บุกสำนักงานใหญ่ DJI บริษัทจีนผู้ควบคุมตลาด ‘โดรน’ ค่อนโลก - Forbes Thailand

บุกสำนักงานใหญ่ DJI บริษัทจีนผู้ควบคุมตลาด ‘โดรน’ ค่อนโลก

DJI หรือ Da-jiang Innovations Science and Technology ก่อตั้งในปี 2006 และใช้เวลาน้อยกว่าสิบปีในการขึ้นเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ของอากาศยานไร้คนขับหรือ “โดรน” ทั่วโลก จนถึงปี 2017 นี้ตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ของ DJI ก็ยังคงแรงดีไม่มีตก ขณะที่ Frank Wang หรือ Wang Tao ผู้ก่อตั้ง ติดอันดับที่ 11 ของมหาเศรษฐีโลกวัยต่ำกว่า 40 ปี จัดอันดับโดย Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ Forbes Thailand ได้รับเทียบเชิญจากธนาคารกสิกรไทยในโอกาสที่ KBank ได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นธนาคารท้องถิ่นของจีน ในครั้งนี้กสิกรไทยนำทัพผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมโชว์รูมโดรน ณ สำนักงานใหญ่ DJI เมือง Shenzhen ประเทศจีน บริษัทผลิตโดรนที่สร้างยอดขายได้ปีละกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
โชว์รูม DJI
ภายในโชว์รูมโดรน ณ สำนักงานใหญ่ของ DJI เมือง Shenzhen
Frank Wang ก่อตั้งบริษัทในฐานะสตาร์ทอัพตั้งแต่ปี 2006 ด้วยความคลั่งไคล้ในอากาศยานไร้คนขับ เขาเริ่มสร้างโดรนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาที่ Hong Kong University of Science and Technology และใช้เวลาเพียง 9 ปีขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดโดรนทั่วไปและโดรนเชิงพาณิชย์ระดับโลก ทุกสปอตไลต์ต่างหันมาจับจ้องหนุ่มชาวจีน อภิมหาเศรษฐีคนใหม่ จนถึงปี 2017 DJI แผ่ขยายอาณาจักรไปทั่วโลก บริษัทของ Wang มีสำนักงานใหญ่ที่ Shenzhen ประเทศจีน และมีสำนักงานอีก 17 แห่งใน 6 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นแหล่งเงินสำคัญสำหรับโดรนเชิงพาณิชย์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ เพราะเป็นที่ตั้งของ Hollywood ปัจจุบัน DJI มีบุคลากรรวม 11,000 คน แต่ยังคงตั้งฐานผลิตแห่งเดียวที่ Shenzhen เพื่อความคล่องตัวในการทดลองผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ
โดรน DJI
พนักงาน DJI ทดสอบการบินของโดรนรุ่น Phantom ให้ชม
ระบบ Active Track โดรน DJI
ระบบ Active Track บินติดตามวัตถุที่ต้องการถ่าย
ฝ่ายสื่อสารของ DJI ผู้นำเยี่ยมชมโชว์รูม อธิบายว่า DJI มีการพัฒนาโดรนออกมาทั้งหมด 8 รุ่น และยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แว่น DJI Goggles ให้ผู้สวมใส่สามารถมองภาพผ่านกล้องของโดรนได้แบบ real time, Osmo อุปกรณ์สำหรับช่วยให้มือถือถ่ายวิดีโอได้สวยงามและเป็นมืออาชีพ, Ronin เครื่องมือช่วยให้การถ่ายวิดีโอของกล้องมืออาชีพในลักษณะ hand-held เรียบลื่นมากขึ้น รวมถึงกล้องสำหรับติดตั้งกับโดรนมืออาชีพ (Professionals) อีกหลายรุ่น
Goggles โดรน DJI
แว่น DJI Goggles
ย้อนกลับไปมองประวัติการเติบโตที่ผ่านมา DJI เริ่มทำรายได้เป็นกอบเป็นกำเมื่อปี 2013 หลังจากโดรนรุ่น Phantom 1 ออกสู่ตลาด ปีนั้นรายได้ของ DJI พุ่งจาก 26 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 130 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2015 เมื่อโดรนรุ่น Phantom 3 วางขายในตลาดก็กลายเป็นแรงส่งให้รายได้ของ DJI ทะยานไปถึง 920 ล้านเหรียญสหรัฐ ความพิเศษของรุ่น Phantom ถือเป็นโดรนสำหรับผู้ใช้ระดับทั่วไป (Consumer) แต่มีศักยภาพสูงจากความละเอียดภาพ 20 ล้านพิกเซล จึงทำให้ผู้ใช้มืออาชีพมีการนำไปใช้เชิงธุรกิจบางประเภท อาทิ ถ่ายภาพมุมสูงของอสังหาริมทรัพย์, สำรวจฟาร์มสัตว์ซึ่งมีขนาดใหญ่ ช่วยให้การตรวจตรารักษาทำได้ง่ายกว่าการใช้แรงงานคน ฝ่ายสื่อสารของ DJI เปิดเผยว่า รุ่นที่ขายดีที่สุดของ DJI ปัจจุบันนี้คือ Phantom รุ่นสูงสุดของระดับผู้ใช้ทั่วไป, Mavic โดรนที่สามารถพับเก็บได้ และ Spark โดรนรุ่นเล็กสุดเหมาะกับการพกพาท่องเที่ยว
โดรน DJI
(บน) รุ่น Mavic (ล่าง) รุ่น Spark อีกสองรุ่นที่ขายดีที่สุดของ DJI ร่วมกับรุ่น Phantom
ภารกิจสูงสุดของ DJI คือการพัฒนา Aerial Solution ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแค่การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ อีกต่อไป หลังจากเมื่อปี 2015 DJI พัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรขึ้น โดยมองว่าโดรนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำหน้าที่แทนคนได้ในงานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของมนุษย์ ตัวอย่างงานของโดรนสำหรับเกษตรกรรม เช่น ใช้พ่นยาฆ่าแมลงในไร่นา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาชาวนาชาวสวนของจีนที่เจ็บป่วยเนื่องจากยาฆ่าแมลงปีละกว่า 5 แสนราย
โดรน DJI
โดรนเพื่อการเกษตร ติดถังใส่ยาฆ่าแมลง
DJI ยังมีกรณีตัวอย่างของการส่งโดรนที่ถ่ายวิดีโอคุณภาพสูง ความละเอียดคมชัดระดับ 4K ว่าสามารถใช้ในงานกู้ภัยได้ด้วย โดยเป็นผู้ช่วยมนุษย์เข้าไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่เข้าถึงยาก เช่น เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้มนุษย์เตรียมวัสดุซ่อมแซมได้ตั้งแต่ก่อนขึ้นไปบนเสาส่งสัญญาณ หรือใช้สำรวจเส้นทางการเข้าไปกู้ภัย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์ เตรียมอุปกรณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้อง และลดระยะเวลาการทำงาน ในทำนองเดียวกัน โดรนยังมีประโยชน์มากในปัญหาอุทกภัย เพราะสามารถขนส่งเครื่องยังชีพให้กับผู้ประสบภัยได้ทุกพื้นที่ที่คนเข้าถึงยากและไปได้รวดเร็วกว่า จากวันที่ Frank Wang พัฒนาโดรน มันยังถูกมองเป็น “ของเล่น” และผูกติดอยู่กับงานภาพและวิดีโอ แต่วันนี้จนถึงอนาคต โดรนอาจจะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆ มากกว่าที่เคยคาดคิด