ซีอีโอ Panasonic เผยผู้บริหารต้อง ‘ตื่นตัวต่อวิกฤต’ หรือไม่ก็ถูกเชิญออก - Forbes Thailand

ซีอีโอ Panasonic เผยผู้บริหารต้อง ‘ตื่นตัวต่อวิกฤต’ หรือไม่ก็ถูกเชิญออก

Yuki Kusumi ซีอีโอแห่ง Panasonic Holdings Corporation เผยในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า เจ้าหน้าที่ระดับบริหารจัดการจำเป็นต้องมี ‘ความตื่นตัวต่อวิกฤต’ ให้มากขึ้น มิฉะนั้นก็ต้องถูกเชิญออก พร้อมชี้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ที่ลดลง


    “หากพวกเขาไม่สามารถสร้างผลงานได้ ก็จะถูกแทนที่” Kusumi กล่าว “เหตุที่สร้างผลงานไม่ได้ ก็เพราะขาดความตื่นตัวต่อวิกฤต”

    คำพูดเหล่านี้ถือว่ารุนแรงและพบได้ไม่บ่อยนักในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่ Panasonic ซึ่งปกติแล้วจะมีการจ้างพนักงานยาวไปจนตลอดชีวิต และไม่ค่อยมีการเชิญออก ทว่าเมื่อราวสองเดือนก่อน Kusumi ได้ออกมาแสดงความเห็นขณะพูดคุยเรื่องกลยุทธ์ที่สำนักงานในโอซาก้าว่า บริษัทฯ มีความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่าเป้า และเขาตั้งใจลดตัวเลข ‘ธุรกิจที่มีปัญหา’ ลงให้เหลือศูนย์ภายในเดือนมีนาคมปี 2027

    นิยามคำว่า ‘ธุรกิจที่มีปัญหา’ ของเขาคือธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตต่ำ และอัตราส่วนผลตอบแทนของเงินลงทุน (ROIC) น้อยกว่าต้นทุนเฉลี่ยของกิจการ (WACC)

    หุ้นของ Panasonic ตกลงราว 4% ในปีนี้ หลังพุ่งทะยาน 26% เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีการแข่งขันสูงขึ้น โดยดัชนี Topix เพิ่มขึ้นประมาณ 22% ในปีนี้

    Panasonic ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ปัจจุบันเป็นผู้จัดหาแบตเตอรี่รายหลักแก่ Tesla และยังมีการลงทุนในซอฟต์แวร์ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสถานะในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรม ซึ่ง Kusumi เผยว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทฯ ทำให้ไลน์ผลิตบางส่วนในโรงงานที่เขตซูมิโนเอะของโอซาก้าต้องหยุดชะงัก

    “จุดที่ผมกังวลที่สุดคือเราไม่สามารถทำกำไรมากพอจะได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดานักลงทุน” Kusumi กล่าว “แม้ว่าราคาหุ้นต่างๆ ในญี่ปุ่นกำลังเติบโต แต่หุ้นของเราติดอยู่ที่ราว 1,300 เยน”

    การที่ราคาซื้อขายของ Panasonic อยู่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) คือสาเหตุที่ทำให้ Kusumi กังวล ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเหมือนกำลังอยู่ในสงครามซึ่งมีรัฐบาลหนุนหลัง คอยผลักดันให้บริษัทต่างๆ ยกระดับมูลค่าตลาดอันเกี่ยวข้องกับมูลค่าสินทรัพย์รวม เพื่อกระตุ้นอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ให้สูงกว่า 1.0

    จากข้อมูลที่ Bloomberg รวบรวมมา อัตราส่วน P/BV ของ Panasonic ปัจจุบันอยู่ที่ 7.0 ในขณะที่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของญี่ปุ่นอีกรายอย่าง Hitachi ซึ่งมีการปรับโครงสร้างและขายสินทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ มีราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีราว 3 เท่าตัว

    Panasonic นำโครงสร้างของบริษัทโฮลดิ้งเข้ามาใช้เมื่อ 2 ปีก่อน พร้อมยกเครื่ององค์กรตั้งเป้าให้แต่ละแผนกเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งช่วยให้ Kusumi จัดการดีลใหญ่ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น การขายธุรกิจระบบยานยนต์ให้ Apollo Global Management ด้วยมูลค่า 3.11 แสนล้านเยน

    ณ ตอนนี้ Kusumi กำลังพยายามเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับแผนกที่มีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำกว่าเป้าภายในอีก 2 ปีข้างหน้า มิฉะนั้น Panasonic ก็ต้องหันมาพิจารณาตัวเองว่า ‘เป็นเจ้าของที่ดี’ ของกิจการต่างๆ ที่ครอบครองอยู่หรือเปล่า ซึ่งการเป็นเจ้าของที่ดีสำหรับเขาคือการที่ผู้ถือหุ้น รวมถึงพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สูงสุดได้ ซีอีโอแห่ง Panasonic อธิบายว่าไม่มีเป้าหมายที่จะขายธุรกิจใดๆ ออกไป และย้ำว่าทุกธุรกิจต้องยืนหยัดอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง

    หลังก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอช่วงกลางปี 2021 Kusumi พยายามเพิ่มกระแสเงินสดเพื่อลงทุนในด้านต่างๆ โดยวางเป้าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ไว้ที่ 10% หรือสูงกว่า ส่วนกำไรจากการดำเนินงานเขาตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านล้านเยนภายใน 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเมษายนปี 2025

    หากกล่าวถึง Panasonic แล้ว ผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นคือ Konosuke Matsushita ผู้ได้รับสมญาว่าเป็น ‘เจ้าแห่งการบริหารจัดการ’ ในญี่ปุ่น เขาเป็นผู้ผลักดันแนวคิดที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือ ความนอบน้อม และการอุทิศเพื่อสังคม มาเป็นเสาหลักสำหรับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการปรับตัวและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ณ เวลานี้ Kusumi มองสถานการณ์ของ Panasonic ว่า “การบริหารจัดการ โดยเฉพาะในระดับสูง เช่น ผู้จัดการแผนกต่างๆ และประธานของแต่ละธุรกิจ จำเป็นต้องมีความตื่นตัวต่อวิกฤต” ซึ่งวิกฤตในที่นี้ก็คือการไม่มีผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจ


แปลและเรียบเรียงจาก Panasonic CEO issues ultimatum to managers: Deliver results, or be replaced


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักท่องเที่ยวเลี่ยงไปปารีสช่วง ‘โอลิมปิก 2024’ กระทบยอดขายตั๋วเครื่องบินร่วงกว่า 100 ล้านยูโร

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine