งานวิจัย Speak Easy เผย การสั่งการด้วยเสียง จุดเปลี่ยนต่อไปในยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

งานวิจัย Speak Easy เผย การสั่งการด้วยเสียง จุดเปลี่ยนต่อไปในยุคดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Dec 2017 | 10:04 AM
READ 5875

ผลการวิจัยทั่วโลกโดยเอเยนซีในเครือดับบลิวพีพี ได้แก่ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน, กันตาร์ และมายด์แชร์ เผย เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด คือ จุดเปลี่ยนในยุคดิจิทัล ที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่จะมีวิธีการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จากรายงาน “Speak Easy” ซึ่งเป็นผลสำรวจผู้คนกว่า 6,780 คนในสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน, สเปน, ไทย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, จีน และ สิงคโปร์ พบว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรจะทำการค้นหาข้อมูลผ่านการสั่งงานด้วยเสียงในปี 2020 และผู้ใช้สมาร์ทโฟนร้อยละ 47 ใช้เทคโนโลยีเสียงพูดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน Ovum บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยเทคโนโลยี ประเมินว่าภายในปี 2021 จะมีอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานและมีผู้ช่วยดิจิทัลติดตั้งไว้จำนวนมากกว่า 7.5 พันล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรโลก
อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกันตาร์  อินไซต์ ประเทศไทย จำกัด
อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกันตาร์  อินไซต์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ในอนาคตผู้คนจะเริ่มมีความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเทคโนโลยีเสียงพูดนี้มากขึ้น รวมถึงต้องการให้ผู้ช่วยเสียงรู้จักและรู้ใจตนเองซึ่งเป็นผู้ใช้ได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องคอยบอกหรือสั่งการตลอด ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ผู้ช่วยเสียงเก็บเรื่องต่างๆ เป็นความลับ เนื่องจากต้องการความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกเปิดเผยออกไป” จากรายงาน “Speak Easy” ชี้ให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของผู้ช่วยอัจฉริยะสั่งการด้วยเสียง อาทิ  ผลวิจัยในหัวข้อ “เสียงมีอิทธิพลกับชีวิตฉัน” ร้อยละ 59 รู้สึกว่าสะดวกสบาย,  ร้อยละ 48 รู้สึกว่ารวดเร็วกว่าการพิมพ์ ในหัวข้อ “เสียงคือผู้ช่วยคนใหม่” ผลวิจัยชี้ให้ว่ากิจกรรม 3 อันดับแรกที่กลุ่มผู้ใช้ในประเทศไทยนิยมสั่งการด้วยเสียง ร้อยละ 56 เพื่อค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ ร้อยละ 46  เพื่อสอบถามเส้นทาง และร้อยละ 37 เพื่อถามคำถามต่างๆ  ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ากลุ่มผู้ใช้ในประเทศไทยร้อยละ 40 นิยมสั่งการด้วยเสียงเพื่อค้นหาข้อมูลท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ในเรื่องนี้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น สำหรับผลวิจัยด้าน “สถานการณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด” พบว่าร้อยละ 41 ใช้ขณะขับรถ, ร้อยละ 37 ใช้ขณะเร่งรีบ, ร้อยละ 36 ใช้เพื่อช่วยประหยัดเวลาและใช้เพื่อความสนุกสนาน, ร้อยละ 33 ใช้เมื่อไม่แน่ใจเรื่องการสะกดคำ โดย 5 สถานการณ์ยอดฮิตที่ใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด คือ ใช้เมื่ออยู่บ้าน ขณะขับรถ ขณะอยู่บนเตียง ขณะดูโทรทัศน์ และขณะออกกำลังกาย
ตัวอย่างเทคโนโลยีการสั่งการด้วยเสียงในปัจจุบัน

“เสียง” จุดเปลี่ยนของธุรกิจในอนาคต

ทุกวันนี้ การสื่อสารของแบรนด์กับผู้คนนั้นไม่ได้มีเพียงสัมผัสที่จับต้องได้ แม้กระทั่งเสียงก็สามารถทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์หรือกับตัวตนของเสียงนั้น เหมือนใช้สัญชาตญาณในการสื่อสาร และสิ่งนี้สามารถโต้ตอบกับพวกเขาได้อย่างดีและรวดเร็ว ดังนั้น ประสบการณ์การใช้งานที่มีเทคโนโลยีเสียงพูดเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นที่จดจำและมีความพิเศษมากขึ้นจากเดิม
ปรัชวัน เกตวัลห์  Director of Planning บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย
“เทคโนโลยีเสียงพูดในเมืองไทยยังมีไม่มากนักและไม่เป็นที่นิยมมากเท่าเมืองนอก แต่ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างมาก คือ คนไทยพร้อมเปิดรับและมีมุมมองที่ดีต่อเรื่องนี้ รวมถึงยังสามารถจินตนาการว่าเทคโนโลยีนี้จะใช้งานได้สนุกและมีประสิทธิภาพในการช่วยบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นได้อย่างไรบ้าง” ปรัชวัน เกตวัลห์ Director of Planning บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าว
หรรษา วงศ์สิริพิทักษ์  SEA Director of Digital บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย
ด้าน หรรษา วงศ์สิริพิทักษ์ SEA Director of Digital บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวเสริม “เรามองเห็นโอกาสครั้งใหญ่ที่แบรนด์สามารถจะนำเทคโนโลยีเสียงพูดมาปรับใช้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ โดยการคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็น Digital Transformation แต่ควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวตนของแบรนด์  อาจเริ่มต้นจากส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาให้ใหญ่ขึ้น  อีกทั้ง ขณะนี้ยังไม่มีแบรนด์ใดเริ่มนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงมาใช้มากนักจึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากหากมีแบรนด์ใดริเริ่มก่อนเป็นแบรนด์แรกๆ ซึ่งเรามั่นใจว่าเรื่องของเทคโนโลยีเสียงพูดจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่ยังต่อยอดไปได้อีกไกล สามารถสร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน และยังเข้าถึงคนได้จริงๆ”