
กลุ่มโซลูชั่น/โปรแกรม เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร
อย่างไรก็ตาม ยังเปิดกว้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ทั้งหมดจะเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน มีความมั่นคง มีตลาดรองรับ และอยู่ในระดับ Series A ขึ้นไป แต่หากยังเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับ Seed Funding ธุรกิจดังกล่าวก็ต้องมีความโดดเด่น สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเสริมศักยภาพของสิงห์และเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตร
ด้าน
วรภัทร ชวนะนิกุล กรรมการผู้จัดการ
Singha Ventures เสริมว่า นอกจากเงินทุนสนับสนุนแล้ว บริษัทจะนำจุดแข็งของสิงห์มาผสานกับจุดเด่นของสตาร์ทอัพแต่ละรายและเร่งการเติบโตให้ไประดับโลก สตาร์ทอัพสามารถใช้ทรัพยากรของสิงห์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขายและการตลาด แผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมทั้งการเข้าถึงร้านค้าปลีก 400,000 แห่งทั่วประเทศ และการร่วมมือกับพันธมิตรของสิงห์ทั่วโลก
“เราจะเข้าไปลงทุนเริ่มต้นที่ 25% ในสตาร์ทอัพ เพื่อให้เขามีพลังในการทำงาน เราไม่คิดลงทุน 100% เพราะไม่ต้องการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพเอง ปีนี้เรายังไม่ได้ตั้งงบลงทุนเพราะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและจังหวะ แต่น่าจะไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว"
“สำหรับเมืองไทย เราวางแผนจะลงทุนในกองทุน 500 TukTuks และจะเริ่มลงทุนโดยตรงกับสตาร์ทอัพ จากปีก่อนที่ลงในกองทุนอย่างเดียว อันดับต่อไปเราอาจตั้งกองทุนขึ้นมาเองก็ได้ แต่ตอนนี้เราอยากสร้างยูนิคอร์นให้เกิดขึ้นในไทยให้ได้จริงๆ โดยจะนำความรู้จากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้เพื่อช่วยให้เกิดขึ้น และจะหนุนให้ไทยเป็นฮับของสตาร์ทอัพระดับโลก” ภูริตปิดท้าย