ชัยยุทธ ชุณหะชา นำทัพ จีเอเบิล (GABLE) หนึ่งในผู้นำด้าน Tech Enabler รายใหญ่ของไทย เดินหน้าเสนอขาย IPO เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการโซลูชันดิจิทัลแบบครบวงจรแก่องค์กรธุรกิจไทย ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส เผยความคืบหน้า สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอจีเอเบิล อนุญาตให้เสนอขายหุ้น IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเดินหน้า โรดโชว์พบกองทุน และนักลงทุนทั่วไป คาดเสนอขาย IPO ช่วงครึ่งปีแรก 2566
ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE กล่าวว่า เราสั่งสมประสบการณ์มากว่า 3 ทศวรรษในการก้าวผ่านความท้าทายแต่ละยุคสมัยไปพร้อมกับการพัฒนาขีดความสามารถอย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาจีเอเบิลได้รับความไว้วางใจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการนำเสนอเทคโนโลยีให้แก่ลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย
รวมทั้งการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกมากกว่า 100 บริษัท และที่สำคัญ เรามีทีมบริหารผู้คร่ำหวอดในวงการทรานฟอร์มเมชันไทยมากว่า 33 ปี และมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากกว่า 1,000 คน ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่กระจายตัวอยู่หลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคธุรกิจการเงิน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ
โดยจีเอเบิลประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรเจ็กต์ขนาดต่างๆ รวมมากกว่า 30,000 โปรเจกต์ ทำให้ปัจจุบัน จีเอเบิลเติบโตอย่างมั่นคงทั้งในด้านบุคลากร ความครบวงจรของบริการ และผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่ง ยืนหยัดเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Tech Enabler ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจไปพร้อมกับกระแสความต้องการ Digital Transformation โดยธุรกิจของกลุ่มจีเอเบิล แบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ
ธุรกิจให้บริการโซลูชันระดับองค์กร (Enterprise Solution and Services) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการทำ Digital Transformation ได้อย่างครบวงจร และหลากหลายอุตสาหกรรม ด้วยผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่มโซลูชัน โดยในปี 2565 ธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระดับองค์กร ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักราว 76%
นอกจากนี้ ธุรกิจโซลูชันที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added Distribution) โดยกลุ่มบริษัทเป็นตัวแทนหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชั้นนำต่างๆ จาก Oracle และ Veritas ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานในระดับองค์กร เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลกมาแล้วอย่างยาวนาน
รวมทั้ง ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม (Software Platform) เกิดจากการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายในองค์กร มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ ที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของและพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าจำนวน 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มด้านการตลาดดิจิทัลแบบครบวงจร, 2. แพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูล Big Data และ 3. แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการพื้นที่เช่า ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างความแตกต่างทางการแข่งขันของกลุ่มบริษัทฯ
ประกอบกับศักยภาพทางธุรกิจอันโดดเด่นในปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 4,731 ล้านบาท ใกล้เคียงปี 2564 มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 4,939.07 และในปี 2565 มีกำไรสุทธิ 268 ล้านบาท เติบโตเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2565) ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ที่ต้องการมุ่งเน้นโซลูชันที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น
โดยกลุ่มซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม ถือเป็น Growth Engine ที่พร้อมสำหรับการเติบโตด้วยการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มของเราเอง และความสำเร็จที่ผ่านมาของกลุ่มธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งสามารถสร้างอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่สูงถึง 32.17% และมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยที่สูงถึงกว่า 50% นอกจากนี้ จีเอเบิลยังมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ 0.6 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ รองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมไอทีถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง โดยเฉพาะในช่วงสถาการณ์โควิดที่ผ่านมา หากถามว่าในวันนี้มีความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากแค่ไหน ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีความสามารถเหนือคู่แข่ง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ซึ่งทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของ Gartner, Inc. (Gartner) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกที่คาดการณ์ว่ามูลค่าใช้จ่ายด้านไอทีในประเทศไทยในปี 2566 ในส่วนของซอฟต์แวร์ระดับองค์กรจะเป็นส่วนที่เติบโตสูงที่สุด ในอัตรา 14.87%
จีเอเบิล ในฐานะ Tech Enabler ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation พร้อมที่จะนำศักยภาพและความพร้อมทางเทคโนโลยีในทุกด้านมาสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจในโลกดิจิทัลให้กับลูกค้าโดยเฉพาะบริษัทไทย ให้สามารถเติบโตในโลกดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง ปลอดภัย และยั่งยืนโดยการสนับสนุนของคนไทยด้วยกันเอง
ด้าน สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบมจ.จีเอเบิล (GABLE) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอจีเอเบิล อนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 175 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วหลัง IPO
และมีแผนจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลต่อนักลงทุนสถาบัน และเตรียมพบนักลงทุนทั่วไปเร็วๆ นี้ คาดเสนอขาย IPO ช่วงครึ่งปีแรก 2566
โดยเป้าหมายหลักของการระดมทุนผ่าน IPO ครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ผ่านการลงทุนในกิจการเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนทางตลาดแล้ว ยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของจีเอเบิลเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีที่บริษัทเป็นเจ้าของ และเพิ่มโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจไปในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน
พร้อมทั้งตอบโจทย์ความต้องการด้านเทคโนโลยีและโซลูชันดิจิทัลของลูกค้าได้อย่างครบมิติยิ่งขึ้น รวมไปถึงเพื่อรองรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินของกลุ่มบริษัทฯ ด้วย
อ่านเพิ่มเติม: “ซิตี้แบงก์” จับมือ สตาร์ทอัพชั้นนำของไทย พร้อมเปิด “Citi Ventures”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine