บลูบิค เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยี ปี 66-69 เขย่าโลกธุรกิจ - Forbes Thailand

บลูบิค เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยี ปี 66-69 เขย่าโลกธุรกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
30 May 2023 | 04:50 PM
READ 2146

บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ครบวงจร ระบุแม้การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 บรรเทาลงแล้ว แต่ภาคธุรกิจไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะวิกฤตใหม่กำลังขยายตัวองค์กรที่แข็งแกร่งและปรับตัวทันเท่านั้นที่จะอยู่รอด



    พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นนับจากนี้ การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและลงลึกถึงระดับที่สามารถพลิกโฉมองค์กรเป็น “Digital-First Company” เทรนด์การทำธุรกิจแห่งโลกอนาคต

    สำหรับองค์กรที่ต้องการอยู่รอดและเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว ต้องสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและลดต้นทุนการบริหารงาน รวมถึงรองรับเทรนด์การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่บนโลกออนไลน์ ที่กำลังกลายเป็นช่องหลักในการขายและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่มีอำนาจการซื้อสูงสุดอย่าง Gen M (Millennials) และ Gen Z (Zoomers) เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงในระยะยาว


Digital-First Company กุญแจไขสู่ความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่


    นิยามของ Digital-First Company คือ การคิดใหม่ในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การใช้เทคโนโลยี กระบวนการดำเนินงาน จนถึงโครงสร้างขององค์กร อย่างไรก็ตามการคิดใหม่นี้มิได้หมายถึงความเปลี่ยนแปลงเสมอไป แต่เป็นการปรับตัวและเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตต่างๆ และสามารถสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

    โดย Digital-First Company จะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ สอดรับบริบทของการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ซึ่งการก้าวเป็น Digital-First Company ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุน ดังต่อไปนี้

    1. Digital-First Strategy - การหา Business Model ที่สามารถสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับธุรกิจ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบดิจิทัล

    2. Digital-First People - การสร้างทัศนคติ Digital Native Business ให้พนักงาน โดยผู้บริหารจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย และสร้างแรงกระตุ้นให้พนักงานปรับทัศนคติและยอมรับกระบวนการทำงานรูปแบบดิจิทัล รวมถึงกำหนดเครื่องมือ RWA (Ready, Willing, and Able) ซึ่งเป็นการประเมินความพร้อมและความสามารถในการปรับตัว ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และแนวทางการพัฒนา Digital Culture ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยธุรกิจ

    3. Digital-First Process - การปรับกระบวนการและระบบงานต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ด้วยการทำงานแบบ Agile ที่จะทำให้กระบวนการต่างๆ สั้นและใช้เวลาน้อยลง รวมไปถึงสามารถรองรับการเพิ่มขึ้น - ลดลง (Scalability) ของระบบงาน เช่น การใช้ระบบ Cloud Computing เป็นต้น

    วันนี้ “บลูบิค” จะมาเผย 10 Digital-First Capability ซึ่งเป็นเทรนด์ด้านเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาเขย่าโลกการทำธุรกิจผ่านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้ง 10 ด้านที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านองค์กรเป็น “Digital-First Company”

    1. Super App & Digital Onboarding : เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง แต่การจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่าย เพราะการพัฒนา Super App ต้องมี Core Feature และระบบที่มีความซับซ้อนขั้นสูง รวมถึงองค์ประกอบเกี่ยวกับ Microservice, Data Sharing และ Mini App

    ที่สำคัญยังต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการพัฒนา เพื่อให้ Super App มีคุณสมบัติรองรับการขยายตัวในอนาคต (Scalability) การเพิ่มขีดความสามารถ (Extensibility) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เป็นระบบที่ง่ายต่อการดูแลรักษา (Maintainability) มีประสิทธิภาพ (Efficiency) และโซลูชันที่ต้องอัปเดตให้ตอบโจทย์การใช้งานเสมอ

    2. AI-Powered Performance Management : เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ไขและยกระดับการบริหารงานให้ผู้นำองค์กรด้วย Artificial Intelligence - AI ที่มีระบบประมวลผลอัตโนมัติ และสามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์ได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้การตัดสินใจทางธุรกิจทำได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ Key Performance Indicator - KPI และ Objective & Key Result - OKR ที่สามารถประมวลผลข้อมูลการทำงานได้แบบเรียลไทม์ เพื่อกระตุ้นการทำงานของพนักงานและลดภาระงานให้ผู้บริหาร เป็นต้น

    3. Consolidated Data Platform on Cloud : องค์กรจำนวนมากกำลังเผชิญปัญหาการบริหารจัดการปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและแหล่งที่มา การนำข้อมูลที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์มาใช้ประโยชน์นั้นต้องมีระบบการจัดเก็บและการเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านั้นอย่างถูกต้อง บนระบบที่เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานได้จริง

    ดังนั้นการเก็บรวบรวมและเชื่อมต่อข้อมูลบนระบบคลาวด์จึงเป็นอีกเทรนด์เทคโนโลยีมาแรงต่อเนื่อง ที่สามารถเพิ่มหรือลดขนาดการใช้งานตามความต้องการ มีความคล่องตัว และสามารถใช้ข้อมูลหา Insights ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

    4. Predictive AI : เป็นการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ของเทคโนโลยี Deep Learning - DL อันชาญฉลาด เช่น การเก็บข้อมูลผ่านเซ็นเซอร์ IoT ของธุรกิจแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วย DL เพื่อหา Micro Moment Personalization ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น เป็นการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้และความภักดีต่อแบรนด์สินค้า ควบคู่กับการลดต้นทุนทางการตลาด

    5. DevSecOps : เป็นสุดยอดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ ที่ร่นทั้งระยะเวลาและลดปัญหาระหว่างการติดตั้งระบบ (Deployment) อีกทั้งการเพิ่มข้อบังคับหรือขั้นตอนด้านความปลอดภัยร่วมเข้าไปในกระบวนการ DevOps ทำให้ระบบนั้นมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย สอดรับกับเทรนด์ความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น

    6. Partnership API & Ecosystem Management : เป็นการเชื่อมต่อระบบขององค์กรกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยี Application Program Interface - API และการบริหารจัดการอีโคซิสเต็มร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นให้ลูกค้า และยกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับองค์กรด้วย

    โดยหลักสำคัญที่จะทำให้ Partnership API & Ecosystem Management นั้นประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผนบริหารจัดการผลตอบแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) การเชื่อมต่อที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน การเลือกใช้เทคโนโลยีและเครื่องมืออย่างเหมาะสม และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

    7. Digital Workforce Management : การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนและเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ เช่น Hybrid Working และ Remote Working รวมถึงรองรับการทำงานระหว่างทีมงานภายในและภายนอกองค์กร (Outsource)

    8. Hyper-Scalability Modernization : เป็นการใช้เทคโนโลยีอัปเกรดระบบหรือแอปพลิเคชันเดิมให้สามารถรองรับการใช้งานหรือ Transaction ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างราบรื่น ด้วยกรอบการทำงาน Event Driven Nano Service Architecture - EDNA ที่จะทำให้ Maintainability ของแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ทำได้ง่ายขึ้น ลดกระบวนการ Product Development และทำให้แต่ละทีมมีอิสระในการพัฒนาระบบ เพราะ EDNA จะแยกเซอร์วิส (Services) ออกจากกันจึงทำให้ระบบมีเสถียรภาพมากขึ้น

    9. Cybersecurity & Digital Trust : ระบบหรือซอฟต์แวร์ที่มีเสถียรภาพและมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจยุคดิจิทัล เพราะความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และเสถียรภาพของระบบหรือแอปพลิเคชันมีผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อองค์กรและแบรนด์สินค้า ดังนั้น Digital Trust จึงเป็นส่วนสำคัญของการปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น Digital-Frist Company

    10. Bionic Ops Re-Engineering : เป็นการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานด้วยการผสานพลังความสามารถมนุษย์กับกลศาสตร์ (Bio + Mechanics) ให้สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ซอฟต์แวร์ Robotic Process Automation - RPA ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างหุ่นยนต์มาทำงานในลักษณะซ้ำ ๆ แทนคน หรือแพลตฟอร์ม Low Code ที่ทำให้การเขียนโค้ดง่ายและรวดเร็วขึ้น เป็นต้น

    “การเติบโตทางธุรกิจในโลกดิจิทัลต้องปรับเปลี่ยนทั้งกลยุทธ์ โมเดลธุรกิจ และแนวทางการปฏิบัติงานที่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับสร้างการเติบโตแบบ New S-Curve ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีจึงต้องมีการวางแผนอย่างมีวิสัยทัศน์ และต้องสอดรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจ

    ด้วยเหตุนี้ บลูบิค จึงมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมแกร่งด้านบริการที่ครบวงจร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสการเติบโตในอนาคต” พชร กล่าวปิดท้าย



อ่านเพิ่มเติม: บี.กริม เพาเวอร์ ทุ่มงบ ลงทุน “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” ในเกาหลี


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine