งานวิจัยเผย หญิงวัยทำงาน โสดเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คาดปี 2030 โสดเพิ่มขึ้นเป็น 45% ส่งผลดีต่อธุรกิจเสื้อผ้า-เครื่องสำอาง-อาหาร-ของแบรนด์เนม-รถยนต์
CNN รายงานว่า จำนวนประชากร หญิงวัยทำงาน ที่มีสัดส่วนคนโสดเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กำลังจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
งานวิจัยจาก Morgan Stanley ที่อาศัยข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงานพบว่า แรงงานหญิงนั้นมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจอเมริกาคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และภายในปี 2030 หญิงวัยทำงาน ในสหรัฐฯ ที่อายุระหว่าง 25-44 ปีราว 45% จะเป็นผู้หญิงโสด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยในปี 2018 หญิงวัยทำงาน ในช่วงอายุดังกล่าวเป็นหญิงโสดอยู่ 41%
งานวิจัยของ Morgan Stanley ยังระบุอีกว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ซื้อหลักในสินค้าครัวเรือนของอเมริกา และหญิงโสดมีแนวโน้มใช้จ่ายเงินมากกว่าหญิงที่แต่งงานแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงทางประชากรนี้ทำให้ธุรกิจบางส่วนได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องแต่งกายและรองเท้า, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care), อาหาร, สินค้าหรูหรา และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง Morgan Stanley ระบุว่าเหล่านี้เป็นสินค้าที่หญิงโสดมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินให้มากที่สุด
ซึ่งในส่วนของเครื่องแต่งกาย แบรนด์สินค้าอย่าง Lululemon Athletica และ Nike จะอยู่ในตำแหน่งที่ดี แม้ว่าประชากรผู้สูงอายุจะทำให้เซ็กเตอร์นี้มีสัดส่วนน้อยลงก็ตาม
คนโสดโดยเฉพาะผู้หญิงใช้เงินไปกับการดูแลตัวเองมากกว่าเพื่อนๆ ที่แต่งงานแล้ว ซึ่ง Morgan Stanley ชี้ว่านั่นทำให้ Sephora ร้านมัลติแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Louis Vuitton Moët Hennessy (LVMH) รวมถึงร้าน Ulta Beauty ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ
ไม่เพียงเท่านั้น โครงสร้างครอบครัวของชาวอเมริกันที่เปลี่ยนไปยังทำให้เกิดธุรกิจแบบร้านอาหารสไตล์ fast-casual อย่างร้าน Chipotle Mexican Grill และ Starbucks เพิ่มมากขึ้น
ท้ายที่สุด Morgan Stanley คาดการณ์ว่า จำนวนผู้หญิงที่ซื้อรถจะมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้สัดส่วนผู้ซื้อรถเป็นผู้ชายมากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ชายและผู้หญิงจะต่างคนต่างซื้อรถ ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายรถให้เติบโต โดยหุ้นเด่นในกลุ่มรถยนต์ก็คือ Tesla นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หญิงโสดวัยทำงานไม่ได้ซื้อแค่ลิปสติก, รถ หรือชุดโยคะเท่านั้น
“ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่าที่จะมีผู้หญิงเป็นผู้นำ จะใช้เงิน 82% ไปกับความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ที่อยู่อาศัย, อาหาร, การเดินทาง, สุขภาพ และเครื่องแต่งกาย” Lauren Bauer นักวิจัยในงานศึกษาด้านเศรษฐกิจจาก Brookings Institution ระบุ
ทั้งนี้ รายงานจาก The Hamilton Project ของ Brookings Institution ระบุว่า หากเปรียบเทียบแล้ว ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางใช้เงินไปกับสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 78% โดยค่าที่อยู่อาศัยนั้นกินสัดส่วนมากที่สุดของรายได้ ขณะที่ในครัวเรือนรายได้ต่ำ ค่าที่อยู่อาศัยกินสัดส่วนเกือบครึ่ง ตามด้วยอาหารและการเดินทาง
Bauer กล่าวว่า สัดส่วนของหญิงโสดในตลาดแรงงานมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเมื่อผู้หญิงมีการศึกษาระดับปริญญาตรีมากขึ้น, แต่งงานช้า และกว่าจะมีลูกก็มีอายุมากกว่าในอดีตเยอะ โดยราว 80% ของหญิงโสดที่อายุระหว่าง 25-54 ปีเป็นกลุ่มที่กำลังทำงานหรือไม่ก็กำลังหางานทำ
และเมื่อสัดส่วนแรงงานเปลี่ยนไป องค์กรต่างๆ ควรต้องกลับมาทบทวนวิธีการซัพพอร์ตพนักงาน เพราะหนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับหญิงทำงานก็คือการได้เข้าถึงสถานรับเลี้ยงเด็ก
“เราต้องพูดถึงการผ่อนคลายแรงกดดันในบ้าน” Pam Jeffords จาก PwC กล่าว ซึ่งหมายถึงนายจ้างต้องพิจารณาเกี่ยวกับการดูแล (ทั้งเด็กและพ่อแม่เด็ก) ในเงื่อนไขการจ้างงานมากกว่าเรื่องผลประโยชน์
“องค์กรต่างๆ ต้องหยุดคิดว่าโครงสร้างครอบครัวมีเพียงรูปแบบเดียวและต้องการการซัพพอร์ตรูปแบบเดียว” Jeffords กล่าว
ที่มา แปลและเรียบเรียงโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creatorไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine