ดีแทคจัดทำ White Paper “เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์” ผลักดันร่วมวาระของรัฐบาล
รายงานหัวข้อ “เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ อินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคน” ได้ถูกนำเสนออย่างเป็นทางการในงาน Asia Pacific Digital Societies Policy Forum 2016 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2559 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและ สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ในรายงานฉบับดังกล่าวดีแทคได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและกำหนดเป็น 6 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี พ.ศ. 2563 ตลอดจนข้อเสนอแนะและบทพิสูจน์ทุกยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม
“การนำเสนอ ‘สมุดปกขาว’ หรือ ‘White Paper’ ในหัวข้อ ‘เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์’ เป็นคำมั่นสัญญาและแผนระยะยาวที่ดีแทคจะสนับสนุนประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงร่วมผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ สำหรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน เศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาค ในรายงานฉบับนี้ดีแทคจึงมุ่งเน้นที่จะสรรหาแผนงานในอนาคตที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ. 2563” ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าว
รายงานนี้จะช่วยผลักดันประสิทธิภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันสู่นวัตกรรมเชิงมหภาคและการเติบโตที่สำคัญของชาติ ซึ่งดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรายงาน White Paper ยังระบุถึงความท้าทายและโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของชาติ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือประเทศอื่นอีกด้วย
วิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อโครงการดิจิทัลไทยแลนด์
เศรษฐกิจดิจิทัลมีผลต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม และผลิตผลของตลาดแรงงาน การจ้างงานและความสามารถทางการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศอื่นๆ และเพื่อปฏิบัติตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พ.ศ. 2559 เพื่อการสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในประเทศไทย และเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งดีแทคได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ พร้อมข้อเสนอดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1: โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure)
ประเทศไทยยังมีอุปสรรคต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในแง่ของการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเครือข่ายดิจิทัลแบบพื้นฐาน (Fixed Infrastructure) และโมบายล์ (Mobile Infrastructure) ที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะในเทคโนโลยี 4G ดังนั้น ข้อเสนอแนะของดีแทคคือ รัฐบาลจะต้องพิจารณากำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) และจัดการประมูลคลื่นความถี่คลื่น 700, 850, 1800, 2300 และ 2600 MHz เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรทั้งแบบโครงสร้างพื้นฐานและอินเทอร์เน็ตบนมือถือในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในทุกระดับของสังคม และสะท้อนถึงการสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ภายในปี พ.ศ. 2559 จะนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์สู่ 30,000 หมู่บ้านทั่วประเทศเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งนี้ดีแทคยังสนับสนุนภาครัฐสำหรับการจัดทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในการสร้างเสาสถานีฐานในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำร่วมกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2: ระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Ecosystem)
เพื่อให้เศรษฐกิจไทยบรรลุเป้าหมายและเพิ่มศักยภาพสูงสุด เทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเข้าถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งถือเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 99 ของธุรกิจในประเทศไทย ในรายงานฉบับนี้ดีแทคได้ส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลของธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการโดยความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาดีแทคได้จัดตั้งโครงการ dtac Accelerate ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ และแอปพลิเคชั่นชั้นนำ มากมาย
ยุทธศาสตร์ที่ 3: เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสังคมที่เท่าเทียม (Digital Technology for an Equitable Society)
ใน พ.ศ. 2558 มีคนไทยจำนวน 48 ล้านคน ยังคงไม่ได้รับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและยังไม่ได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลประสบความสำเร็จ คือ เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต้องเป็นหนึ่งเดียวโดยมุ่งที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมืองและชนบท และเพิ่มรายรับของประชากรในชนบทโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย นอกจากการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของโครงการ Internet For All ข้อเสนอของดีแทคยังรวมถึงการเชื่อมต่อคนไทยจากการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชนสู่บริการด้านสุขภาพ การศึกษา การเงิน และการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 4: บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (eGovernment Services)
ปัจจัยหลักของโครงการดิจิทัลไทยแลนด์คือ ข้อมูลที่โปร่งใสและทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วในด้านบริการสาธารณะออนไลน์พื้นฐานต่างๆ โดยข้อมูลสาธารณะส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในส่วนของ “เครือข่ายซูเปอร์ไฮเวย์” แห่งชาติ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network - GIN) หรือ Super GIN กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งเพื่อเชื่อมต่อระบบข้อมูลรัฐที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลสาธารณะต่างๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้น และสนับสนุนรัฐบาล ดีแทคเสนอแนะทำความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ เช่นบริการเพย์สบาย (Paysbuy) ของดีแทคที่ขยายบริการด้านการเงินการธนาคารผ่านบริการบนมือถือ
ยุทธศาสตร์ที่ 5: ทุนมนุษย์ (Human Capital)
การสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทยนั้นอาจต้องชะงักด้วยช่องว่างในระบบการศึกษาและความพร้อมเชิงดิจิทัลของแรงงาน ความท้าทายหลักอีกประการของประเทศไทยคือการเสริมความแข็งแกร่งทั้งด้านความรู้ดิจิทัลและภาษาอังกฤษเพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่เชื่อมต่อ การศึกษาระดับสูงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง และต้องเริ่มจากการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานไอซีทีแก่ประชากรทั้งหมด ข้อเสนอทางหนึ่งคือให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ด้วยการจัดหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรบุคคลที่สามารถให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องและทันสมัย เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในโครงการเน็ตอาสาของดีแทค ที่มีอาสาสมัครเป็นผู้สอนการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 60 คน และช่วยเชื่อมต่อคนไทยมาแล้วกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 6: กรอบการทำงานองค์รวมเพื่อดิจิทัลไทยแลนด์ (Holistic Frameworks for a Digital Thailand)
เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประเทศไทยต้องการกรอบการทำงานองค์รวมที่สนับสนุนสำหรับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่จะกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ดีแทคเสนอแนะให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านกระบวนการที่โปร่งใสและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงความเป็นอิสระของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ผ่านการประมูลแข่งขันที่โปร่งใสควรเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย
TAGGED ON