นักเรียนไทยลด แต่อินเตอร์เพิ่ม! คาดธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยเติบโต 9.7% ในปี 2568 - Forbes Thailand

นักเรียนไทยลด แต่อินเตอร์เพิ่ม! คาดธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยเติบโต 9.7% ในปี 2568

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Mar 2025 | 03:45 PM
READ 642

KResearch เปิดเผยบทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนกวดวิชาในไทยปี 2568 โดยมองว่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยจะโต 9.7% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดและการแข่งขันที่สูงในเมืองหลวง เช่นเดียวกับโรงเรียนกวดวิชาที่คาดว่าจะเติบโตมีรายได้เพิ่มขึ้น 9.2% ในปีนี้


    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาดการณ์จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจำนวนนักเรียนไทยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องตามสถิติการเกิด โดยการลดลงนี้มาจากจำนวนนักเรียนรัฐบาล และเอกชนหลักสูตรไทยที่ในปี 2568 คาดว่าจะลดลง 1.1% และ 1.2% ตามลำดับ

    ในขณะที่นักเรียนนานาชาติกลับมีโอกาสขยายตัวถึง 8.3% เช่นเดียวกับรายได้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่อาจเพิ่มขึ้น 9.7% แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า เพราะเพราะมีเพียง 8 โรงเรียนใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้ น้อยกว่าปีที่แล้ว 5 โรงเรียน

    ความนิยมหลักสูตรนานาชาติที่ทันสมัยยังคงหนุนการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทย โดยผู้ปกครองที่มีศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนจากการที่จำนวนคนไทยที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่ม 24% ในปี 2566-2571



    การเพิ่มขึ้นของนักเรียนชาวต่างชาติเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะนักเรียนจีนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยชาวจีนในตำแหน่งสูงที่มาทำงานในไทยยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20.8% ต่อปีตั้งแต่ปี 2564-2567 ซึ่งนักเรียนชาวจีนที่ติดตามผู้ปกครองมาอยู่ในไทยก็มักจะเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ

    นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลาง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักสูตรนานาชาติในจีนสูงขึ้น โดยจากผลสำรวจ ปักกิ่ง เป็นเมืองที่มีค่าเรียนโรงเรียนนานาชาติสูงสุดในเอเชีย ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติในไทยนั้นเป็นที่สนใจสำหรับผู้ปกครองชาวจีน


โรงเรียนนานาชาตินอกกรุงเทพฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัว

    ระหว่างปี 2564-2568 จำนวนโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคนอกกรุงเทพฯ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.1% ในขณะที่กรุงเทพฯ มีอัตราเฉลี่ยหดตัว 1.7 % ต่อปี นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของนักเรียนนานาชาติในภูมิภาคอื่น ยังสูงกว่ากรุงเทพฯราว 3.7%

    การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและพื้นที่จำกัดทำให้โรงเรียนนานาชาติหันไปสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, ระยอง, และภูเก็ต โดยเฉพาะในภาคกลางและตะวันออกที่มีครัวเรือนรายได้สูงรองจากกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคเหล่านี้น้อยกว่ากรุงเทพฯ ผู้ประกอบการจึงอาจต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้ตรงกับรายได้ของผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่


ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน

    ในปี 2568 รายได้ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาคาดขยายตัว 9.2% แตะ 3.3 พันล้านบาท ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาก็มีแนวโน้มขยายตัวนอกกรุงเทพฯ มากขึ้นเนื่องจากการแข่งขันที่สูง โดยระหว่างปี 2564-2568 รายได้ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ในขณะที่ ภูมิภาคอื่นนั้นสูงถึง 23.8%

    สัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่มาจากกรุงเทพฯ มีทิศทางลดลงจากปี 2564 ที่อยู่ราว 83.2% ของรายได้ทั้งประเทศ สู่ระดับ 71.3% ในปีนี้



    ทั้งนี้ ภาคกลางและตะวันออกก็เป็นตลาดศักยภาพถัดจากกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติ โดยในปี 2567 ภูมิภาคดังกล่าวมีจำนวนโรงเรียนกวดวิชาที่จัดตั้งใหม่มากที่สุดกว่า 37% ของทั้งประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการที่มีจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือนรองจากกรุงเทพฯ

ความเสี่ยงของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติและกวดวิชา

    ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยโดยภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัว แต่การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติอาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปี 2567 ค่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์สูงกว่าโรงเรียนนานาชาติในไทย 385,724 บาท แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมค่าอาหารและที่พักระหว่างปีการศึกษาแล้ว

    โรงเรียนนานาชาติยังต้องเผชิญความท้าทายจากโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเสนอหลักสูตรหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน ซึ่งผู้ปกครองบางกลุ่มอาจพิจารณาเปลี่ยนไปหลักสูตรนี้เพื่อความคุ้มค่า

    นอกจากนี้ การพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท

    ด้านโรงเรียนกวดวิชา ต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การเข้าถึงสื่อการเรียนรู้และแนวข้อสอบโดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้นักเรียนอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการเรียนเสริมที่โรงเรียนกวดวิชาอีกต่อไป


แหล่งที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

อินโฟกราฟิก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

ภาพปก: Pavel Danilyuk from Pexels


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลสำรวจบอก คนไทย 51% ใช้จ่ายเดือนชนเดือน ค่าครองชีพสูง ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine