มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยผลการสำรวจภาวะการมีงานทำของบัณฑิตระดับปริญญาตรี ม.ธรรมศาสตร์ พบว่า อัตราการมีงานทำสูงถึง 92.62% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากรุ่นก่อนหน้า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของหลักสูตรและความพร้อมของบัณฑิตในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยบัณฑิตส่วนใหญ่ทำงานในภาคเอกชนถึง 64.77% รองลงมาคือข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 15.83% และดำเนินธุรกิจอิสระ 12.45%
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาตามกลุ่มสาขาวิชา จากการสำรวจข้อมูลบัณฑิตกว่า 6,366 คน พบว่า บัณฑิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพมีอัตราการมีงานทำสูงที่สุดถึง 95.67% รองลงมาคือสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ 92.46% และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ 91.32% สะท้อนถึงความต้องการแรงงานในภาคสุขภาพที่ยังคงมีสูงต่อเนื่องในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และศักยภาพการพัฒนาของหลักสูตรและการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของบัณฑิต ยังเพิ่มขึ้นจากรุ่นปีที่ผ่านมาประมาณ 2.78% อีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะ วิทยาลัย สถาบัน ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พบว่ามีอัตราการได้งานทำสูงมากกว่า 90% อาทิ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ 98.33%, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 96.56%, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 94.64%, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน 93.36%, คณะนิติศาสตร์ 92.04%, คณะศิลปศาสตร์ 91.39% และคณะศิลปกรรมศาสตร์ 91.18%

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สถิติดังกล่าวข้างต้นเกิดจากการดำเนินงานอย่างเป็นระบบในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานของม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งในแง่ของความรู้และทักษะสำคัญที่ส่งผลต่อการได้งานทำจะมาจากทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้ภาษาต่างประเทศ และการสื่อสาร เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมโอกาสในการหางาน ดังนั้น นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ทักษะด้าน Soft Skills ก็มีความสำคัญไม่น้อยในการสร้างความแตกต่างในตลาดแรงงาน
“อัตราการได้งานสูงนี้ ไม่เพียงตอกย้ำถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตที่เต็มไปด้วยทักษะแห่งอนาคต แต่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่าผู้ศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์ มีความพร้อมทำงานจริง สร้างผลลัพธ์จริง และความรู้ที่ได้จากรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นเครื่องมือที่บัณฑิตนำไปต่อยอดให้กับทุกองค์กรที่ก้าวเข้าไปด้วย” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน มุก - อาทิตยาธรณ์ พละสูนย์ บัณฑิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า หลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นหลักสูตรที่มีความแข็งแกร่งครบถ้วนตรงตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในระดับอุดมศึกษา โดยมีการบูรณาการทักษะวิชาชีพจริง ช่วยให้นักศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงาน เสริมสร้างความมั่นใจเมื่อต้องก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บัณฑิตธรรมศาสตร์เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มีความพร้อมทั้งด้านทักษะวิชาชีพและการปรับตัวในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงยืนหยัดในฐานะมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีความสามารถในการปรับตัวในโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พร้อมทั้งสนับสนุนโอกาสการทำงานผ่านโครงการฝึกงาน การแนะแนวอาชีพ และการพัฒนาทักษะที่สำคัญ เพื่อให้บัณฑิตสามารถปรับตัวและแข่งขันในตลาดงานได้อย่างมั่นใจ
ภาพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘วิสัยทัศน์-แบบอย่าง-การชี้แนะ’ คุณลักษณะสากล 3 ข้อ สู่การเป็นผู้นำนักสร้างแรงบันดาลใจ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine