รู้จัก "Linda Liukas" โปรแกรมเมอร์หญิงผู้เชื่อมโลกแห่งคอมพิวเตอร์กับจินตนาการของเด็กๆ - Forbes Thailand

รู้จัก "Linda Liukas" โปรแกรมเมอร์หญิงผู้เชื่อมโลกแห่งคอมพิวเตอร์กับจินตนาการของเด็กๆ

PR / PR NEWS
15 Jun 2019 | 06:00 PM
READ 4503

ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันและการทำงานของคนส่วนใหญ่ ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จนถูกเรียกว่าเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งจำเป็นต่ออนาคต

โดยเฉพาะทักษะในการเขียนโปรแกรม (programming skills) ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของหลายๆ ประเทศ เช่น ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย ที่มีการบรรจุวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับ โดยร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านดิจิทัล พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้ จากการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ได้มีคนที่พยายามเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และการเขียนโปรแกรมแก่เด็กๆ โดยไม่ต้องพึ่งคอมพิวเตอร์ หนึ่งในนั้นคือ Linda Liukas

Linda Liukas หญิงสาวชาวฟินแลนด์วัย 33 ปี ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Forbes ให้เป็น 1 ใน 50 ผู้หญิงที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของยุโรปประจำปี 2018 (Europe’s Top 50 Women in Tech 2018) และล่าสุดยังได้รับรางวัลผู้มีบทบาทสำคัญด้านเทคโนโลยีแห่งปี 2019 (Technology Playmaker of the Year 2019) จาก Booking.com อีกด้วย

เธอเป็นทั้งโปรแกรมเมอร์ นักเขียน นักวาดภาพ ที่เป็นที่รู้จักจากหนังสือภาพชุด Hello Ruby ที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจหลักพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมผ่านเรื่องราวการผจญภัยเปี่ยมจินตนาการ เธอยังมีส่วนช่วยผลักดันให้วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับของโรงเรียนในฟินแลนด์ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Rails Girls องค์กรส่งเสริมการเรียนเขียนโปรแกรมให้กับผู้หญิงใน 300 เมืองทั่วโลก และเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาให้กับหลายประเทศอีกด้วย

Linda ได้รู้จักโลกของการเขียนโปรแกรมครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี จากการตัดสินใจสร้างเว็บไซต์ขึ้นเพื่อตอบสนองความหลงใหลคลั่งไคล้ที่เธอมีต่อ “Al Gore” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เธอศึกษาการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้รู้ว่าเธอสามารถสร้างบางสิ่งขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้อะไรเลยนอกจากถ้อยคำ และการเขียนโปรแกรมคือการสร้างจักรวาลที่เธอสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้เอง

ในขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย Aalto ในกรุง Helsinki ประเทศฟินแลนด์ เธอได้ศึกษาหลายแขนงวิชา เช่น เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ธุรกิจ สื่อสารมวลชน และทางมหาวิทยาลัยมีโครงการส่งนักศึกษาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา เธอจึงไปเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งเรียนการเขียนโปรแกรมด้วย เธอจึงได้รู้จักภาษาเขียนโปรแกรมที่มีชื่อว่ารูบี้ (Ruby) ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางอาชีพของเธอในเวลาต่อมา โดยนำไปสู่การก่อตั้ง Rails Girls ในปี 2010

Rails Girls เริ่มต้นจากกิจกรรมช่วงสุดสัปดาห์ที่ Linda สอนการเขียนโปรแกรมให้กับเพื่อนๆ โดยใช้เว็บแอพพลิเคชันที่เรียกว่า Ruby on Rails เธอร่วมก่อตั้ง Rails Girls ขึ้นมาด้วยความเชื่อว่าผู้หญิงสามารถเป็นนักเขียนโปรแกรมที่เก่ง เพราะมีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนักสื่อสารชั้นยอด ทั้งนี้ ผู้หญิงที่มาเรียนรู้กับ Rails Girls มีตั้งแต่อายุ 11-65 ปี จาก 227 ประเทศ

การเรียนภาษารูบี้แม้จะน่าเบื่อและเต็มไปด้วยคำศัพท์เฉพาะทาง แต่เมื่อเจอเรื่องที่ไม่เข้าใจ Linda มีวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจ นั่นคือ เธอสร้างตัวตนให้มันเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบ ชื่อ รูบี้ แล้วคิดว่าจะอธิบายเรื่องเหล่านั้นให้เด็กคนนี้เข้าใจได้อย่างไร จากนั้นจึงวาดออกมาเป็นภาพ เธอโพสต์ภาพวาดเกี่ยวกับรูบี้ลงในบล็อกส่วนตัวจนมีผู้ติดตามมากขึ้น และแนะนำให้เธอนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก

Linda จึงประกาศระดมทุนที่เว็บไซต์ Kickstarter โดยตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เพียง 24 ชั่วโมงแรกก็ระดมทุนได้ถึง 100,000 ดอลลาร์ และในที่สุดสามารถระดมทุนได้กว่า 380,000 ดอลลาร์ กลายเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ระดมทุนได้มากที่สุดในปี 2014 เป็นที่มาของหนังสือภาพ “Hello Ruby” ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 4-10 ปี ถ่ายทอดเรื่องเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรมผ่านเรื่องราวของตัวละครเอกคือเด็กผู้หญิงผมแดงผู้ฉลาดแสนซนชื่อ รูบี้ ซึ่งออกผจญภัยตามหาอัญมณีวิเศษที่หายไป ระหว่างทางรูบี้ได้ผูกมิตรกับเสือดาวหิมะผู้โดดเดี่ยว กลุ่มหุ่นแอนดรอยด์ช่างพูด สุนัขจิ้งจอกไฟที่ชอบจัดปาร์ตี้ และนกเพนกวินผู้ชาญฉลาด

 

ความสำเร็จของ Linda Liukas

Hello Ruby เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ติดอันดับขายดีที่สุดในหลายประเทศทั่วโลก มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 25 ภาษา และมีเล่มต่อตามมาอีกหลายเล่ม โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) รวมถึงมีการเพิ่มเติมคู่มือกิจกรรม เกม อธิบายคำศัพท์ เพื่อให้พ่อแม่สามารถสนุกกับลูกๆ ได้ หรือผสานเข้ากับกิจกรรมในโรงเรียน เช่น การเต้นประกอบเพลง การถักนิตติ้ง ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แล้ว ยังได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ เช่น การแยกย่อยปัญหาใหญ่ๆ ออกเป็นปัญหาเล็ก แล้วจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การร่วมมือกับผู้อื่น การเล่าเรื่อง และการคิดอย่างสร้างสรรค์

Linda กล่าวว่าความคิดที่ว่าการเขียนโปรแกรมเหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงนั้นไม่จริงเลย นักเขียนโปรแกรมคนแรกของโลกคือผู้หญิงชื่อ Ada Lovelace เธอเป็นลูกสาวของ Lord Byron ซึ่งเป็นกวี ส่วนแม่ของเธอเป็นนักคณิตศาสตร์ พื้นเพที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขและบทกวีนั่นแหละที่ช่วยให้เธอสามารถสร้างภาษาเขียนโปรแกรมขึ้นมาเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม Linda ไม่ได้คิดว่าเด็กๆ ควรใช้เวลาทั้งหมดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่เธอต้องการกระตุ้นให้พวกเขาครุ่นคิดว่า พวกเขาจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร เธอกล่าวว่าฉันให้เด็กๆ ลองสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นจากกระดาษ หรือออกแบบแอปพลิเคชันด้วยมือ มันเป็นเรื่องของจินตนาการมากกว่า

ภูมิภาคสแกนดิเนเวียเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยี เช่น Skype, Linux, Nokia และมีวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่แข็งแรง ฉันจึงอยากผสมผสานศิลปะการเล่าเรื่องกับเรื่องของซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้เด็กๆ สนใจเทคโนโลยีในมิติที่มากกว่าด้านเทคนิค ฉันเชื่อว่าเรื่องเล่าเป็นส่วนสำคัญของวัยเด็ก ทุกคนมีเรื่องเล่าที่ทำให้รู้สึกว่าโลกคือสิ่งมหัศจรรย์ และเต็มไปด้วยความเป็นไปได้

พบกับ Linda Liukas หนึ่งในบุคคลระดับหัวกะทิที่จะมาร่วมพูดคุยในงาน Techsauce Global Summit 2019 งานประชุมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับแถวหน้าของเอเชีย ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://summit.techsauce.co