เทคซอสชี้สตาร์ทอัพไทยปี 2560 ยอดระดมทุนพุ่ง เปิดมุมมององค์กรเอกชน 'ระบบนิเวศ' สตาร์ทอัพไทยควรพัฒนาอย่างไร - Forbes Thailand

เทคซอสชี้สตาร์ทอัพไทยปี 2560 ยอดระดมทุนพุ่ง เปิดมุมมององค์กรเอกชน 'ระบบนิเวศ' สตาร์ทอัพไทยควรพัฒนาอย่างไร

Techsauce-เทคซอส เปิดข้อมูลสตาร์ทอัพไทยได้รับเงินระดมทุนพุ่งในปี 2560 จัดเวทีเสวนาเปิดมุมมององค์กรเอกชน 4 แห่งต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพ

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัพและระบบนิเวศในประเทศไทย ช่วงปี 2555-2560 มีสตาร์ทอัพไทยที่ได้รับการลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ราย มีเวนเจอร์แคปิตอลที่เข้ามาลงทุนในไทย 96 ราย มี angel investors 44 ราย และ accelerator 8 ราย ในช่วงปี 2554-2560 สตาร์ทอัพไทยมีการระดมทุนรวม 105 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมการระดมทุนด้วย ICO) โดยพบว่าปี 2559-2560 คือช่วงปีที่สามารถระดมทุนได้สูงสุดและเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด สำหรับธุรกิจที่ได้รับการลงทุนมากที่สุดคือกลุ่มอี-คอมเมิร์ซหรือมาร์เกตเพลซ แต่กลุ่มที่น่าจับตาคือกลุ่มธุรกิจอาหารซึ่งมาแรงมากเนื่องจากกระแสของบริการจัดส่งอาหาร (food delivery) ภายในงาน เทคซอสได้จัดงานเสวนาพิเศษ "Tech Ecosystem Talk: ยกระดับ Tech Ecosystem ไทยสู่ระดับภูมิภาคอย่างแท้จริงได้อย่างไร" โดยมี 4 องค์กรเอกชนเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ภูญดา สวัสดิโกศล หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด, จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ จำกัด, ภรณี เจียมศักดิ์ศิริ Principal บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด และ Xinming Zhao หัวหน้าทีมวิศวกรรม บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด  

แต่ละบริษัทช่วยสนับสนุนระบบนิเวศ (ecosystem) ให้กับสตาร์ทอัพอย่างไร?

จิรพัฒน์: สิริ เวนเจอร์สจะเน้นพร็อพเทคโดยเราจะเป็นสปริงบอร์ดให้สตาร์ทอัพไทยได้ไปโตต่อระดับโลก ไปที่จีน หรือ Tel Aviv ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกลางให้สตาร์ทอัพต่างประเทศที่อยากมาลงทุนในไทย Zhao: เนื่องจากเราเป็นแอพพลิเคชั่น เรามองการเติบโตของแอพฯ ปัจจุบันนี้มันมีลักษณะ overflow คือมีเยอะมากจนการดึงดูดให้คนอยู่กับแอพฯ เดียวมันยากขึ้น มีคนใช้เวลาในหนึ่งแอพฯ น้อยลง วิธีของเราจึงเป็นการเปิดให้สตาร์ทอัพได้ใช้ Line เป็นตัวกลางในการเข้าถึงคนไทย 42 ล้านคนที่ใช้ Line อยู่ คนทำแอพฯ อื่นก็มาผูกผ่านเรา อย่างเช่นที่เรามี Line Taxi หรือ Line Man ภรณี: วิธีการสนับสนุนของดิจิทัล เวนเจอร์สให้กับสตาร์ทอัพ คือทุกคนรู้ว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่อีกนิดเดียวจะถึงเส้นชัยแล้ว ตรงนี้ที่เราจะช่วยเขาให้ได้เชื่อมต่อกับเวนเจอร์แคปิตอล (VCs) ได้มากกว่าเดิม ภูญดา: สำหรับทรู ดิจิทัล พาร์ค เรามองตัวเองเป็น Community Infrastructure Provider คือเป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้เล่นหลักในระบบนิเวศสตาร์ทอัพมารวมกัน ทั้งสตาร์ทอัพเองมาใช้พื้นที่เดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น หรือ VCs เข้ามาเป็น mentor ช่วยแนะนำ ซึ่งทรู ดิจิทัล พาร์คกำลังจะเกิดขึ้นที่วิสซ์ดอม 101 BTS ปุณณวิถี พื้นที่ใช้สอย 7 หมื่นตร.ม.  

มองศักยภาพการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยอย่างไร

ภรณี: ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีศักยภาพเป็นที่สามรองจากอันดับ 1 คือสิงคโปร์ พูดตรงๆ คือประชากรเขารวย และอันดับ 2 คืออินโดนีเซีย เพราะประชากรเขาเยอะ สองอย่างนี้ทำให้เขาได้เปรียบในแง่กำลังผู้บริโภค Zhao: ในไทยมีสตาร์ทอัพเยอะขึ้นมาก แต่คนที่ไปได้ถึงรอบระดมทุน Series A มีแค่ 10% นั่นแปลว่าคนไทยมีปัญหาการ scale up ธุรกิจขยายลำบาก นี่เป็นปัญหาที่ทำให้โตได้ไม่มากพอ  

สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยควรปรับตัว

จิรพัฒน์: สิ่งที่ควรมาเติมเต็มมองว่าเป็น 1.คอนเน็คชัน รู้จักคนให้มากขึ้น 2.มุมมองจากองค์กรขนาดใหญ่ ตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีเลยเพราะองค์กรใหญ่จำนวนมากตั้ง CVC (Corporate Venture Capital) แล้ว เขาพร้อมจะบอกปัญหาที่ควรแก้ (pain point) ให้คุณนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจ สตาร์ทอัพน่าจะเปิดรับมุมมองจากองค์กรเข้าไปให้มากขึ้น ภรณี: อยากให้สตาร์ทอัพดูตลาดต่างจังหวัดมากกว่านี้ อย่ามีมุมมองเฉพาะคนเมือง เพราะตลาดที่แท้จริงใหญ่จริงอยู่ที่ต่างจังหวัด และเตรียมมองไปไกลระดับภูมิภาคหรือสากล ภูญดา: Tech Talent เรามีไม่พอ สถาบันการศึกษาหรือภาคส่วนต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการผลิตคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมากขึ้น Zhao: Mindset หรือระบบความคิด คนยังมองว่ามาเป็นสตาร์ทอัพจะสบาย แต่จริงๆ ไม่ใช่ คุณต้องพร้อมที่จะทุ่มเทกับมัน ต้องใช้ความพยายามสูงมาก  

สิ่งที่รัฐควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

Zhao: เปิดรับ Tech Talent มากกว่านี้ มีความยืดหยุ่นให้คนที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาได้โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือทำวีซ่าสำหรับสตาร์ทอัพ จิรพัฒน์: เพราะของเราเป็นพร็อพเทค เราจึงอยากเห็นกฎหมายที่ปรับใช้กับการทำ sandbox ให้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับที่ฟินเทคมี sandbox ให้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ของเราอาจจะเป็นเขตบางเขตที่ปรับกฎหมายเฉพาะ ภรณี: ตอนนี้สตาร์ทอัพไทยเลือกจดทะเบียนบริษัทที่สิงคโปร์หรือเกาะเคย์แมน เพราะอะไร? เพราะมันมีประโยชน์เรื่องสิทธิภาษีมาเกี่ยวข้อง ที่ไทยเก็บภาษีนิติบุคคล 30% เทียบกับประเทศอื่นนั้นสูงมาก และยังมีภาษีอื่นอีกยิบย่อยที่ทำให้เป็นปัญหา ถ้ารัฐลดภาษีตรงนี้ไปให้สตาร์ทอัพก็จะจูงใจได้อีกมาก ทั้งนี้ เทคซอสยังเตรียมจัดงาน Techsauce Global Summit 2018 เป็นเวทีการสัมมนาและโชว์เคสด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1 หมื่นคนจาก 30 ประเทศทั่วโลก ภายในงานมีเวทีสัมมนาโดยวิทยากรกว่า 200 คน จากองค์กรชื่อดังที่เกี่ยวข้อง อาทิ Techstars, Sequoia Capital, Energy Blockchain Labs เป็นต้น งานจะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ ที่ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล เวิลด์