โฟร์แมนขาดแคลนหนัก! ธุรกิจรับสร้างบ้านเทหน้าตักให้ทุนเรียนต่อ ปวส. แก้แรงงานขาด - Forbes Thailand

โฟร์แมนขาดแคลนหนัก! ธุรกิจรับสร้างบ้านเทหน้าตักให้ทุนเรียนต่อ ปวส. แก้แรงงานขาด

สถานการณ์ธุรกิจก่อสร้างขาดแคลนแรงงานภาคปฏิบัติอย่างหนัก โดยเฉพาะตำแหน่ง ‘โฟร์แมน’ หรือผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งปกติแล้วจะจ้างงานนักศึกษาที่จบระดับ ปวส. แผนกก่อสร้าง/โยธา แต่เมื่อนักศึกษาเลือกเรียนสาขานี้น้อยลงทุกที ทำให้ต้องเลือกบัณฑิตวิศวะฯ ปริญญาตรีมาเป็นโฟร์แมนแทน แต่การเรียนการสอนของหลักสูตรปริญญาตรีไม่ได้เตรียมพร้อมมาเพื่อปฏิบัติงานส่วนนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการก่อสร้างจึงมีปัญหาเรื่องแรงงานมาตลอด เพื่อแก้ปัญหาให้ได้โฟร์แมนที่ตรงความต้องการ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA: Home Builder Association) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดตั้งหลักสูตรเฉพาะ “หลักสูตรอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี HBA MODEL” ขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เริ่มแรกรับเฉพาะสายงานผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ก่อนจะขยายเพิ่มสาขาช่างเขียนแบบเมื่อปีที่ผ่านมา ธีร์ บุญวาสนา อุปนายก สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นการเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แบบศึกษาภาคปฏิบัติควบคู่กับภาคทฤษฎีเป็นเวลา 2 ปี โดยเรียนภาคทฤษฎีที่ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต 2 วันต่อสัปดาห์ คู่กับการฝึกงานตำแหน่งผู้ช่วยผู้ควบคุมงานก่อสร้างในบริษัทรับสร้างบ้าน 4 วันต่อสัปดาห์ โควตาการรับนักศึกษาจะมาจากบริษัทต่างๆ ในสมาคมฯ ที่จะรับนักศึกษาไปเรียนรู้งานและประเมินผลงานให้ ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมรับนักศึกษาประมาณ 10 บริษัท รับนักศึกษาได้ปีละ 15-20 คน ที่สำคัญ เป็นการลงทุนด้านบุคลากรอย่างเต็มที่ เพราะบริษัทที่รับนักศึกษาจะชำระค่าหน่วยกิต ที่พักอาศัย และค่าเดินทางให้ทั้งหมด พร้อมเบี้ยเลี้ยงการทำงานในช่วงฝึกงาน 9,000 บาทต่อเดือน มีสวัสดิการประกันสังคมและชุดยูนิฟอร์มของบริษัท และรับนักศึกษาเข้าทำงานทันทีหลังจบการศึกษาการันตีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน (นักศึกษามีข้อผูกพันในการใช้ทุนกับบริษัท 2 ปีหลังจบการศึกษา)
บรรยากาศการเรียนการสอนตามหลักสูตรอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี HBA MODEL
“โฟร์แมนขาดแคลนมาก คนเรียนอาชีวะสายก่อสร้างน้อยลง อาจจะเพราะกลัวงานหนักและเป็นเรื่องค่านิยมในสังคม ที่ผ่านมาเราต้องใช้วิศวกรมาคุมงานแทนซึ่งเป็นการใช้คนผิดประเภท เพราะวิศวกรจริงๆ มีหน้าที่เขียนแบบ เขาเรียนมาในอีกสายหนึ่ง ไม่เหมือนโฟร์แมนที่เป็นสายปฏิบัติ” “ตอนนี้มีนักศึกษาเรียนจบมาแล้ว 3 รุ่น จำนวน 45 คน ครึ่งหนึ่งทำงานสายก่อสร้างกับเรา ยังไม่ไปเรียนต่อหรือขอเปลี่ยนสายงาน ถือว่าได้ผลค่อนข้างดีในการแก้ไขปัญหา ได้คนที่ทำงานเป็น ทำได้จริง และเฉพาะทาง” ธีร์กล่าว ส่วนรุ่นที่กำลังจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา 2560 เป็นรุ่นที่ 5 โดยในแต่ละรุ่นมีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากทั่วประเทศเข้ามาสมัครสอบแข่งขัน
ธีร์ บุญวาสนา อุปนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และพัชรา ตัณฑยรรยง กรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
พัชรา ตัณฑยรรยง กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวต่อว่า การขยายโควตามากกว่านี้อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะบางบริษัทในสมาคมฯก็ไม่พร้อมที่จะฝึกงานให้กับนักศึกษาที่จะต้องมีพี่เลี้ยงสอนงานและประเมินการเรียนรู้ แต่สนับสนุนเต็มที่หากสมาคมหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงานต้องการนำ HBA MODEL ไปปรับใช้ นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนผ่านการประชาสัมพันธ์ตามโรงเรียนอาชีวะต่างๆ เพราะโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายอาชีวะสร้างชาติของรัฐบาล เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากร นักศึกษาเองก็ได้ประโยชน์เพราะได้มีรายได้ระหว่างเรียนและการันตีตำแหน่งงานทันที สำหรับภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านครึ่งปีแรกปี 2560 ธีร์กล่าวว่า ยอดขายโดยรวมยังทรงตัวใกล้เคียงปีก่อนและงานก่อสร้างประสบปัญหาจากภาวะฝนตกหนักในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มยอดขายดีขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาตัดสินใจสร้างบ้านนานขึ้นเป็น 6 เดือน จากเดิม 3-4 เดือน จึงคาดว่าผู้บริโภคอาจยังอยู่ในช่วงตัดสินใจ รวมถึงในเดือนสิงหาคมสมาคมฯจะมีการจัดงานมหกรรมรับสร้างบ้านซึ่งน่าจะช่วยผลักดันยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง