- Wacom มองว่าจุดขายของสินค้าบริษัทคือปากกาที่รับรู้แรงกดได้กว่า 8 พันระดับและใช้ระบบสนามแม่เหล็ก ซึ่งทำให้ปากกามีความเสถียรและไล่ระดับความหนักเบาของเส้นได้ละเอียด
- Ong ให้ข้อมูลว่า Wacom มีการใช้เม็ดเงินเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 8-10% ของรายได้แต่ละปี โดยมีศูนย์ R&D ที่ญี่ปุ่น
- สินค้าที่ขายดีที่สุดในไทย คือ Wacom Intuos
ก้าวต่อไปของ Wacom เมาส์ปากกาครีเอทีฟผู้อยู่เบื้องหลังมือถือ-คอมพิวเตอร์ระดับโลก
"ถ้าถามคนทั่วไป 100 คน อาจจะมีคนรู้จักแบรนด์ Wacom แค่ 5 คน" Ong Khiaw Seng ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Wacom Singapore กล่าวเช่นนั้นเพราะว่า Wacom มีสินค้าหลักคือเมาส์ปากกาและแทบเล็ตที่พัฒนาและทำตลาดเจาะกลุ่มคนทำงานด้านครีเอทีฟ เช่น นักวาดภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ นักออกแบบ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนทั่วไปอาจรู้จักแบรนด์ Wacom น้อย แม้แต่คนที่รักการวาดภาพเป็นงานอดิเรกก็อาจจะไม่รู้จัก Wacom เลย
ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้กลยุทธ์นับจากนี้ของ Wacom จะเน้นการสร้างแบรนด์ให้มากขึ้น โดย Ong กล่าวว่า แบรนด์ Wacom ถือเป็นสินค้านิช มาร์เก็ตอย่างมาก มีภาพลักษณ์ติดกับการทำงานของมืออาชีพด้านความสร้างสรรค์ แต่ Wacom ต้องการจะเป็นที่รู้จักให้มากขึ้น มีตลาดในกลุ่มคนทั่วไปสูงขึ้น แม้แต่คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านภาพหรือกราฟิกเลย ก็สามารถเลือกใช้ Wacom ในชีวิตประจำวันได้
Ong เปิดเผยว่า Wacom ก่อตั้งที่ประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1983 ปัจจุบันจำหน่ายสินค้าไปใน 150 ประเทศทั่วโลก เป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดเมาส์ปากกาในแง่จำนวนการขายคิดเป็น 85% ของตลาดรวม และมีรายได้ปีล่าสุด (เม.ย. 2559-มี.ค. 2560) 635 ล้านเหรียญสหรัฐ
สัดส่วนรายได้ของ Wacom มาจาก 2 กลุ่มสำคัญ คือ 1.สินค้าเมาส์ปากกาและแทบเล็ตสำหรับมืออาชีพ (Creative) และสำหรับผู้บริโภคทั่วไป (Consumer) คิดเป็น 62% โดยมีรายได้จากกลุ่มสินค้าเพื่อมืออาชีพเป็นหลัก 2.ธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Solutions) เป็นการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลูกค้า B2B เช่น ปากกา stylus, แทบเล็ตสำหรับเซ็นลายเซ็นในการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ซึ่ง Wacom มีพันธมิตรธุรกิจ อาทิ Samsung, Microsoft, Lenovo, Dell ฯลฯ ส่วนนี้คิดเป็น 7.5% และธุรกิจอื่นๆ คิดเป็น 30.5% เช่น รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์อื่น
Ong มองว่า ตลาดของ Wacom เป็นนิช มาร์เก็ตมาตลอด แต่มีโอกาสเติบโตสูงมากจากเทคโนโลยีที่แพร่หลายไปในหลายประเทศ เขามองโอกาสดังกล่าวจาก 2 มุมมอง หนึ่งคือตลาดเกิดใหม่แถบเอเชียแปซิฟิก เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลุ่มประเทศเอเชียใต้อย่างบังคลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน เป็นต้น แม้ขนาดตลาดจะยังเล็กมากถ้าเทียบกับระดับโลก แต่การเติบโตปีที่ผ่านมาสูง 30-35% เทียบกับตลาดใหญ่อย่างยุโรปและทวีปอเมริกาซึ่งในกลุ่มนี้โตไม่เกิน 20%
และอีกมุมหนึ่งคือ สินค้าใหม่และการใช้งานในกลุ่มใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีการออกแบบ 3 มิติ ที่บริษัทกำลังจะมีสินค้าใหม่สำหรับนักออกแบบ 3 มิติและอนิเมชันเร็วๆ นี้ หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR: Virtual Reality) Wacom ก็กำลังพูดคุยกับพันธมิตรเพื่อค้นหาความต้องการใช้งาน และจะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ส่วนการใช้งานกลุ่มใหม่ มองว่าตลาดการศึกษามีโอกาสมาก Wacom สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนของนักเรียนที่ศึกษาด้านออกแบบ หรือกระทั่งคนทั่วไปก็ใช้เมาส์ปากกาแทนเมาส์ธรรมดาเพื่อลดอาการออฟฟิศซินโดรมได้ด้วย
"เราไม่ได้ต้องการเป็นสินค้าตลาดแมสมากๆ แต่จากนิช มาร์เก็ตที่มีตอนนี้เราสามารถขยายให้กว้างขึ้นได้ มีโอกาสอีกมากที่รออยู่" Ong กล่าว
ด้านตลาดของ Wacom ในประเทศไทย วชิราภรณ์ สมบูรณ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดในไทยก็เช่นเดียวกัน รายได้ทั้งหมดมาจากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท และ 65% มาจากกลุ่มผู้ซื้อสินค้าเพื่อมืออาชีพ อีก 35% เป็นกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภค ขณะที่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย
โดยกลยุทธ์จากนี้ บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยจัดบูธและเจาะกลุ่มคนที่รักการวาดภาพโดยตรงเพื่อแนะนำการใช้งานผลิตภัณฑ์
"เราเห็นว่ากลุ่มคนที่ชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรกมีศักยภาพสูง เพราะปกติเขาวาดรูปบนกระดาษอยู่แล้วแต่ไม่เคยรู้จักกับ Bamboo ของ Wacom เลย เราสามารถแนะนำให้ลองใช้และต่อยอดได้ว่าเขาสามารถใช้อุปกรณ์นี้สร้างงานขายจากงานอดิเรกของตัวเองได้" วชิราภรณ์กล่าว
Forbes Facts