เหตุที่คนยุคมิลเลนเนียมนิยม Facebook เป็นเพราะ Facebook สามารถใช้ ‘ส่อง’ ประวัติของคนที่ต้องการได้ง่ายๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจมีคนแอบดูประวัติออนไลน์ของเราบนสื่อสังคมและค้นหาข้อมูลของเราด้วย Google ได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เมื่อเราสมัครงาน
จากการเก็บสถิติของ CareerBuilder เว็บไซต์หางานในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย พบว่า 35% ของนายจ้างมีแนวโน้มที่จะเรียกสัมภาษณ์ผู้สมัครงานรายนั้นๆ ต่ำลง หากพวกเขาไม่มีประวัติบนโลกออนไลน์ สถิตินี้ถูกคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อธุรกิจจำนวนมากเริ่มทำกิจการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้นเหตุของสถิตินี้เกิดจากนายจ้างพบว่าการเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมกับงานทำได้ง่ายขึ้นเมื่อสืบค้นข้อมูลของพวกเขาบนโลกออนไลน์ อะไรบ้างที่นายจ้างจะเพ่งเล็งเป็นพิเศษ? การศึกษาโดย GoDaddy ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง เปิดเผยว่า 5 สิ่งที่ผู้สมัครงานจะถูกตรวจสอบบนโลกออนไลน์มากที่สุด ได้แก่- ความคิดเห็นที่เป็นการเหยียดหรืออคติต่อสิ่งต่างๆ เช่น เชื้อชาติ, ศาสนา, เพศ ฯลฯ
- ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
- ความคิดเห็นทางลบต่อนายจ้างคนก่อนหรือเพื่อนร่วมงาน
- รูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เหมาะสม
- การใช้ยาเสพติด
พลิกวิกฤตตัวตนออนไลน์ให้กลายเป็นโอกาส
แม้ว่าจะมีคำเตือนมากมายให้เราระมัดระวังเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ ผู้สมัครงานควรตระหนักด้วยว่าในข้อเสียนั้นยังมีข้อได้เปรียบ ในการศึกษาของ GoDaddy ยังพบอีกว่า 1 ใน 3 ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลมักจะค้นพบข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่นำไปสู่การเลือกว่าจ้างผู้สมัครรายนั้น ได้แก่ ประวัติที่สนับสนุนคุณสมบัติอันเหมาะสมต่องาน, บุคลิกตรงกับวัฒนธรรมองค์กร และมีภาพลักษณ์ที่เป็นมืออาชีพ Jim Hughes ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ Red Lobster บริษัทร้านอาหารทะเล กล่าวว่า “เมื่อคุณเป็นผู้หางาน ต้องคาดการณ์ไว้ก่อนว่าบริษัทต่างๆ จะตรวจสอบประวัติสาธารณะของคุณเป็นลำดับแรก และเป็นตัวชี้วัดว่าบริษัทจะเก็บคุณไว้เป็นตัวเลือกในขั้นต่อไปหรือไม่ แม้ข้อมูลออนไลน์อาจจะไม่ใช่ใบสมัครงานอย่างเป็นทางการ แต่มันก็เหมือนๆ กับใบสมัคร เพราะเป็นส่วนผสมของประวัติส่วนตัว ทัศนคติ รวมถึงตัวตนและสไตล์ของคุณ” ตัวตนบนโลกออนไลน์ก็เหมือนส่วนขยายของใบสมัครงาน ผู้รับสมัครงานส่วนใหญ่ใช้เวลาอ่านรายละเอียดในประวัติสมัครงานของเราไม่มาก แต่สนใจสิ่งที่ผู้สมัครเขียนบนโลกออนไลน์มากกว่า โดยเฉพาะหากว่ามันสัมพันธ์กับสายงานที่สมัคร Ryan Frailich ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล Frailich Consulting กล่าวว่า “เมื่อบริษัทใช้ Google สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครงาน จะเป็นปัจจัยบวกมากหากเขา/เธอมีบุคลิกและทัศนคติกระตือรือร้นต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสายงาน ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งผมเคยว่าจ้างผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาวิทยาลัย และพบว่าคนๆ นั้นมีบทสนทนาใน Twitter กับคนในแวดวงการศึกษา มันเป็นแรงส่งอย่างมากเมื่อทราบว่าผู้สมัครรายนี้คิดถึงหัวข้อที่เกี่ยวกับงานแม้จะเป็นเวลาส่วนตัว และไม่ใช่แค่สมัครงานอะไรก็ได้ที่มี แต่ยื่นใบสมัครในสายงานที่เธอมีความกระตือรือร้นอย่างสูงที่จะทำ” ความจริงแล้ว ผู้หางานที่มีไหวพริบจะเล็งเห็นว่า ตัวตนออนไลน์คือจุดเริ่มต้นของการหางานมากกว่าจะเป็นตัวกรองขั้นสุดท้าย หรือเรียกได้ว่าเป็น “แบรนด์” ของคนๆ หนึ่ง การสร้างตัวตนให้เป็นคนที่สนใจหัวข้อหรือประเด็นใดเป็นพิเศษผ่านสังคมออนไลน์จะสามารถเปิดประตูสู่หน้าที่การงานได้ดียิ่งกว่าความพยายามสมัครงานแบบทั่วๆ ไปเสียอีกแปลและเรียบเรียงจาก What Millennial Job Seekers Need To Know About Their Online Presence โดย Kaytie Zimmerman ผู้ก่อตั้งบล็อก Optimistic Millennial ซึ่งให้คำแนะนำกับคนทำงานวัยผู้ใหญ่ตอนต้น