ฟูจิตสึกางแผนรุกบริการ “ดิจิทัล โซลูชันส์” ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 55% ภายในปี 2565 - Forbes Thailand

ฟูจิตสึกางแผนรุกบริการ “ดิจิทัล โซลูชันส์” ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 55% ภายในปี 2565

ฟูจิตสึฉายภาพภูมิทัศน์โจทย์ผู้ประกอบการไทยด้านระบบไอทีเปลี่ยน หันหัวเรือบุกบริการแบบ “ดิจิทัล โซลูชันส์” ครบวงจร เพิ่มมูลค่าต่อโครงการ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนในรายได้เป็น 55% ใน 2 ปี กระจายฐานลูกค้าสู่โรงงานที่ไม่ใช่สัญชาติญี่ปุ่น และลูกค้าภาคธุรกิจอื่น

Toshiro Miura กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่ทั้งเครือ ต้องการให้ปี 2562 นี้เป็นปีของการสร้าง “Trust” หรือความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่กำลังก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยฟูจิตสึจะเน้นการสนองตอบความต้องการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าทั่วโลก สำหรับประเทศไทย Miura กล่าวถึงยอดขายของบริษัทในปี 2561 ทำยอดขายไป 3,235 ล้านบาท (ทั้งนี้ ฟูจิตสึนับปีงบประมาณตั้งแต่ 1 เมษายน 2561-31 มีนาคม 2562) และตั้งเป้าให้ปี 2562 ทำยอดขาย 3,500 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7%
เป้าหมายปี 2562 ของฟูจิตสึ (ประเทศไทย) คาดการณ์ยอดขาย 3,500 ล้านบาท
 

ขายงานโปรเจ็กต์ครบวงจร “ดิจิทัล โซลูชันส์”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการสร้างยอดขายในปี 2562-65 ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดย Miura กล่าวว่าบริษัทจะหันมาเน้นธุรกิจการบริการ โดยเน้นหนักที่ 4 เสาหลักของการให้บริการดิจิทัล โซลูชันส์ ได้แก่
  • ERP (Enterprise Resource Planning)
  • Managed Service เช่น บริการคลาวด์, Backup as a Service (BaaS)
  • Security
  • Digital Innovation
ปี 2561 ฟูจิตสึไทยมียอดขายหลักจากการจำหน่ายอุปกรณ์ ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ให้ลูกค้า และขาย software license โดยที่ธุรกิจการบริการดิจิทัล โซลูชันส์ มีสัดส่วนในยอดขายรวม 27% เท่านั้น ปี 2562 นี้ธุรกิจดิจิทัล โซลูชันส์มีเป้าหมายเติบโตขึ้น 12% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่มากกว่ายอดขายรวมของบริษัท และมีเป้าหมายให้สัดส่วนของธุรกิจนี้ในรายได้รวมเพิ่มเป็น 55% ภายในปี 2565
ดิจิทัล โซลูชันส์ ฟูจิตสึ
Toshiro Miura กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด
ด้าน ไกวัลย์ บุญเสรฐ หัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัล โซลูชันส์ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้าว่า เมื่อปี 2558 ลูกค้ายังต้องการระบบแบบเดิมคือการใช้เซิร์ฟเวอร์หลังบ้านของตัวเอง กระทั่งปี 2559-60 ลูกค้าเริ่มหันมาใช้ระบบคลาวด์ ยินยอมการแบ่งพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับผู้อื่น ซึ่งฟูจิตสึสามารถตอบสนองได้ด้วยดาต้า เซ็นเตอร์ที่มี 2 แห่งที่บางนาและนวมินทร์ แต่ในปี 2561 ความต้องการลูกค้ามีโจทย์ใหม่ๆ อีก เช่น ลูกค้ามีการขยายสาขาไปทั่วโลกและต้องการการติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ต้องการทราบข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายของตนได้รวดเร็ว ต้องการปรับโครงสร้างองค์กรโดยวิเคราะห์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทำให้ฟูจิตสึต้องมีการรวบรวมบริการให้ครบวงจร “ปี 2562 นี้เราจึง integrate ทั้ง 4 เสาหลักเข้ามารวมเพื่อให้บริการที่จะนำไปสู่การเกิด Trust ตามวิสัยทัศน์เครือ ต่อไปนี้ไม่ใช่การรับงานติดตั้ง software box และจบอีกต่อไปแล้ว” ไกวัลย์กล่าว “การบริการครบวงจรยังทำให้ได้มูลค่าต่อโครงการสูงขึ้นด้วย”  

พุ่งเป้าโรงงานที่ไม่ใช่สัญชาติญี่ปุ่น และภาคธุรกิจอื่นๆ

เอ็มดี Miura ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเป้าหมายการขายโครงการของฟูจิตสึในไทย ในปี 2561 มีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว 34% เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% จากปีก่อนหน้า และฟูจิตสึไทยจะเพิ่มลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 40% และในปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 55% โดยลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิต โดยเฉพาะโรงงานรถยนต์ เช่น โตโยต้า, อีซูซุ, ฮอนด้า, นิสสัน ซึ่งบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นลูกค้าโรงงานต่อไป แต่จะเสริมด้วยภาคธุรกิจอื่นๆ ที่น่าจะสนใจใช้งานระบบ เช่น กลุ่มรีเทล ธนาคาร และภาครัฐ
ไกวัลย์ บุญเสรฐ หัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัล โซลูชันส์ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด
ไกวัลย์เสริมว่า กลุ่มโรงงานที่ไม่ใช่สัญชาติญี่ปุ่น กลุ่มหลักคือโรงงานไทย ซึ่งบริษัทได้จัดทีมขายเข้าไปรุกกลุ่มนี้แล้ว และปีนี้จะเน้นบริษัทระดับกลาง (มีพนักงาน 500-1,000 คน) ให้มากขึ้น เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่ยังมีโอกาสการขายและเป็นกลุ่มใหญ่ในตลาดประเทศไทย  

การเมืองไม่นิ่งกระทบน้อย ปัจจัยลบคือตลาดเกิดสงครามราคา

ด้านสภาวะตลาดขณะนี้ โดยเฉพาะปัจจัยการบริหารภาครัฐที่มีความไม่แน่นอนเนื่องจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการและเข้าบริหารงาน  ไกวัลย์มองว่า กระทบกับบริษัทไม่มาก มีโครงการน้อยกว่า 5% ที่เกิดการชะลอตัดสินใจ เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ของลูกค้ามีมูลค่าสูง 40-50 ล้านบาทและดำเนินการระยะยาวทำให้ยังมีแบ็กล็อกอยู่ในพอร์ต แต่กระทบบ้างจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงอย่างกลุ่มรีเทล แต่ปัจจัยลบที่มีผลต่อบริษัทมากคือการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง แม้ว่าคู่แข่งที่มีมาตรฐานระดับโลกจะมีไม่มากโดยมีต่ำกว่า 10 ราย แต่ทำให้เกิดการแข่งขันราคามากและกำไรต่ำลง ดังนั้นปีนี้ฟูจิตสึไทยต้องบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจึงจะอยู่รอดได้ในตลาด   Forbes Facts
  • การก้าวออกจากน่านน้ำลูกค้าบริษัทญี่ปุ่น จะทำให้ฟูจิตสึไม่มีข้อได้เปรียบในแง่สัญชาติบริษัทกับลูกค้ารายอื่น จึงเป็นความท้าทายยิ่งในช่วงต่อจากนี้
  • ที่ผ่านมา ฟูจิตสึไทยมีลูกค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์พัฒนาโครงการเฉพาะแบบ co-creation เช่น ปูนอินทรี, ธ.ไทยพาณิชย์, FOMM, ซีพีเอฟ, กรมชลประทาน, โรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ศรีราชา เป็นต้น
  • Toshiro Miura เข้ามารับตำแหน่งเอ็มดีฟูจิตสึไทยในปี 2561 ก่อนหน้านี้เขาเป็นหัวหน้าสาขาของฟูจิตสึในเมียนมา และเป็นลูกหม้อที่ทำงานกับบริษัทนี้มานาน 32 ปี
  • ฟูจิตสึขยายสาขามาเปิดสำนักงานในไทยตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และอีก 2 สาขาที่อมตะนคร และ อ.ศรีราชา โดยมีพนักงานรวม 430 คน