ปัจจุบัน สุขภาพจิต เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2566 ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน (จากปี 58 ที่ 1.3 ล้านคน) แต่คาดว่าอาจมีผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น เพียงช่วง 1 ต.ค. 2566 - 22 เม.ย. 2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ทั้งนี้ ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ไทยกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งจากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้น 20.0%
อย่างไรก็ตาม หากดูตามช่วงอายุ จะพบว่า ทุกกลุ่มต้องเจอปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน
1) วัยเด็กและเยาวชน พบภาวะความเครียด มีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต ไปจนถึงสถานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้ การกลั่นแกล้งเซึ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
2) วัยทำงาน ความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 2565 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน อีกทั้ง ข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย
3) ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุ 84.93% มีความสุขในระดับที่ดี แต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้ง ยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 800,000 คน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย
ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อบุคคล แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12,000 ล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งแก้ไขในด้านนี้อย่างจริงจัง
ดังนั้น สภาพัฒน์มีข้อเสนอแนะใน 3 ด้าน ได้แก่
1) การป้องกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี อาทิ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก การเลี้ยงดูเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษา ต้องเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพจิต ผ่านการเรียนการสอน รวมถึงการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่นักเรียน/นักศึกษา สถานที่ทำงาน ต้องสร้างสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่ดีและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต และสถาบันชุมชน ต้องส่งเสริมการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพจิตในชุมชน
2) การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอ รวมทั้งขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการ
3) การติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ต้องจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพจิตใจและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สภาพัฒน์เผย คนไทยวัยมีคู่กว่า 40% ยังโสด เหตุ ‘งานหนัก-ไม่เจอคน’ แนะรัฐหนุน Work-life Balance ให้เจอคนที่ใช่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine