Skinfood ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทรายได้หดต่อเนื่อง 4 ปี หนี้สะสมพันล้าน - Forbes Thailand

Skinfood ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทรายได้หดต่อเนื่อง 4 ปี หนี้สะสมพันล้าน

Skinfood อดีตแบรนด์เครื่องสำอางท็อป 3 ของเกาหลีช่วงยุค 2000s ถูกยื่นฟ้องพิทักษ์ทรัพย์ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ต่อลมหายใจกิจการ

สำนักข่าว Korea Herald ในเกาหลีใต้ รายงานว่า ช่วงต้นเดือนตุลาคม บริษัท iPEERS Cosmetics บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์ Skinfood ถูกบริษัทคู่สัญญา 14 แห่งยื่นฟ้องร้องให้พิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล Daegu District Court หลังจากที่ Skinfood ผิดนัดชำระหนี้ค่าสินค้ามูลค่า 2 พันล้านวอน (ประมาณ 58 ล้านบาท) ซึ่งศาลได้รับคำฟ้อง และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2018 บริษัท Skinfood ได้รับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และให้มีการเจรจาประนอมหนี้แล้ว “ถึงแม้ว่าบริษัทจะอยู่ระหว่างบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวมากขึ้นหลังจากมีปัญหาหนี้สะสม แต่ด้วยแบรนด์อันเป็นเอกลักษณ์และผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพของ Skinfood เราเชื่อว่าการปรับโครงสร้างหนี้ในชั้นศาลจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อันหมายรวมถึงเจ้าหนี้ด้วย” เป็นข้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของบริษัท ทั้งนี้ การพิทักษ์ทรัพย์นับเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการล้มละลาย ในระหว่างนี้ Skinfood จะต้องเจรจาประนอมหนี้และดำเนินการชำระหนี้ให้เรียบร้อย โดยศาลอาจสั่งให้มีการทำแผนฟื้นฟูกิจการด้วย แต่ถ้าหากยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ศาลอาจสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายและอายัดทรัพย์ต่อไป Skinfood เป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่เปิดตัวในตลาดเมื่อปี 2004 และมีชื่อเสียงเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยคอนเซปท์อันเป็นเอกลักษณ์จากการใช้วัตถุดิบที่รับประทานได้เป็นส่วนประกอบเครื่องสำอาง เช่น มะเขือเทศ อะโวคาโด น้ำผึ้ง และมีไลน์สินค้าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น เครื่องประทินผิว ผลิตภัณฑ์บำรุงผม และเครื่องสำอาง หากวัดจากยอดขาย Skinfood เคยอยู่ในอันดับ 3 ของตลาดเครื่องสำอางเกาหลีรองจากแบรนด์ Missha และ The Face Shop เมื่อปี 2012 ซึ่งปีนั้น Skinfood ทำรายได้ไปถึง 2 แสนล้านวอน (ราว 5.8 พันล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านวอน (ราว 437 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม Skinfood ได้รับผลกระทบมากขึ้นในระยะหลังเมื่อมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาบุกตลาดเครื่องสำอางจำนวนมาก และเข้าสู่จุดวิกฤตในปี 2015 เมื่อเกิดโรคเมอร์สแพร่ระบาดในเกาหลีใต้ ต่อด้วยปัญหาระหว่างประเทศของจีนกับเกาหลีใต้กรณีข้อพิพาทโครงการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในปี 2016 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ทำให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเกาหลีใต้ลดลงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกำลังซื้อสำคัญ ทั้งนี้ Skinfood นั้นมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 โดยปี 2017 นั้นรายได้ของบริษัทอยู่ที่ 1.27 แสนล้านวอน (ราว 3.7 พันล้านบาท) ลดลง 25% จากปีก่อนหน้า และมีหนี้สะสมแตะ 4.34 หมื่นล้านวอน (ราว 1.26 พันล้านบาท) โดยที่ผ่านมาบริษัทมีความพยายามปรับโครงสร้างทางการเงิน จากการพิจารณาขายลิขสิทธิ์ดำเนินการบริหารแบรนด์และร้านค้าในต่างประเทศที่ Skinfood มีการขยายสาขาไปเปิดใน 19 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Amazon Korea เพื่อเปิดร้านค้าทางการบนเว็บไซต์ Amazon โดยหวังว่าจะช่วยดันรายได้จากต่างประเทศของ Skinfood ได้ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า Skinfood อาจจะต้องเริ่มปิดสาขาบางแห่งเนื่องจากสินค้าในสต๊อกขาดแคลน   ที่มา: