สุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 โดยเป็นเจ้าแรกที่ทำงานด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร (business process outsourcing : BPO) ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลหรือ human resources (HR) ให้กับ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจในประเทศไทย
การให้คำปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงาน (operational risk) และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เขามีประสบการณ์คร่ำหวอดมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยเป็นพาร์ตเนอร์ของ PricewaterhouseCoopers (PwC) ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาธุรกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ใน 5 ของโลก หรือ Big 5
“ผมเป็นคนแรกที่ใช้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศไปรับงานบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี ให้ PwC เมื่อปี 2544 เป็นการให้บริการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลขนาดใหญ่ในประเทศไทย และยังช่วยให้ PwC ได้งานนี้ที่สิงคโปร์และมาเลเซียอีกด้วยในขณะที่ Big 5 สมัยนั้นให้บริการเพียง payroll outsourcing เท่านั้น”
ต่อมาในปี 2546 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐอเมริกามีการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทผู้สอบบัญชี ทำให้บริษัทสอบบัญชีทั่วโลกมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ สุนทรจึงแยกตัวออกมาตั้งบริษัทเพื่อรับ outsource งานด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร (business process outsourcing in human resource)
ทั้งนี้ งานทรัพยากรบุคคลประกอบด้วย 2 ด้าน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล HR management (HRM) ได้แก่ การให้บริการซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการเกี่ยวกับการบันทึกเวลาทำงาน (time management) การบริหารจัดการวันลา (leave management) การบริหารจัดการสวัสดิการของพนักงาน เช่น การเบิกค่าครองชีพ ตลอดจนการให้บริการจ่ายเงินเดือน (payroll)
ส่วน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล หรือ HR development (HRD) ได้แก่ การสรรหาพนักงาน (recruitment) การวัดและประเมินผลงาน (performance management) การพัฒนาการเรียนรู้ (learning management)
ในช่วงแรก บริษัทมุ่งเน้นด้าน HRM เป็นหลักและใช้วิธีร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างชาติที่มีซอฟต์แวร์ด้าน HRD เพื่อบริการลูกค้า แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้านทำให้ฮิวแมนนิก้าเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเองในปี 2548
โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบ client server บนระบบปฏิบัติการ Windows ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้าแต่ละเครื่องเพื่อให้ลูกค้าใช้บริการผ่านระบบ LAN ก่อนปรับมาเป็นซอฟต์แวร์ Humatrix ในปี 2549 เพื่อบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ (pure web based) ให้องค์กรของลูกค้าเข้าใช้โปรแกรมผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเปิดจาก browser หน้าจอคอมพิวเตอร์จากที่ใดก็ได้ ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ และพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถใช้บนโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้
ในวันก่อตั้งบริษัท จากพนักงานประมาณ 30 คน และลูกค้า 2 ราย ฮิวแมนิก้าได้ขยายตัวขึ้นเป็นลูกค้าหลายร้อยราย ครอบคลุมบริษัทที่มีพนักงานหลักหมื่นคน จนถึงบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานหลักร้อยคน ประกอบด้วยลูกค้าองค์กรบริษัทต่างประเทศ 35% ของรายได้รวม ลูกค้าองค์กรบริษัทไทยขนาดใหญ่ 65% ของรายได้ โดยลูกค้าบริษัทไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น
ในปี 2559 บริษัทมีรายได้รวม 351.95 ล้านบาท เติบโตขึ้น 48.10% จาก 237.65 ล้านบาทในปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 71.48 ล้านบาท เติบโต 81.59% จาก 39.36 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมนุษย์เงินเดือนในประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 10 กว่าล้านคน และบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังบริหารจัดการงาน HRM เอง มีเพียง payroll service ที่ใช้บริการจากธนาคาร ในขณะที่ผู้บริหารรุ่นใหม่จะเน้นการโฟกัสงานที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำองค์กรให้เป็น lean organization จึงมีแนวโน้มที่จะ outsource งานด้าน HRM
“คนรุ่นใหม่เติบโตมากับแนวคิดว่า ฝ่าย HR ควรมีบทบาทเป็น strategic partner ขององค์กรที่ทำให้บุคลากรภายในมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือองค์กรได้ ควรเน้นหน้าที่งาน HRD ได้แก่ การสรรหาบุคคลที่ใช่ ทำอย่างไรให้คนอยากสมัครงานกับองค์กร การจัดให้มีกระบวนการคัดเลือกที่สามารถคัดคนได้ถูกต้องตามความต้องการ การพัฒนาให้คนเก่งและอยู่กับองค์กร การจัด reward system, การสร้างบรรยากาศ วัฒนธรรมองค์กรให้คนมีความสุขกับการทำงาน
สิ่งเหล่านี้ควรเป็นบทบาทของ HR มากกว่าการทำเรื่องเงินเดือนหรือเรื่องที่เป็นงานของแอดมิน จึงหันมา outsource เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรดีๆ ลาออก และยังช่วยเก็บรักษาความลับ ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับบริษัทต่างชาติที่เริ่มต้นมา 10-20 ปี”
สุนทรเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังเป็นองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ แต่ในปี 2560 จะขยายตลาดมาเจาะกลุ่มบริษัทขนาดกลาง หรือ middle market มากขึ้น โดยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ง่ายขึ้น เหมาะกับบริษัทขนาดเล็ก
บริษัทยังมีแผนขยายตลาดในสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยปรับซอฟต์แวร์ของบริษัทให้เข้ากับกฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากรของ 2 ประเทศนี้ โดยมีลูกค้าที่สิงคโปร์หลายสิบบริษัท และบริษัทในประเทศมาเลเซียอีกเกือบร้อยบริษัทปัจจุบัน บริษัทมีสาขาที่สิงคโปร์เพื่อเป็น hub ทำงานกับพาร์ตเนอร์ในภูมิภาค และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดอีก 1 สาขาที่ Penang ประเทศมาเลเซีย
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการปรับระบบให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นๆ (localization) สำหรับประเทศญี่ปุ่นโดยร่วมกับบริษัทพาร์ตเนอร์ชื่อ Tricor K.K. เพื่อจับตลาดบริษัทท้องถิ่นระดับกลางของญี่ปุ่นที่มีพนักงานประมาณ 500-1,000 คน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเก่งด้านวิศวกรรมเรื่องสมองกลฝังใน แต่ซอฟต์แวร์อื่นค่อนข้างจะโบราณ จึงเป็นโอกาสเติบโตที่มีศักยภาพมหาศาล”
สุนทรกล่าวว่า เงินทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอนอกจากใช้เป็นเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจในประเทศและต่างประเทศแล้วจะใช้สำหรับลงทุนใน server ของศูนย์ข้อมูล ฮาร์ดแวร์และเน็ตเวิร์ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ
เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร