จากการก่อสร้างและวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศ (MCT Submarine Cable) โดยความร่วมมือจาก 3 ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคม บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย บริษัท Telcotech กัมพูชา และ บริษัท Telekom Malaysia Berhad มาเลเซีย ด้วยงบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ในระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร ได้พร้อมเปิดให้บริการเต็มระบบพร้อมกันทั้ง 3 ประเทศในเดือนเมษายนจะที่ถึง
“ในหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของการสื่อสารมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงริเริ่มโครงการเอ็มซีทีขึ้น โดยมีพันธมิตรจากอีก 2 ประเทศเข้าร่วมด้วย ซึ่งเรามีนโยบายหลัก คือ ความเป็นกลางในการเข้าถึงโครงข่าย (Open Access) พร้อมสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบภาคพื้นดินและภาคพื้นน้ำ” ธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการโครงการเอ็มซีที (MCT) กล่าว
บมจ.ซิมโฟนี่ ได้ตั้งสถานีภาคพื้นดิน โมฬี เคเบิล แลนดิ้ง สเตชั่น บนหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณเคเบิลใยแก้วใต้น้ำจาก 2 ประเทศสู่สถานีภาคพื้นดิน เพื่อใช้ในโครงการเอ็มซีทีและสัญญาณเคเบิลใต้น้ำไปยังโครงข่ายอื่นๆ โดยจุดเชื่อมต่อสัญญาณเคเบิลใต้น้ำอยู่ห่างจากสถานีภาคพื้นดินออกไปในอ่าวไทยประมาณ 200 กิโลเมตร ก่อนจะเชื่อมสัญญาณต่อไปยังสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา และเชราติ้ง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แผนความตกลงในการร่วมมือ 3 ฝ่าย
“เราเตรียมความพร้อมด้านการติดตั้งอุปกรณ์และขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก รวมถึงเกตเวย์ที่มีอยู่ให้เพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้งานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน ช่วยยกระดับการสื่อสารและธุรกิจภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีที่รองรับการเชื่อมต่อทั้งรับ-ส่งข้อมูลได้สูงถึง 100 Gbps และรองรับการสื่อสารโทรคมนาคมในอาเซียนด้วยการขยายตัวได้มากถึง 30 Tbps เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางโทรคมนาคมของประเทศในกลุ่มอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้ไปสู่ระดับภูมิภาค"
โดยกลุ่มลูกค้าของ บมจ.ซิมโฟนี่ ในระยะเริ่มแรกจะเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมในประเทศ ก่อนขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ ทั้งนี้ลูกค้าในประเทศ อาทิ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Operator) ผู้ให้บริการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นๆ (Network Service Provider) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการเชื่อมต่อบริการระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการในการใช้บริการโครงข่ายที่มีความจุในการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก
หลังจากเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบในเดือนเมษายนนี้ ธีรรัตน์ คาดการณ์ว่าโครงการเอ็มซีทีจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 90 ล้านบาท และในปี 2561 ประมาณ 120-130 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 5-6 ปี โดยแผนขั้นต่อไป คือการรุกสู่ลูกค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอัพเปอร์อาเซียน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการกลุ่มใดก็ตาม
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซิมโฟนี่ให้ความสำคัญกับระบบเคเบิลใต้น้ำ เพราะเราเชื่อมั่นว่าเป็นระบบโครงข่ายที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากมีความเสถียรสูง เงินลงทุนและราคาในการให้บริการไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับโครงข่ายในระบบอื่นๆ” ธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิมโฟนี่ กล่าวเพิ่มเติม
อ่านเพิ่มเติม SYMC เดินเกมรุกอาเซียนเชื่อมพรมแดนการสื่อสารภูมิภาค