เปิดโผ 16 อาชีพรุ่ง-รอด-ร่วง เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนมนุษย์ - Forbes Thailand

เปิดโผ 16 อาชีพรุ่ง-รอด-ร่วง เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนมนุษย์

หุ่นยนต์ AI ระบบออโตเมชัน เทคโนโลยีเหล่านี้สร้างความกังวลให้บุคลากรในสายอาชีพต่างๆ ว่าตัวเองกำลังจะถูกกลืนกินในอนาคตหรือไม่ จนถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังวางแผนชีวิตให้บุตรหลานว่าควรจะศึกษาวิชาอะไรถึงจะยังมีตำแหน่งงานรองรับเมื่อเรียนจบ

ปัญหาเหล่านี้ได้รับการศึกษาวิจัยในสถาบันต่างๆ และได้รับคำตอบที่คล้ายคลึงกันคือ อาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางสังคมและไม่ใช่งานที่ทำซ้ำๆ จะยังอยู่รอดจากการทดแทนแรงงานของหุ่นยนต์ในอนาคต (เลื่อนอ่านสรุป 16 อาชีพรุ่ง-รอด-ร่วงได้ที่ท้ายบทความ)  

อาชีพที่ต้องทำงานกับ “คน” จะอยู่รอด

David J. Deming จาก Harvard University ศึกษาอัตราจ้างงานในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1980-2012 และแบ่งแยกทักษะสำคัญต่อการทำงานออกเป็น 2 อย่าง คือ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics ทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) กับ ทักษะทางสังคม และนำมาจัดกลุ่มอาชีพออกเป็น 4 กลุ่มพร้อมวิเคราะห์ระดับความต้องการในตลาดงาน ดังนี้ กลุ่มที่มีอัตราจ้างงานเกิดขึ้นสูงสุดที่ 7.2% และอัตราค่าแรงก็เพิ่มขึ้นสูงถึง 26% คือ อาชีพกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทั้งทักษะทั้ง 2 อย่าง ทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องกับ STEM และทักษะทางสังคม เช่น นักบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ นักวิเคราะห์การบริหารธุรกิจ แพทย์ พยาบาล นักเทคนิกการแพทย์ รองลงมาคือ อาชีพกลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่ต้องใช้ STEM มากนัก แต่ต้องมีทักษะทางสังคมสูง อาชีพส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะอยู่รอดจากการแทนที่ของหุ่นยนต์ บางส่วนมีโอกาสเติบโตเป็นที่ต้องการของตลาดงานและได้รับค่าจ้างเพิ่มสูง เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา ครู และบางส่วนมีโอกาสถูกหุ่นยนต์ทดแทนต่ำแต่อัตราการจ้างงานหรือค่าจ้างทรงตัว เช่น นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ ผู้ดูแลเด็กเล็ก ผู้ช่วยทนายความ ถัดมาคือ อาชีพกลุ่มที่ 3 ซึ่งต้องใช้ทักษะ STEM แต่ไม่ต้องใช้ทักษะทางสังคมมากนัก กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอัตราการจ้างงานและค่าจ้างทรงตัว เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร ช่างไฟฟ้า นักสถิติศาสตร์ นักเทคนิกห้องตรวจทางชีววิทยา และบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ เช่น เสมียนบัญชี พนักงานทั่วไปในออฟฟิศ  ส่วน อาชีพกลุ่มที่ 4 ซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะทั้งทางสังคมและความรู้แบบ STEM คือกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ เช่น ช่างไม้ ช่างยนต์ ผู้ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน ช่างซ่อมเครื่องจักร ช่างเชื่อม และแรงงานทั่วไป  ดังนั้น การศึกษาของ Deming จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า อาชีพที่จะอยู่รอดจากการเข้ามาทดแทนของหุ่นยนต์คืออาชีพที่ต้องมีการใช้ความเป็นมนุษย์ ใช้ทักษะการเจรจาเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม และแก้ไขปัญหาที่คาดไม่ถึง และยิ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสังคมร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์จะยิ่งเป็นที่ต้องการ  

อาชีพอนาคตต้องคิดสร้างสรรค์

รายงานวิจัยอีกชุดหนึ่งที่ได้ผลการศึกษาในแนวทางเดียวกัน เป็นงานวิจัยโดย Carl Benedict Frey และ Michael Osborne จาก Oxford University ในปี 2013 พวกเขานำอาชีพ 702 อาชีพมาศึกษาและวัดผลว่าคอมพิวเตอร์ (ระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งและหุ่นยนต์) จะเข้ามาทำงานแทนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้านำระบบออโตเมชันเหล่านี้มาแทนได้น้อย โอกาสที่จะว่างงานก็น้อยลงด้วย โดยเว็บไซต์ www.npr.org ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปให้เข้าใจง่ายผ่าน 4 ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบกับอาชีพ และพบว่าอาชีพที่มีโอกาสอยู่รอดในยุคระบบออโตเมชัน คืออาชีพที่ต้องคิดค้นวิธีการทำงานที่ชาญฉลาดอยู่บ่อยครั้ง เป็นงานที่ต้องมีการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการส่วนตัว เป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ให้น้อยลง และเป็นงานที่ต้องเจรจาต่อรองกับผู้อื่นสูง โดยถ้าหากมีปัจจัย 2-3 อย่างอาชีพนั้นก็มีโอกาสรอดในอนาคต ยกตัวอย่าง อาชีพที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชันต่ำกว่า 10% เช่น สถาปนิก วิศวกรโยธา วิศวกรการบินและอวกาศ ดีไซเนอร์ บรรณาธิการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ภัณฑารักษ์ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ทนายความ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ช่างแต่งหน้า ตำรวจ อาชีพที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชัน 10-50% เช่น วิศวกรปิโตรเคมี ล่าม นักแปล นักประชาสัมพันธ์ นักข่าว นายหน้า โปรแกรมเมอร์ ช่างไฟฟ้า เชฟ ผู้พิพากษา กงเซียจ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน และอาชีพที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชันสูงกว่า 50% เช่น เจ้าหน้าที่สินเชื่อ นักบัญชี นักวิเคราะห์การตลาด เซลส์ ผู้ช่วยทนายความ ช่างเขียนแบบ ช่างยนต์ แม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง บรรณารักษ์ บริกรร้านอาหาร ช่างทำเล็บ ช่างตัดผม พนักงานขับรถ (ตรวจสอบความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชันของอาชีพต่างๆ ได้ที่นี่)  

สรุปอาชีพ รุ่ง รอด ร่วง

อาชีพ “รุ่ง”
  • แพทย์
  • ทนายความ
  • ผู้บริหารธุรกิจ
  • ครู-อาจารย์
กลุ่มอาชีพที่หุ่นยนต์หรือระบบออโตเมชันจะแทนที่ได้ยาก คืออาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางสังคมสูง เจรจาต่อรองกับผู้คนหรือทำงานเป็นทีม มีการคิดค้นปรับเปลี่ยนวิธีทำงานบ่อยครั้ง   อาชีพ “รอด”
  • ทันตแพทย์
  • เภสัชกร
  • ตำรวจ
  • ช่างไฟฟ้า
กลุ่มอาชีพที่มีการใช้ทักษะทางสังคมปานกลาง และยังต้องคิดค้นวิธีการทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนทักษะบางอย่างได้ทำให้ตลาดงานต้องการกำลังคนน้อยลง   อาชีพ “ร่วง”
  • แรงงานก่อสร้าง
  • พนักงานขับรถ
  • ช่างยนต์
  • พนักงานทั่วไปในออฟฟิศ
กลุ่มอาชีพที่ทำงานซ้ำเดิม ไม่ได้ต้องการทั้งทักษะทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ระดับสูงและทักษะทางสังคม ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนได้   อ้างอิง