อุตสาหกรรมเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา แต่กลับสร้างความกังวลในกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม เพราะจากจำนวนเที่ยวบินของเจ็ตส่วนตัวในปี 2023 ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึง 15.6 ล้านตัน คิดเป็น 1.8% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในการบินพาณิชย์ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกในปัจจุบัน
ผลการศึกษาใหม่ล่าสุด ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2024 ระบุว่า การบินส่วนบุคคล (Private Aviation) เป็นการสัญจรทางอากาศที่ใช้พลังงานมากที่สุด และเป็นที่จับตามองสูงเพราะเกี่ยวโยงกับปัญหา Climate Change โดยผู้ใช้บริการการบินส่วนบุคคล คือกลุ่มมหาเศรษฐี (Ultra-High Net Worth Individual หรือ UHNWI) ซึ่งมีจำนวนราว 256,000 คน หรือคิดเป็น 0.003% ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลก แต่กลับเป็นเจ้าของความมั่งคั่งรวมกว่า 31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทีมนักวิจัยได้ใช้ระบบติดตามเที่ยวบินที่เรียกว่า ADS-B Exchange เพื่อรวบรวมข้อมูลอากาศยานส่วนตัวเกือบ 26,000 ลำตั้งแต่ปี 2019 - 2023 พบว่า เที่ยวบินส่วนบุคคล 47.4% เป็นเที่ยวบินที่มีระยะทางต่ำกว่า 500 กิโลเมตร และอีกกว่า 900,000 เที่ยวบิน มีระยะทางต่ำกว่า 50 กิโลเมตร เรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรจากการใช้แท็กซี่เดินทาง ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปงานฟุตบอลโลกในปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ก็มีจำนวนกว่า 1,800 เที่ยวบิน
งานใหญ่ทั่วโลกที่มีผู้ร่วมงานใช้เครื่องบินส่วนตัวไปเข้าร่วมอื่นๆ อาทิ World Economic Forum (WEF) จำนวน 660 เที่ยวบิน, เทศกาลภาพยนตร์ที่ Cannes จำนวน 644 เที่ยวบิน, การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ COP28 จำนวน 291 เที่ยวบิน และงานแข่งขันกีฬาอเมริกันรอบชิงชนะเลิศประจำปีอย่าง Super Bowl จำนวน 200 เที่ยวบิน
รายงานยังเผยว่า เที่ยวบินโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวทั้งหมดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 15.6 ตันในปี 2023 หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 ตันต่อ 1 เที่ยวบิน ซึ่งคิดเป็น 1.8% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในการบินพาณิชย์ และผู้โดยสารบางรายที่ใช้เจ็ตส่วนตัวอาจเป็นตัวการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนปกติถึง 500 เท่าต่อปี
“สัดส่วนกลุ่มคนร่ำรวยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด แต่กลับปล่อยคาร์บอนในอัตราสูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” Stefan Gossling นักภูมิศาสตร์จาก Linnaeus Universiry ในสวีเดน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เรากำลังเผชิญกันในปัจจุบันมาจากกลุ่มผู้มั่งคั่งเหล่านี้”
เมื่อมองภาพรวมแล้ว การปล่อยคาร์บอนระหว่างปี 2019 - 2023 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 46% โดย Gossling พิจารณาว่า กระแสการใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องด้วยมีการยกเลิกเที่ยวบินพาณิชย์ทั่วไป ทำให้ผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางหันมาใช้การบินส่วนตัวแทน และหลายคนต้องก็การลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว อุตสาหกรรมเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปอีกหลายสิบปี บริษัทด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมระดับโลก Honeywell คาดการณ์ว่าจะมีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวอีกราว 8,500 ลำพร้อมขึ้นบินภายในปี 2033
ในส่วนของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ทางองค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) เผยรายงาน Emissions Gap Report ประจำปี 2024 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ด้วยนโยบายต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นศตวรรษนี้ เกินกว่าข้อตกลงที่เคยตั้งกันไว้เมื่อราว 10 ปีก่อนถึงเท่าตัว
รายงาน Emissions Gap Report ประจำปี 2024 ระบุด้วยว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2023 เพิ่มขึ้น ถึง 1.3% จากปี 2022 โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมหาศาลจนทำสถิติใหม่ที่ 57.1 กิกะตัน หรือ 57,100,000,000 ตัน นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ในกลุ่ม G20 ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าที่ควรในการดำเนินการเพื่อพิชิตเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี 2030 ตามที่เคยตกลงร่วมกัน
แหล่งที่มา:
‘Used like taxis’: Soaring private jet flights drive up climate-heating emissions
Private jets are increasingly replacing car trips—for the ultra-wealthy
What are the private flights of the 1% doing to the planet? The numbers are in
Climate change: UN report says planet to warm by 3.1 C without greater action
Private aviation is making a growing contribution to climate change
Image by Go Air Brokerage from Pixabay
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Pet tourism เทรนด์ที่มาพร้อมโอกาสทางธุรกิจ เมื่อเจ้าของต้องการเที่ยวกับสัตว์เลี้ยง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine