เปิดโผ 10 หลักสูตรเสริมแกร่ง ส่งผู้ประกอบการไทยก้าวไกล - Forbes Thailand

เปิดโผ 10 หลักสูตรเสริมแกร่ง ส่งผู้ประกอบการไทยก้าวไกล

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Sep 2018 | 11:19 AM
READ 2542

ความท้าทายของผู้ประกอบการในปัจจุบัน คือการเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างเสรีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งต้องเจอกับกระแส digital disruption ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นกับธุรกิจ 

หลายมหาวิทยาลัยจึงออกแบบหลักสูตรต่างๆ มารองรับเทรนด์และการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นเพื่อผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ รับมือ และวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างทันท่วงที โดยส่วนใหญ่แล้วคอร์สที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนจะเกี่ยวกับด้านการบริหาร อันเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่ต้องรู้ในการทำธุรกิจ ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรที่เข้มข้นจะช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้ผู้ประกอบการเข้าใจและมีความจัดเจนด้านธุรกิจมากขึ้น สำหรับคอร์สด้านบริหารธุรกิจ มี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดหลักสูตร Global Mini MBA ตามแนวการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจสากลทั่วไป แล้วปรับให้สอดคล้องกับบริบทของไทย วิชาที่เรียนเช่น Entrepreneurial Strategy, Leadership and Managing Change in Challenging Times, The World of Entrepreneurs and Business Modeling  ส่วนหลักสูตรฮอตฮิตที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ประกอบการคือด้านการตลาด ซึ่งทาง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีหลักสูตร Executive Mini Marketing ที่สอนตั้งแต่ภาพรวมของแนวทางกลยุทธ์การตลาดในศตวรรษที่ 21 และเสริมความเข้มข้นกับวิชาต่างๆ อย่างการจัดทำแผนการตลาด การวิจัย การตลาดเพื่อการตัดสินใจ การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นต้น  ยังมีหลักสูตรที่ออกแบบมาเฉพาะทางโดยอิงตามเทรนด์และความต้องการของตลาดมากที่สุดเพื่อเจาะลึกองค์ความรู้ด้านนั้นๆ ให้ผู้เรียนได้รู้ลึกและรู้จริงอย่างถึงแก่น ดังหลักสูตร Expert on China (EOC) ของ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่เล็งเห็นว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งให้ความสนใจลงทุนทำการค้าในประเทศจีน  ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ฉายภาพว่า การเข้าไปจับธุรกิจกับคนจีนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้นต้องมีการศึกษาและ มองตลาดอย่างรอบคอบ “หลักสูตรนี้จึงจะทำให้คนไทยเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าคนจีนคิดอย่างไร รวมถึงเรื่องราว การทำการค้า วัฒนธรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ของจีน ซึ่งหากนักธุรกิจไทยรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว จะเข้าใจความเป็นจีนมากขึ้น ทำให้การค้าขายราบรื่น เหมือนรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” 
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คอร์ส EOC จะเรียนในรูปแบบการสัมมนาและเวิร์กช็อปเป็นเวลา 4 เดือน มีทั้งหมด 28 หัวข้อการเรียน โดยกูรูที่มาร่วมบรรยายล้วนเป็นคนคุณภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการ ปัญญาภิวัฒน์, จุลจักร กำลังแพทย์ ซีอีโอ แบรนด์ NEOU ที่เจาะตลาดจีนด้วยยอดขาย 240 ล้านบาทใน 4 เดือน, Xijun Zhu กรรมการผู้จัดการ China Railway Construction (Southeast Asia) และ คฑา ชินบัญชร ซินแสผู้เชี่ยวชาญศาสตร์จีนระดับท็อปของไทย เป็นต้น หลักสูตรนี้ยังเน้น การสร้าง Business Connection ในชั้นเรียน พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายของนักธุรกิจในจีนให้อีกด้วย รวมถึงมีการ matching โดยจะพาผู้เรียนไปจับคู่กับนักธุรกิจที่ประเทศจีนโดยตรง  อีกหลักสูตรที่สอดรับกับการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล คือ หลักสูตรพัฒนาการใช้สื่อดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ หรือ DEF (Digital Edge Fusion) ของ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีผู้ออกแบบหลักสูตรคือ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง TARAD.com และ บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ มือการตลาดของบาร์บีคิวพลาซ่า
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง TARAD.com
ภาวุธให้ข้อมูลว่า หลักสูตร DEF เน้นการเรียนรู้และปฏิบัติจริงระหว่างผู้เรียนกับชุมชน ด้วยการแบ่งผู้เรียนเป็นทีม โดยมีโจทย์ให้พวกเขาไปช่วยยกระดับสินค้าโอท็อปของชุมชนให้ก้าวไปเป็นสินค้าออนไลน์แล้วทำให้เกิดยอดขายมากที่สุด ซึ่งเริ่มต้นจะปูพื้นฐานก่อนทั้งความรู้เกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซพร้อมทักษะอื่นๆ ที่ต้องใช้งานประกอบกัน อย่างการถ่ายภาพ การถ่ายวิดีโอ “สิ่งที่ทุกทีมต้องทำคือการสร้างเว็บไซต์ โดยจะวัดผลเป็นรายสัปดาห์ว่าแต่ละทีมมี ยอดขายเท่าไร และปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อต่อสู้กับทีมอื่น ระหว่างนั้นเราจะสอดแทรกเทคนิคต่างๆ ของการขายของออนไลน์ การทำไวรัลมาร์เก็ตติ้ง การทำวิดีโอที่สามารถสร้างยอดแชร์สูงๆ เรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติจริงไปพร้อมกับองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น”  ในส่วนวิทยากรที่มาประจำการหลักสูตร DEF มาจากหลากหลายวงการ เช่น กรณ์ จาติกวณิช, ชานนท์ เรืองกฤติยา, อริยะ พนมยงค์, บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ นอกจากนั้น ทางหลักสูตรจะพาผู้เรียนไปดูงานที่ Facebook และ Google ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ระดับโลก  

ต่อยอดความรู้สู่เส้นชัย 

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว อินทิรานี ขันทอง ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทียร่า ขันทอง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ตัดสินใจผันตัวเองจากเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของ UNESCO มาทำธุรกิจส่วนตัว โดยเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมอบรมหลักสูตร Genius Academy ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ซึ่งจากการเข้าร่วมหลักสูตรนี้ได้นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เทียนหอมเทียร่า รานี เมื่อกลางปี 2560 
อินทิรานี ขันทอง ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทียร่า ขันทอง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
อย่างไรก็ตาม เพราะต้องการสร้างธุรกิจที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม จึงปรับแนวทางธุรกิจสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมกับเข้าอบรม หลักสูตรผู้บริหารวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship and Management: SEM) ของ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการปรับรูปแบบการรับซื้อวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ให้มาจากบริษัทที่ส่งเสริมเกษตรกรโดยตรง อีกทั้งมีการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับการนำส่วนหนึ่งของรายได้ไปสนับสนุนสังคม “เมื่อมาเรียนหลักสูตรนี้ก็ทำให้เราจัดระบบความคิดได้ดีกว่าเดิม...เหมือนเราได้โมเดลธุรกิจใหม่เลย” ขยับมาที่อีกหนึ่งบุคคลซึ่งได้เข้าร่วมติดอาวุธในหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการ คือ อภิธา วัลลภศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและกิจกรรม โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ ซึ่งเขาเป็นผู้เรียนรุ่นที่ 2 ของ หลักสูตรผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneurship: IDEA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนี้ เพราะอภิธาต้องการรีเช็กตัวเองว่ายังอิงกับกรอบความคิดธุรกิจแบบเดิมๆ  หรือไม่ แล้วยังมีประเด็นและเทรนด์ธุรกิจใดบ้างที่หลุดรอดสายตาไป “เหมือนเป็นการตรวจสอบว่าเรายังมีข้อบกพร่องตรงไหน เพื่อรีบลุกขึ้นมาอุดรูรั่ว”
อภิธา วัลลภศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและกิจกรรม โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์
หลังเรียนจบคอร์ส IDEA อภิธาได้เข้ามาจัดระบบการทำงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับลักษณะการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ไม่ยึดติด business process ที่เคยทำมาก่อน “การให้โจทย์ในการทำงาน จะไม่ใช่เป็นเรื่องที่พนักงานมองว่าต้องทำผลงานเอาชนะทีมอื่นอีกต่อไปแล้ว แต่เราทำให้ทุกคนกลับมาคิดร่วมกันและทำงานร่วมกันว่า business process ที่กำลังทำอยู่นั้นสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน และควรพัฒนาอะไรเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อเราเข้ามาปรับ mindset ของเขา ก็ทำให้เกิดการ synergy ในทีม ส่งผลให้การทำงานไปได้เร็วขึ้น” ทั้งนั้น จากการเข้าร่วมคอร์สครั้งนี้ อภิธามองว่าด้วยกลุ่มผู้เรียนมีหลายช่วงอายุ มาจากหลากกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย และเกิด indirect idea จากอุตสาหกรรมที่เพื่อนๆ อยู่ “ตัวเราและเพื่อนสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กันและกัน หรือถ้าเพื่อนบอกว่าอุตสาหกรรมนี้แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ คนที่คิดทันก็สามารถนำกรณีศึกษาจากเขามาแก้ปัญหาในองค์กรตัวเองได้เหมือนกัน นอกจากนี้ จะมีกรณีที่เป็นบุพเพสันนิวาส คือ บังเอิญมาเจอกันแล้วจับคู่กันทำ business matching ทำให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ หรือกลายเป็น business model ใหม่ๆ ก็ได้” เพราะการเข้าร่วมหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการ ไม่เพียงแต่จะได้แนวคิด องค์ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ สำหรับขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต แต่ยังได้ connection ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีเครือข่ายที่กว้างขวาง เพิ่มโอกาสทางการค้า และโลดแล่นอยู่บนสมรภูมิธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง      เรื่อง: Panchalee P. 
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "หลักสูตรเสริมแกร่ง ส่งผู้ประกอบการไทยก้าวไกล" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine