ธนพงษ์ ณ ระนอง เน้น Invest - Nurture – Exit - Forbes Thailand

ธนพงษ์ ณ ระนอง เน้น Invest - Nurture – Exit

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Sep 2017 | 02:52 PM
READ 5895
หนึ่งใน VC ตัวจริงผู้ปลุกปั้นสตาร์ทอัพไทยอย่าง ธนพงษ์ ณ ระนอง แนะเลือก “คน” เป็นกุญแจดอกแรกไขสู่ความสำาเร็จ ย้ำหากหวังคว้าชัย VC ต้องทำครบ 3 ทั้งการลงทุน (invest) การสนับสนุนช่วยเหลือให้เติบใหญ่ (nurture) และช่วยเสาะแแสวงหาเงินทุนก้อนใหม่ในการระดมทุนรอบถัดไป (exit) เพื่อเติบโตในอัตราเร่งอย่างต่อ จากประสบการณ์ลงทุนในสตาร์ทอัพตลอด 6 ปี ในฐานะ Corporate VC ธนพงษ์ ณ ระนอง นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน พบว่าปัจจัยที่ทำให้ VC ประสบความสำเร็จคือดูคน/ทีมงานเป็น เพราะทีมที่เก่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทได้ เห็นได้ชัดว่าผู้ก่อตั้งและทีมงานที่ดีจำเป็นต้องมีความรู้ มี mindset และ passion มุ่งหวังอยากสร้างความสำเร็จให้บริษัท หากผู้ก่อตั้งมี 2 สิ่งนี้ บริษัทก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น “ตอนที่เราคุยกับสตาร์ทอัพ ต้องมั่นใจว่าเขาเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์นี้ มีประสบการณ์มีความรู้ที่เหมาะสม หากเขาบอกกับเราในวันหนึ่งว่า ไม่เอาแล้ว อยากออกไปทำสินค้าตัวใหม่ คงไม่ใช่ อย่างน้อยต้องอยู่สู้ด้วยกันจนถึงสุดท้าย ต้องสู้กับเราจนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วยอมแพ้ทั้งคู่นั่นล่ะ ถึงจะยอม” กว่าจะถึงจุดที่ยอมทุ่มทุนให้สตาร์ทอัพ VC จะใช้เวลาเรียนรู้นิสัยใจคอของสตาร์ทอัพอย่างน้อยเกือบ 3-4 เดือน ในระหว่างการขอข้อมูลเพิ่มเติม บางบริษัทอาจเคยพบกันมาในวงการนานถึง 1-2 ปี แล้วแอบติดตามความคืบหน้าอย่างเงียบๆ ดูเหมือนไม่สนใจ รอจนเข้าสู่ stage ที่มั่นใจว่าลงทุนแล้วคุ้มค่าจึงกลับไปคุยอีกครั้ง ซึ่งสัญชาตญาณมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจมากทีเดียว บางครั้งสินค้าดี ทีมงานเก่ง คุณสมบัติยอดเยี่ยมทุกประการ แต่เคมีไม่ตรงกัน เช่น มีความรู้สึกว่าสตาร์ทอัพไม่ฟัง คุยกันไม่รู้เรื่องก็เป็นเหตุผลที่ปฏิเสธการลงทุนได้ ธนพงษ์กล่าวว่า การเลือกลงทุนในทีมงานที่ถูกต้องเป็นเพียงปัจจัยแห่งความสำเร็จในขั้นตอนแรกเท่านั้นเอง VC ยังมีหน้าที่แท้จริงอีก 2 ขั้นตอน ได้แก่ การช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่ชำนาญ พาไปหาเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น และสิ่งสำคัญสุดท้ายคือการให้ความช่วยเหลือระดมทุนในรอบต่อไปซึ่งการ exit จากสตาร์ท อัพ ปกติมี 3 วิธี คือ IPO (ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในไทย), การซื้อกิจการที่พบบ้างแต่ไม่มาก, เจ้าของขอซื้อคืนซึ่งกรณีนี้มีค่อนข้างน้อย VC ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบมีวิธีการพิจารณาการลงทุนในสตาร์ทอัพแตกต่างกันไป เช่น บริษัทร่วมลงทุน (corporate VC) มักเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ใน stage หลังๆ ซึ่งมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ในมือแล้ว เพราะสินค้า/บริการนั้นต้องมีความเชื่อมโยงกับบริษัทร่วมลงทุน เป็นการลงทุนซึ่งไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นตัวเงินอย่างเดียว ส่วน VC ที่เป็นกองทุนที่ไม่ใช่องค์กร จะเน้นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนด้านตัวเงินเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กองทุนที่เน้นผลตอบแทนเป็นตัวเงิน กลุ่มนี้จะไม่ศึกษารายละเอียดของสตาร์ทอัพมากนัก จะดูเพียงว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่ดี เคยประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เมื่อพบโมเดลลักษณะนี้ในประเทศก็อาจจะลงเงินเลย โดยเน้นลงเงินจำนวนค่อนข้างสูงส่วน VC อีกแบบคล้ายกับนักลงทุนคุณค่า (value investor) ที่ศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจ ไม่ว่า VC ประเภทไหนก็ต้องเข้าใจ “ชีวิต” ของสตาร์ทอัพว่าแตกต่างจาก SME และบริษัททั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ที่มีคนมาขอซื้อบ่อยๆ ต้องเข้าใจว่าการลงทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ใช้เวลาลงทุน 5-10 ปีกว่าจะ exit จากกิจการ โดยกำไรอาจติดลบในช่วง 2 ปีแรกซึ่งเป็นระยะเวลาใช้จ่ายเงินเพื่อทำกำไรในภายหลัง หากนักลงทุนตื่นตกใจในช่วงระยะเวลานี้จนเข้าไปก้าวก่ายเรื่องการบริหารงาน อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสตาร์ทอัพดังนั้น ในระยะนี้ VC ควรให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น เช่น การตลาด การสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กรโดยไม่ต้องสนใจว่าผลประกอบการจะติดลบ เพราะเป็นธรรมชาติของสตาร์ทอัพ สิ่งที่ธนพงษ์เป็นห่วงมากที่สุดในฐานะนายกสมาคมฯ คือ การ exit จากสตาร์ทอัพ ไทยยังมีให้เห็นน้อย อาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่โดยเฉพาะ VC ที่ลงทุนในระยะต้นๆ ไม่กล้าลงทุน ส่งผลให้ฐานของสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นแคบลง และผลผลิตที่สตาร์ทอัพจะเพิ่มให้ประเทศไทยน้อยลงเรื่อยๆ สมาคมฯ และตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้หารือถึงการตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายใหม่ที่ช่วยให้สตาร์ทอัพและ VC ใช้เป็นช่องทาง exit จากกิจการ ซึ่งกิจการที่มาซื้อขายตรงนี้คงเป็นสตาร์ทอัพคุณภาพ มีสินค้า รายได้ชัดเจนแต่ตัวกำไรอาจยังไม่เพียงพอที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai รวมถึงการผลักดันให้นักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายดังกล่าว ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเท่าเทียมกับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 ประเภท ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณา และมีความเป็นไปได้สูงที่จะอนุมัติ “การเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนก็ช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตต่ออย่างยั่งยืนได้ เพราะช่วยดึงดูด angel investor และ VC ให้มาลงทุนในสตาร์ทอัพที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกมากขึ้น และหากสตาร์ทอัพบางรายสามารถ exit ได้เร็ว ก็จะกลับเข้ามาช่วยสตาร์ทอัพรุ่นน้องได้ ช่วยให้กิจการหน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้มากขึ้นเช่นกัน” ธนพงษ์กล่าวด้วยประกายตามีความหวัง  

สตาร์ทอัพแบบไหนที่น่าร่วมลงทุน

  1. สินค้า/บริการที่ตลาดมีความต้องการที่แท้จริง: เป็นความต้องการที่มีการเติบโตและมากพอที่จะสร้างความสำเร็จในอนาคต
  2. solution ที่ตอบโจทย์ได้ทันที ป้องกันการลอกเลียนได้ (ไม่แนะนำเทคโนโลยีที่ซื้อจากคนอื่น ซึ่งไม่ได้พัฒนาเอง)
  3. มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งเช่น คอนเน็คชั่นพิเศษที่แข็งแกร่งสิทธิพิเศษที่ป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาทำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งป้องกันการลอกเลียนแบบได้ง่าย
  4. เป็นแบบจำลองทางธุรกิจที่ผ่านการรับรองแล้ว: สร้างรายได้ในอนาคตด้วยอัตรากำไรที่เป็นบวก หากมีรายได้ที่เข้ามาต่อเนื่องทุกเดือนยิ่งดี มีโอกาสขยายตลาดได้ในอนาคต
  5. ทีมงานที่เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องนั้น (“A-team” people) เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะทีมที่ดีจะช่วยแก้ไขปรับเปลี่ยนสินค้า/ผลิตภัณฑ์ได้ทันท่วงทีโดยทีมงานควรมีคุณสมบัติดังนี้ มีความเป็นผู้ประกอบการ, มีความเป็นเลิศในด้านนั้น, มีทักษะการบริหารจัดการ, เคมีตรงกันกับผู้ร่วมลงทุน
  6. การมี synergy กับธุรกิจที่มีอยู่ของบริษัทร่วมลงทุนได้ (เฉพาะกรณีบริษัทร่วมลงทุน)
 

เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร


คลิกอ่านบทความด้านการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine