สัมภาษณ์ Masatoshi Kumagai ผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet - Forbes Thailand

สัมภาษณ์ Masatoshi Kumagai ผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตเมืองไทยอ้าแขนต้อนรับทุนใหญ่จากญี่ปุ่น ทุ่ม 1.5 พันล้านบาท สร้าง Z.com หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แข็งแกร่ง

เทคโนโลยีในไทยที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Masatoshi Kumagai วัย 53 ปีผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่น ตัดสินใจทุ่มงบ 1.5 พันล้านบาท ควบรวมกิจการ NetDesign Group ของไทย ก่อตั้ง GMO-Zcom Net Design ด้วยสัดส่วนการลงทุนฝั่งญี่ปุ่นและฝั่งไทยที่ 49:51 โดยมี เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ผู้ก่อตั้ง NetDesign Group นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ Z.com ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในไทย อาทิ คลาวด์ ระบบสนับสนุนอี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ ไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตเร็วขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่พบว่า ปี 2559 มีจำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์เฉลี่ย 45 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 6.4 ชั่วโมง/วัน ETDA ยังคาดการณ์มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในปี 2559 ว่าจะอยู่ที่ราว 2.52 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ซึ่งมีมูลค่าราว 2.25 ล้านล้านบาท มูลค่าขายส่วนใหญ่ในปี 2559 เป็นอี-คอมเมิร์ซประเภท B2B 54.74% B2C 28.89% และ B2G 16.37% หากไม่รวมอี-อ็อคชั่น พบว่า 3 อันดับของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซสูงสุดคือ ค้าปลีกและค้าส่ง 34.55% การให้บริการที่พัก 30.35% และการผลิต 16.23%แวดวงธุรกิจโลกออนไลน์ตื่นตัวยิ่งขึ้น
จากซ้าย: เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ผู้ก่อตั้ง NetDesign Group , Masatoshi Kumagai วัย 53 ปีผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet
เมื่อ Jack Ma ผู้ก่อตั้งและ Executive Chairman ของ Alibaba Group ที่มีแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในกลุ่ม อาทิ Alibaba Taobao 1688 เป็นต้น มีผู้ใช้งานรวมกันกว่า 430 ล้านคน เดินทางมาเมืองไทยเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว และเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อหารือถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการชาวไทยให้ก้าวสู่ตลาดการค้าระดับโลกตามด้วยการเข้ามาของ 11street แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซจากเกาหลีใต้ ที่เปิดให้ลูกค้าคนไทยได้ซื้อขายสินค้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว Kumagai ซึ่งติดอันดับที่ 47 ใน 50 อันดับมหาเศรษฐีญี่ปุ่น ปี 2558 จัดโดย นิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 2.32 หมื่นล้านบาท) ก่อตั้ง GMO Internet ขึ้นในปี 2534 ด้วยความคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อผู้คนทั่วโลกในอนาคต แม้ขณะนั้นชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยังไม่คุ้นเคยนักก็ตาม (มาถึงขณะนี้เว็บไซต์ Statista ระบุว่า ญี่ปุ่นมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 118 ล้านคน หรือกว่า 90% ของประชากร) “การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้ภาษาเป็นสำคัญ ซึ่งจำนวนผู้ใช้ภาษาอังกฤษมีมากกว่าภาษาญี่ปุ่น 4.6 เท่า GMO Internet ที่ให้บริการภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักจึงต้องขยายธุรกิจเพื่อให้บริการครบวงจรและสร้างรายได้มากขึ้น” เขากล่าวกับ Forbes Thailand ดังนั้น จากเดิมที่มีธุรกิจประเภท internet infrastructure ให้บริการจดโดเมน เว็บโฮสติ้ง ฯลฯ จึงมีธุรกิจ online advertising & media, internet securities และ mobile entertainment เข้ามาเสริม ปัจจุบัน GMO Internet Group มี 107 บริษัทในเครือ กระจายตัวใน 18 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ Kumagai ให้ความสำคัญ เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูง จึงนำแบรนด์ Z.com ซึ่งใช้เป็นแบรนด์รุกตลาดโลกในเซ็กเมนต์ internet infrastructure เข้ามาให้บริการในเวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ โดยมาเลเซียและไทยเป็น 2 ประเทศล่าสุดที่มีการเจรจาลงทุนในเวลาไล่เลี่ยกันคือปีที่แล้วรูปแบบการลงทุนใน 6 ประเทศมีทั้งการเข้าไปตั้งบริษัทเองและควบรวมกิจการ ใช้งบไปราว 1 หมื่นล้านเยน (3 พันล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีสำนักงาน/สาขาของ Z.com ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ รัสเซีย อินเดีย จีน เกาหลีใต้ ฯลฯ ด้วยในไทยนั้น Kumagai เลือกจับมือ Net-Design Group เพราะเห็นว่าบุคลากรมีความพร้อมและมีประสบการณ์ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตมาเกือบ 20 ปี จึงพูดคุยกับเฉลิมรัฐและนำสู่การควบรวมในที่สุด ซึ่ง Z.com จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย โดย Kumagai จะนำความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีมาเสริมทัพเน้นบริการ 4 กลุ่ม คือ บริการคลาวด์ ชูจุดเด่นที่การมีเซิร์ฟเวอร์ในไทย ช่วยลดปัญหา downtime (ช่วงที่เซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถให้บริการได้) ซึ่งในตลาดมี Amazon Web Services (AWS) และ Microsoft Azure เป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่อยู่แล้ว “เรานำเสนอสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าใช้งานง่ายกว่า และในราคาที่เหมาะสมกว่ากลุ่มเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้มีตั้งแต่เอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่” Kumagai กล่าว ผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet คาดว่าต่อไปทุกเมืองในไทยจะเป็น “internet city” มีปัจจัยหนุนคือโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งจะส่งให้ธุรกิจ Z.com เติบโตขึ้นด้วยเช่นกันทั้งในแง่ผู้ใช้งานและรายได้ และจะเชื่อมโยง Z.com ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันให้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งพร้อมจะวางตัวเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจไทยไปญี่ปุ่น หากธุรกิจนั้นมีบริการที่ดีและมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจทุกวันนี้ ยอดขายสุทธิของ GMO Internet มาจากตลาดญี่ปุ่น 96% และต่างประเทศ 4% Kumagai ตั้งเป้าให้ยอดจากต่างประเทศทวีสัดส่วนขึ้นเป็น 50% ในอนาคต พร้อมคาดการณ์ยอดขายสุทธิในปีนี้ว่าน่าจะอยู่ที่ราว 1.45 แสนล้านเยน (4.47 หมื่นล้านบาท) และกำไรสุทธิที่ราว 8 พันล้านเยน (2.47 พันล้านบาท) เพิ่มจากปีก่อนซึ่งมียอดขายสุทธิที่ราว 1.35 แสนล้านเยน (4.16 หมื่นล้านบาท) และกำไรสุทธิที่ราว 7.2 พันล้านเยน (2.2 พันล้านบาท) กลยุทธ์ปีนี้ คือการเปลี่ยนชื่อธุรกิจเซ็กเมนต์ internet securities ให้เป็น internet finance เพื่อครอบคลุมธุรกิจให้มากขึ้น โดยมีทั้ง GMO Wallet ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 เป็น virtual currency สอดรับนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นที่หนุนการเงินดิจิทัลพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ส่วนจะนำไปใช้ใน Forex Trading ซึ่ง GMO Internet Group เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่มีแผนชัดเจนนักและยังมี internet bank ซึ่งจะเปิดตัวในราวเดือนมีนาคมปีหน้า และหากธุรกิจไหนสามารถเสริมกับธุรกิจที่มีในไทยได้ก็มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ทั้งหมดเพื่อหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้คึกคักพร้อมก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 อย่างแท้จริง
คลิกอ่านฉบับเต็ม "เปิดตัว Z.com พร้อมหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine