เอ็ตด้าเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตประจำปี 2559 - Forbes Thailand

เอ็ตด้าเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตประจำปี 2559

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2559 ยุค 4 จีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไฮไลต์ นักท่องเน็ตผ่านมือถือโต 9 เปอร์เซ็นต์ จากปี 58 ยอด 5.7 พุ่ง  6.2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่การให้บริการ 3G/4G ยังต้องปรับปรุง “การนำเสนอผลการสำรวจในปีนี้ เรานำพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมาจำแนกเป็นรายเจนเนอเรชัน ทั้งบนสมาร์ตโฟน แทบเล็ต และบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก เพื่อให้เข้าใจง่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และมีการกระจายตัวของเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพการทำงาน และรายได้ที่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากร สามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มได้ ได้แก่ เจน Z, เจน Y, เจน X และ Baby Boomer” สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ  ETDA (เอ็ตด้า) ทั้งนี้มีสถิติที่น่าสนใจดังนี้
  • จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในภาพรวมทุกอุปกรณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 45.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน  เพิ่มขึ้นจาก ปี 2558 ที่ 5.7 ชั่วโมง/วัน
  • เพศที่สาม และ Gen Y (เกิดพ.ศ.2524-2543) เป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ 48.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • สมาร์ตโฟนอุปกรณ์หลักของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมร้อยละ 85.5 และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2 ชั่วโมงต่อวัน
  • ช่วงเวลาเรียน/ทำงาน (08.01–16.00 น.) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นอุปกรณ์อันดับ 1 ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยช่วงเวลา 08.01–12.00 น. เป็นร้อยละ 64.5
  • ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน/ทำงานจนถึงเช้า (16.01–08.00 น.) สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์อันดับ 1
  • ช่วงเวลา 16.01–20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่คนนิยมใช้สมาร์ตโฟนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 68.4
  • กิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ - การพูดคุยผ่าน Social Network (ร้อยละ 86.8) - ดูวิดีโอผ่าน YouTube (ร้อยละ 66.6) -การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 55.7)
  • การค้นหาข้อมูล (ร้อยละ 54.7)
  • สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับแรก - YouTube มีผู้ใช้งานมากถึงร้อยละ 97.3  (เจนY เกิดพ.ศ.2524-2543 และ เจนZ เกิดพ.ศ.2544 เป็นต้นไป) ใช้งานมากที่สุด - Facebook มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 94.8 - Line มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 94.6 (กลุ่ม Baby Boomer และ เจน X นิยมใช้ติดต่อสื่อสารมากที่สุด)
  • โดยกลุ่มที่ใช้งาน YouTube มากที่สุดได้แก่ เจน Y และ เจน Z คิดเป็นร้อยละ 98.8 และ 98.6 ตามลำดับ ขณะที่ 2 กลุ่มนี้ใช้ Facebook คิดเป็นร้อยละ 97.9 และ 93.8 ตามลำดับ เป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ Line คิดเป็นร้อยละ 97.2 และ 91.4 ตามลำดับ
  • ด้านความถี่ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์แต่ละประเภท พบว่า Facebook ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานบ่อยที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็น Line และ YouTube โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 84.2, 82.0 และ 76.9 ตามลำดับ
ในความคิดเห็นของผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านระบบ 3G/4G ปัญหาสำคัญที่สุด 3 อันดับแรกที่เกิดจากการใช้งานระบบ 3G/4G อันดับแรก เป็นเรื่องของความสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ ต้องหมั่นคอยชาร์จ รองลงมา เป็นเรื่องของการใช้งาน 4G ในบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณ หรือสัญญาณอ่อน และค่าใช้จ่ายในการใช้งานค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 70.4, 64.7 และ 40.2 ตามลำดับ ข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งผ่านสมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์พอจะสรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังคงชื่นชอบการสื่อสารจากการแชตในสังคม ออนไลน์มากที่สุด ขณะที่การชมยูทูบเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงที่เป็นที่นิยม สำหรับการอ่านอีบุ๊กคนไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับ 3 ทั้งหมดช่วยให้การประเมินต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทั้งภาครัฐเอง เอกชน และคนทั่วไปง่ายขึ้นในการเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเป็นกำลังใจให้วงการดิจิทัลคอนเท็นต์ในการที่สร้างสรรค์งานเขียน และสื่อสร้างสรรค์ออนไลน์ดี ๆ ต่อไป