ไม่ต้องวนหา! แอพพลิเคชั่น Park2Go ค้นหาและจองที่จอดรถ หวังขยาย 100 จุดจอดภายในปี 2562 - Forbes Thailand

ไม่ต้องวนหา! แอพพลิเคชั่น Park2Go ค้นหาและจองที่จอดรถ หวังขยาย 100 จุดจอดภายในปี 2562

แอพพลิเคชั่น Park2Go-ปาร์คทูโก แอพฯ ค้นหาและจองที่จอดรถ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ประเดิมลานจอด 10 แห่งแรก ปี 2562 วางเป้าขยาย 100 แห่งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด

อภิราม สีตะกลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปาร์คทูโก จำกัด ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Park2Go เปิดเผยว่า หลังจากลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ไปกว่า 10 ล้านบาทเป็นเวลา 2 ปี บริษัทได้เริ่มทดลองใช้งานแอพพลิเคชั่น Park2Go ไปเมื่อเดือนมกราคม 2561 และขณะนี้เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว

โดยลักษณะของแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนการแสดงข้อมูลที่จอดรถและปริมาณช่องจอดที่เหลืออยู่ในที่จอดรถแต่ละจุด (Live Info) เป็นข้อมูลที่แสดงแบบเรียลไทม์เพื่อให้ผู้ใช้รถค้นหาที่จอดได้สะดวกและทราบว่าแต่ละจุดยังมีที่จอดพอหรือไม่ ส่วนนี้นั้น Park2Go มีพันธมิตรที่จอดรถร่วมในระบบแล้ว 500 แห่ง รวมช่องจอดในระบบประมาณ 50,000 ช่องจอด

ส่วนที่สองคือระบบ "จองแล้วจอด" สำหรับจองช่องจอดรถภายในจุดจอดล่วงหน้า โดยพันธมิตรลานจอดรถที่เข้าร่วมจะมีการจัดโซนไว้สำหรับ Park2Go เมื่อผู้ใช้ทำการจอง แอพฯ จะตัดบัตรเครดิตชำระค่าที่จอดรถอัตโนมัติ พร้อมค่าธรรมเนียมการจอง 20-50 บาท/ครั้งจากลูกค้า

อภิราม สีตะกลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปาร์คทูโก จำกัด ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Park2Go วัย 33 ปี

ลานจอดรถที่มีช่องจองก่อนจอดของ Park2Go นั้น ปัจจุบันมีบริการแล้ว 9 แห่งและจะเปิดครบ 10 แห่งภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งหมด 500 ช่องจอด เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ร้านอาหารกัลปพฤกษ์ .สีลม, ลานจอดอาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1 อิมแพค เมืองทองธานี, ลานจอดรถ BTS ปุณณวิถี, เจ อเวนิว ทองหล่อ ซอย 15, ลา วิลล่า อารีย์ เป็นต้น

 

ชวนเจ้าของพื้นที่บริหารลานจอดรถ

อภิรามกล่าวว่า ฟังก์ชันแสดงที่จอดรถของ Park2Go จะตอบโจทย์ผู้ใช้รถในการหาที่จอด ซึ่งบางครั้งผู้ใช้รถอาจไม่ทราบว่ามีที่จอดอยู่ส่วนไหนบ้าง

ฝั่งเจ้าของลานจอดรถก็จะทำให้เขามีตัวตนในแผนที่ เหมือนเราได้ทำการตลาดให้อภิรามอธิบายเพิ่มเติมว่า พื้นที่จอดรถบางสถานที่อาจไม่ได้มีคนเข้าใช้ตลอดเวลา เช่น อาคารสำนักงานที่มีคนน้อยในช่วงเย็นหรือวันหยุด ร้านอาหารที่ไม่ได้ใช้ที่จอดรถบางส่วน ก็จะสามารถนำที่จอดที่เหลือมาบริการหารายได้เพิ่มได้

ในมุมของเจ้าของพื้นที่ ฟังก์ชันการลงทะเบียนเพื่อระบุตัวตนเป็นจุดจอดรถในแอพฯ Park2Go นั้นยังไม่มีค่าใช้จ่ายหรือการแบ่งรายได้ใดๆ เนื่องจากแอพฯ ต้องการดึงเจ้าของพื้นที่เข้ามาร่วมในแอพฯ ให้มากที่สุดก่อน

พื้นที่ "จองแล้วจอด" ในร้านอาหารกัลปพฤกษ์ สีลม สำหรับให้บริการผู้ใช้แอพฯ Park2Go

ส่วนฟังก์ชันการเปิดพื้นที่จองแล้วจอดเฉพาะของ Park2Go นั้น บริษัทจะมีโมเดลในการเป็นพันธมิตร 3 แบบ คือ

  1. Park2Go เข้าบริหารเบ็ดเสร็จ โดยบริษัทจ่ายค่าเช่าพื้นที่เป็นรายเดือนให้กับเจ้าของพื้นที่เพื่อนำลานจอดรถมาบริการเอง
  2. เจ้าของลานจอดรถนำซอฟต์แวร์ Park2Go ไปบริหารพื้นที่บางส่วน โดยเจ้าของกันพื้นที่ช่องจอดจำนวนหนึ่งเป็นจุดจองแล้วจอด ซึ่งแอพฯ จะแบ่งค่าจองที่จอดรถ 50:50 กับเจ้าของพื้นที่ (ไม่รวมค่าจอดรถตามปกติซึ่งเจ้าของลานจอดรถยังได้รับ 100%
  3. ร่วมกันบริหาร ในกรณีที่ต้องการทำสัญญารูปแบบอื่นๆ

หากต้องการจะร่วมทำธุรกิจกับเรา ไม่จำเป็นต้องมีทุน เพราะขณะนี้ยังมีโปรโมชันฟรีค่าธรรมเนียม มีเพียงแค่ลานจอดรถในโลเคชันที่เหมาะสม พนักงานดูแลลานจอดรถ 1 คน และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องลงทุนป้อมยามหรือไม้กั้น เพราะเราใช้ระบบ QR Code ในการสแกนเข้าออกจุดจอดรถอภิรามกล่าว

อภิรามเปิดเผยว่า จากการทดลองใช้งานที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ใช้บริการจองแล้วจอดเฉลี่ย 4-5 รอบ/วัน/ช่องจอด สูงสุดอยู่ที่ 8 รอบ/วัน/ช่องจอด ที่ลานจอดรถอิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งค่าจองพื้นที่จอดรถนี้เป็นรายได้ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากค่าจอดรถตามปกติ ทำให้เจ้าของลานจอดรถได้รับรายได้เพิ่ม 10-30%

นอกจากนี้ หากต้องการเพิ่มความจุช่องจอดรถ Park2Go ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปาร์คพลัส จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องจอดรถอัตโนมัติ สามารถรับเหมาติดตั้งที่จอดรถอัตโนมัติซึ่งจะทำให้พื้นที่ช่องจอดเพิ่มขึ้นในแนวดิ่งอีก 4 เท่าจากปกติ

จุดจองแล้วจอด ที่อิมแพค เมืองทองธานี

เป้าหมายขยายตัว 10 เท่า

อภิรามกล่าวต่อว่า เดือนพฤศจิกายน 2561 ถือเป็นการเปิดตัวแอพฯ Park2Go อย่างเป็นทางการ โดยบริการที่จะทำรายได้จริงคือช่องจองแล้วจอด ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายหาพันธมิตรลานจอดรถเพิ่มจาก 10 แห่งในปีนี้ เป็น 100 แห่งภายในปี 2562 เฉลี่ยลานจอดรถละ 50 ช่องจองแล้วจอด โลเคชั่นทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และพัทยา

ขณะนี้บริษัทมีพันธมิตรหลักคือ บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ ซึ่งร่วมงานกันในพื้นที่เจ อเวนิว ทองหล่อ และ ลา วิลล่า อารีย์แล้ว รวมถึง อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งสองพันธมิตรอาจจะมีการขยายความร่วมมืออีกในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการติดต่อพูดคุยกับเอกชนและภาครัฐรายอื่นๆ ที่สนใจ อย่างไรก็ตาม บริษัทเปิดกว้างรับเจ้าของพื้นที่ลานจอดรถทุกรายไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อย ไม่จำกัดจำนวนช่องจอดขั้นต่ำ

เรารับทุกทำเลที่เป็นไปได้ว่าจะมีผู้ใช้บริการ ขอเพียงทำเลดึงดูด เช่น อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว ฮับขนส่งต่างๆ แม้แต่ย่านชานเมืองบางครั้งก็มีความต้องการ เช่น เป็นแหล่งคอนโดมิเนียมแต่ที่จอดรถในคอนโดฯ ไม่เพียงพอ ใกล้ร้านอาหารชื่อดัง เป็นต้น

ด้านจำนวนผู้ใช้แอพฯ Park2Go ปัจจุบันมี 10,000 ราย ซึ่งมีการใช้งานดูข้อมูลลานจอดรถอย่างสม่ำเสมอ 50% และเป็นผู้ใช้จองแล้วจอด 10% ตัวเลขผู้ใช้งานนั้น อภิรามคาดหวังให้เติบโตได้อย่างน้อย 10 เท่าในปีหน้า

ยังคาดการณ์ได้ยากว่าเราจะคืนทุนเมื่อไหร่ เพราะยังไม่มีแอพฯ ประเภทนี้ที่ติดตลาดที่ไหนเลย แต่ถ้าหากติดตลาด เชื่อว่าจะเติบโตเร็วแบบ S-Curve โดยมองคร่าวๆ ว่าน่าจะทำรายได้ได้ 10 ล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า”

สำหรับแผนระยะยาว อภิรามมองว่าปี 2562 จะเป็นปีที่บุกตลาดไทยอย่างเต็มที่ และหากประสบความสำเร็จจะเริ่มตีตลาดต่างประเทศในปี 2563 โดยมอง ตลาดอาเซียน ก่อน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่จะต่อยอดสู่ภูมิภาคอื่น

 

Forbes Facts

  • อภิราม สีตะกลิน ก่อตั้งบริษัท ปาร์คพลัส จำกัด เมื่อปี 2553 เพื่อนำเข้าเครื่องจอดรถอัตโนมัติ ก่อนจะเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่น Park2Go ในปี 2559
  • ปัจจุบันยังใช้งบลงทุนพัฒนาแอพฯ Park2Go จากเงินทุนของปาร์คพลัส และยังไม่เปิดรับการระดมทุน
  • Top 4 ทำเลที่มีผู้ใช้งานค้นหาที่จอดรถสูงสุดคือ เยาวราช, .ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และอิมแพ็ค เมืองทองธานี