ทรูมันนี่-Alipay รุกเพิ่มร้านค้ารับชำระด้วย e-Wallet เป็น 1 แสนจุด - Forbes Thailand

ทรูมันนี่-Alipay รุกเพิ่มร้านค้ารับชำระด้วย e-Wallet เป็น 1 แสนจุด

อีกก้าวของ ทรูมันนี่-Alipay ที่กำลังวางกลยุทธ์เพื่อให้มีการใช้ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในไทยมากขึ้น บริษัทพันธมิตรทั้ง 2 แห่งได้ร่วมกันแต่งตั้งตัวแทน 6 ราย หลากหลายทั้งบริษัทไทยและจีนเพื่อสรรหาจูงใจร้านค้าทั่วไปให้เปิดบริการรับชำระค่าสินค้าด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทรูมันนี่-Alipay มากขึ้น ตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ไปถึง 1 แสนจุดรับชำระภายในสิ้นปีนี้

ทรูมันนี่ เริ่มต้นในปี 2003 เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนกลุ่มทรูในการเติมเงิน-ชำระค่าบริการต่างๆ ของกลุ่ม ก่อนจะยกระดับเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทรูมันนี่ อี-วอลเล็ท เมื่อ 4 ปีก่อน โดยผู้ใช้สามารถเติมเงินในทรูมันนี่และนำไปชำระค่าบริการอื่นๆ ได้มากกว่าเดิม อาทิ จ่ายค่าสินค้าที่เซเว่นอีเลฟเว่น ในทำนองเดียวกับ Alipay ที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีน ซึ่งเปิดดำเนินการมานับ 10 ปีแล้ว และเพิ่งเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น 20% ในแอสเซนด์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของทรูมันนี่เมื่อปีก่อน และเปิดจุดรับชำระสินค้าด้วย Alipay ในไทย รองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ
ตัวแทน 6 รายในการสรรหาร้านค้าเปิดจุดรับชำระค่าสินค้า-บริการด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทรูมันนี่และ Alipay
ทำให้ปี 2560 นี้ทั้งสองบริษัทพันธมิตรวางกลยุทธ์ร่วมกันแต่งตั้งตัวแทนสรรหา 6 รายดังกล่าว ได้แก่ บัซซี่บีส์, ฮวนยูจิ, จีมู่, เพย์วิง, ทรูยู และวงใน มีเดีย ด้วยโจทย์สำคัญคือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และจำนวนครั้งการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องขยายจุดรับชำระค่าสินค้าให้มากที่สุดก่อน โดย สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ทรูมันนี่เป็นประจำ (active users) อยู่ 2 ล้านราย และมีการใช้งาน 5-6 ครั้ง/คน/เดือน มีจุดรับชำระค่าสินค้า 12,000 จุดทั่วประเทศ โดยมากเป็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หลังจากแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขยายจุดรับในร้านค้าย่อยอื่นๆ คาดหวังเพิ่มจุดรับชำระไปให้ถึง 1 แสนจุดร่วมกันทั้งทรูมันนี่และ Alipay ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทรูมันนี่เพิ่มเป็นเท่าตัว
สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด (กลาง) และ พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ANT Financial Services Group (ขวา)
"เรามีจุดแข็งคือเราเข้าไปเติมช่องว่างในกลุ่มคนที่ไม่ต้องการใช้บัตรเครดิต หรือสมัครไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้ช่องทางชำระเงินที่ผูกกับบัญชีธนาคาร เพราะกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของเราสามารถทยอยเติมเงินเก็บไว้ได้ มีข้อดีคือสะดวก ไม่ต้องพกเงินสด และแม้จะซื้อของมูลค่าน้อยก็ใช้ได้ ซึ่งต่างจากการใช้บัตรที่ร้านค้ามักจะคิดมูลค่าขั้นต่ำหากต้องการใช้" สราญรัตน์กล่าว กลยุทธ์ในช่วงนี้ต้องดึงร้านค้าพันธมิตรที่จะเปิดรับชำระด้วยทรูมันนี่ให้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ผู้ใช้จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อผู้ใช้มองว่ามีความสะดวกสบายใช้ได้หลายจุด ก็จะเริ่มหันมาใช้กระเป๋าเงินทรูมันนี่มากขึ้น ด้านคู่แข่งกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบ e-Payment แบรนด์อื่น ยอมรับว่ามีการแข่งขันสูงเพราะบริษัทรายใหญ่มีกว่า 30 ราย และรายเล็กอีกจำนวนมาก แต่ยังเชื่อว่าทรูมันนี่มีข้อได้เปรียบเพราะเริ่มต้นให้บริการมาก่อน และหลังมีพันธมิตรคือ Alipay ทำให้ได้องค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาหลายด้าน
ตัวอย่างเครื่องหมายในร้านที่รับชำระค่าสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น Alipay
ด้าน พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ANT Financial Services Group ผู้ให้บริการ Alipay กล่าวว่า Alipay มีผู้ใช้ชาวจีน 450 ล้านราย และมีชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกว่า 10 ล้านรายต่อปี ทำให้ Alipay เข้ามาเปิดจุดรับชำระอำนวยความสะดวก โดยปัจจุบันมี 15,000 จุด และมีผู้ใช้ชาวจีนที่ใช้ Alipay ชำระค่าสินค้าในไทยประมาณ 5 ล้านรายต่อปี หากมีจุดรับชำระสินค้าเพิ่มเป็น 1 แสนจุด คาดว่าจะจูงใจและสร้างความรับรู้ให้ชาวจีนที่เข้ามาไทยใช้จ่ายผ่าน Alipay เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจีนมักจะใช้จ่ายด้วย Alipay ในร้านค้าดิวตี้ฟรี ร้านสะดวกซื้อ ช็อปปิ้ง และสปา และจุดที่ต้องการขยายให้มากขึ้นคือกลุ่มร้านอาหาร "เราจะไปด้วยกันทั้ง 2 กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หลายพื้นที่ที่มีทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจีนเข้าไปใช้จ่าย เช่น แหล่งท่องเที่ยวอย่างถนนนิมมานเหมินท์ที่เชียงใหม่ มีร้านอาหารและร้านค้ามากมายที่สามารถเปิดจุดรับชำระกับเราได้ทั้ง 2 แอพพลิเคชั่น" พิภาวินกล่าว