คาดปี 67 ตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยมีมูลค่าแตะ 8.7 หมื่นล้าน โต 13% แนวโน้มขยายออกนอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น - Forbes Thailand

คาดปี 67 ตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยมีมูลค่าแตะ 8.7 หมื่นล้าน โต 13% แนวโน้มขยายออกนอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น

FORBES THAILAND / ADMIN
05 Sep 2024 | 10:10 AM
READ 1110

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ปี 67 ตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยมีมูลค่าแตะ 8.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% แนวโน้มขยายออกนอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นภาพรวมตลาดธุรกิจนี้กลับสวนทางกับ ‘จำนวนนักเรียน’ และ ‘โรงเรียนในไทย’


    ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย เผยบทวิเคราะห์ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยยังคงเติบโต สวนทางกับภาพรวมจำนวนนักเรียนและโรงเรียนในไทยที่มีการหดตัวตามแนวโน้มของสถิติการเกิดที่ลดลง นอกจากนี้ผู้ปกครองยังนิยมหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวออกนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่จำกัดในเมืองหลวงและการแข่งขันหนาแน่น

    ภาพรวมจำนวนนักเรียนในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ โดยปีการศึกษา 2567 จำนวนนักเรียนในไทยลดลง 1.7% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้น 10.2%

    สถิติการเกิดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลง โดยในระหว่างปี 2555-2567 จำนวนการเกิดลดลงเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.5% ในขณะที่อัตราการลดลงของภาพรวมจำนวนนักเรียนในระบบทั้งหมดอยู่ที่ 0.9% อย่างไรก็ดี จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 6.9% ต่อปี


    แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย

    รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ยังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ

    ในปี 2567 ภาพรวมจำนวนโรงเรียนลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้า แตะ 33,098 โรงเรียน แต่หากเทียบกับปีการศึกษา 2555 จะหดตัวถึง 6.6% หรือคิดเป็นราว 2,355 โรงเรียน

    เนื่องจากภาพรวมจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ในระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 เกิดการทยอยปิดตัวของโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาลมีอัตราการลดลงเฉลี่ยถึง 0.6% ต่อปี รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยก็มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี


    ในทางตรงข้าม จำนวนโรงเรียนนานาชาติกลับเติบโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี สวนทางกับโรงเรียนประเภทอื่น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกิจการโรงเรียนสู่หลักสูตรการศึกษาต่างประเทศมากขึ้น


    โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอื่นจะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ

    การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัด ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น

    ทั้งนี้ เศรษฐกิจใน 21 เมืองหลักได้เติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ โดยในปี 2565 อัตราการเติบโต GDP ต่อหัวของ 21 เมืองหลักสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2% ซึ่งทำให้ตลาดนอกกรุงเทพฯ ดูน่าสนใจมากขึ้น

    แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลาง 4 และตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจำนวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล


    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนน้อยกว่ากรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

    คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยจะเติบโตราวร้อยละ 13 จากปี 2566 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท การเติบโตของมูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติในปี 2567 มาจากแรงหนุนของความนิยมที่เพิ่มขึ้นในหลักสูตรนานาชาติและการขยายสู่ตลาดใหม่ๆ ส่งผลให้จำนวนนักเรียนขยายตัวสูงถึง 10.2% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการปรับค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8% จากปีการศึกษา 2566


ความเสี่ยงของกิจการโรงเรียนนานาชาติ

    - การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติอาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปีการศึกษา 2567 ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์อยู่ที่ประมาณ 1,150,208 บาท

    - โรงเรียนนานาชาติอาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกเรียนโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษและสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา

    - การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท



ภาพ: โรงเรียนนานาชาติ KIS International School ในโครงการ Reignwood Park จ.ปทุมธานี



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รร.นานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ ขยายอาคารเด็กเล็ก ที่สาขาซิตี้แคมปัส รับความต้องการวัยอนุบาลเพิ่ม!

​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine