“ไทยแลนด์ 4.0” “New S-Curve” “เศรษฐกิจดิจิทัล” คำเหล่านี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำลังพยายามจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุคใหม่ทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำหน้า
แต่สิ่งที่รัฐบาล คสช. กำลังทำอยู่คืออะไร มีแนวทางและเป้าหมายอย่างไร คงไม่มีใครสรุปได้ดีเท่า
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งสมคิดได้กล่าวสรุปรวบยอดพร้อมกระตุ้นขอให้ภาคเอกชนร่วมทำงานกับรัฐบาลบนเวทีงาน
Digital Intelligent Nation 2018 จัดโดย
AIS หรือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
ท่ามกลางเอกชนจากหลากหลายบริษัทและพนักงาน AIS เต็มฮอลล์ของ GMM Live House รองนายกฯ สมคิดเริ่มต้นย้ำตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพีประเทศไทยโดยสภาพัฒน์ว่า ปี 2561 จะโต 4.1% ถ้าหากรัฐบาลลงงบประมาณได้เต็มที่ตามเป้า บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วยความเชื่อมั่น และภาคการส่งออกขยายตัวดี
“แต่ ต้อง ‘แต่’ คำใหญ่ๆ ว่าตัวเลขจะทะยานได้ยังมีขีดจำกัด เพราะประเทศไทยพึ่งพาเครื่องยนต์เดิมมา 30 กว่าปีแล้ว มันเริ่มเก่าและทำงานไม่ได้ การส่งออกของไทยเราดูได้เลยว่ามีสินค้าไม่กี่ประเภทซึ่งเราไม่ได้ได้เปรียบตลาดอีกแล้ว” สมคิดกล่าว
สิ่งที่รัฐบาล คสช. กำลังทำจึงวางเป้าให้เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยีโลกดิจิทัล และต้องเติบโตแบบลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นด้วย โดยรัฐมองว่าเทคโนโลยีเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความเสี่ยง”
ในมุมของความเสี่ยง
สมคิดกล่าวว่ายุคนี้คือ “รุ่งอรุณของการปฏิวัติดิจิทัล” หมายถึงใครที่ช้าก็จะล้าหลัง ซึ่งประเทศไทยถือว่า “ตื่นสาย” ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล เพิ่งจะตื่นตัวกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ฝั่งโอกาสนั้นหมายถึง ถ้าประเทศไทยก้าวทันยุค การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจะทำให้ไทยโตแบบก้าวกระโดดเหมือนอย่างประเทศจีน
Digital for All
แม้บนเวทีเดียวกัน AIS จะประกาศตัวเลขการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยว่าอยู่ที่ 45 ล้านคนหรือคิดเป็น 67% ของประเทศ แต่นั่นอาจยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงกำลังผลักดันให้ไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเน้นเป็น 3 แนวทาง
หนึ่งคือ Digital for All ด้วยพลังของอินเทอร์เน็ตซึ่งเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายและเร็ว ย่นระยะเวลาการหาความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งลงได้หลายเท่า หากอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ของไทย ความเหลื่อมล้ำน่าจะลดลง
“เราอยากให้เกิด Digital for All คือไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนหนุ่มสาว เพราะแต่เดิมคนไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถ้าในยุคนี้ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลอีก ช่องว่างระหว่างชนชั้นจะยิ่งถ่างออก ดังนั้นโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจึงเกิดขึ้น ทุกหมู่บ้านต้องมีและต้องฝึกให้คนหาประโยชน์จากมันควบคู่กันไป อย่างน้อยอินเทอร์เน็ตต้องไปถึงทุกพื้นที่สำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล การที่หมู่บ้านมีอินเทอร์เน็ตจะทำให้เขาต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นได้ง่ายขึ้น เช่น อี-คอมเมิร์ซ ค้าขายโดยตรงได้เลย หรือประชาสัมพันธ์ให้หมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว”
Digital Driven
“การส่งออกของเราจะไม่ใช่มีแค่ 10 อย่าง มัน ยาง ข้าว มีอยู่เท่านี้” รองนายกฯ สมคิดกล่าวอย่างเผ็ดร้อนบนเวทีให้ภาคเอกชนเร่งทำธุรกิจแบบดิจิทัล ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นกราฟเอ็กซ์โพเนนเชียล ให้การค้าของไทยส่งออกไปได้มากกว่านี้ และใช้เทคโนโลยีมาลดต้นทุนการผลิต โดยหวังว่าองค์กรเอกชนขนาดใหญ่จะเป็นโต้โผในการนำเศรษฐกิจไทย เหมือนอย่างที่จีนมี Baidu, Tencent หรือ Alibaba
“แต่รัฐก็ไม่ได้สนับสนุนแต่บริษัทใหญ่ เพราะ SMEs บ้านเรามีเป็นล้าน พวกเขานี่แหละที่เราอยากสนับสนุน ดังนั้นทุกจังหวัดจะต้องมี SMEs Center ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้ SMEs เข้าไปใช้งาน ให้ประเทศไทยมีนักธุรกิจที่ยืนขึ้นมาได้อีก” โดยรองนายกฯ เสริมว่าบริษัทใหญ่ของจีนดังกล่าวข้างต้นคือแกนนำที่ทำให้เกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกหลักล้านราย เพราะมีธุรกิจสืบเนื่องจากแพลตฟอร์มที่บริษัทเหล่านั้นสร้างขึ้น
การที่รัฐผลักดันระบบอี-เพย์เมนต์ หรือตัดสินใจมุ่งเน้นสนับสนุนสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีสาขาการเรียนด้าน STEM (S=วิทยาศาสตร์, T=เทคโนโลยี, E=วิศวกรรมศาสตร์, M=คณิตศาสตร์) และด้านศิลปะการออกแบบ (Art Design) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างบุคลากรที่จำเป็น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางนี้
สำหรับงานของรัฐบาลเองที่จะเป็น Digital Driven คือ
รัฐบาลจะใช้เทคโนโลยี Big Data รวมศูนย์ข้อมูลทุกอย่างจากทุกหน่วยงานไว้ในจุดเดียว และเป็นแบบ Open Data คือถ้าหากข้อมูลนั้นไม่ใช่ความลับสุดยอดจะต้องเปิดให้สาธารณชนเข้าถึง
“ยกตัวอย่างเช่น ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศต้องส่งข้อมูลจากประเทศของตนกลับมารวมที่กระทรวงพาณิชย์ แล้วถ้ารัฐยังทำการวิเคราะห์และแสดงผลให้ smart ไม่ได้ ก็เปิดให้เอกชนมาดูเองได้เลย อย่างน้อยเอกชนจะได้วิเคราะห์เองได้ จะส่งสินค้าไปประเทศไหน ย่านไหน ตลาดเป็นอย่างไร เห็นได้แบบชัดเจนทันทีโดยไม่ต้องร้องขอ” สมคิดกล่าว
Digital Democracy
ปิดท้ายที่ “การเมือง” ท่ามกลางกระแสโหยหาประชาธิปไตย แม่ทัพเศรษฐกิจ คสช. มองว่าเทคโนโลยีโลกดิจิทัลคือคำตอบหนึ่งสำหรับการเมือง
“ผมมองแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียจะทำให้คนมีส่วนร่วมในการออกเสียง เสนอแนะ โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนคือ สส. แล้ว แต่บางทีสิ่งที่เป็น evil ในการหาข้อมูลได้เร็วคือมันทำให้เราไม่หยุดคิดไตร่ตรอง และเราจะเลือกไม่คุยกับฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเครื่องมือแบบนี้ก็ต้องมีการควบคุมให้ on the right track ด้วยเพื่อไม่ให้ประเทศแตกแยก”
“คนรุ่นใหม่ ถ้าใครพร้อมขอให้เข้าสู่การเมืองเลย มันเป็นยุคของคนหนุ่มสาวแล้ว ถ้ามีแต่คนเก่าๆ จะเป็นประเทศที่ตาบอดคลำช้างกันหรือ!" สมคิดกล่าวปิดท้าย