‘คำสาปดาวมิชลิน’ เมื่อเกียรติยศมาพร้อมภาระสาหัส พาร้านอาหารปิดกิจการถึง 40% ใน 9 ปี - Forbes Thailand

‘คำสาปดาวมิชลิน’ เมื่อเกียรติยศมาพร้อมภาระสาหัส พาร้านอาหารปิดกิจการถึง 40% ใน 9 ปี

ดาวมิชลิน (Michelin Star) อาจถูกมองเป็นเกียรติยศสูงสุดแห่งวงการอาหาร เชฟมากมายพยายามไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งดาวมิชลินสักดวง แต่สำหรับร้านอาหารหลายแห่ง รางวัลดังกล่าวมาพร้อมกับความท้าทายใหญ่หลวงที่หนักหนาสาหัสเสียจนต้องเลิกกิจการ


    ทีมวิจัยจาก University College London (UCL) School of Management ได้ติดตามข้อมูลการรีวิวร้านอาหารต่างๆ ในนิวยอร์กที่เปิดระหว่างปี 2000-2014 และพบว่าร้านที่ได้รับดาวมิชลินมีแนวโน้มจะปิดตัวลงมากกว่าร้านที่ไม่ได้รับดาว แม้ว่าจะพิจารณาเกณฑ์ด้านสถานที่ ราคา และประเภทอาหารแล้วก็ตาม

    ณ สิ้นปี 2019 ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินตั้งแต่ปี 2005-2014 จำนวน 40% ต้องเลิกกิจการ อาจกล่าวได้ว่า ชื่อเสียงมาพร้อมความรับผิดชอบที่หนักเกินกว่าพวกเขาจะแบกรับไหว บางคนมีชื่อเล่นให้กับสถานการณ์นี้ว่า Michelin Curse หรือ คำสาปดาวมิชลิน

    สื่อ Harpers ของสหราชอาณาจักร เผยว่า เมื่อเดือนมกราคม 2024 ร้าน Le Gavroche ซึ่งเป็นร้านอาหารแห่งแรกในสหราชอาณาจักรที่เคยครอบครองดาวมิชลินถึง 3 ดวงช่วงปี 1982-1993 ได้ประกาศเลิกกิจการ ต่อด้วยร้าน Cornerstone ในลอนดอนซึ่งเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2018 และคว้าดาวมิชลินไปครองในปี 2019 ก็เพิ่งปิดร้านไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นในปี 2020 ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรง ร้านอาหารเจ้าของดาวมิชลิน 2 ดวงอย่าง Greenhouse ก็ได้อำลาลอนดอนไปอย่างน่าเสียดาย



    ไม่เพียงแค่ในลอนดอนเท่านั้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 สำนักข่าว Euronews รายงานว่า ร้านอาหาร fine dining ที่เคยคว้าดาวมิชลินถึง 5 แห่งในเบอร์ลิน เยอรมนี ทยอยปิดตัวไปตามๆ กันตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น พิษเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ผู้บริโภครัดเข็มขัด และค่าใช้จ่ายในการบริการจัดการร้านที่เพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ


รางวัลที่มาพร้อมความคาดหวังและกดดัน

    โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักเข้าใจว่าดาวมิชลินเป็นตัวการันตีความสำเร็จของร้านอาหารแต่ละแห่งในระยะยาว แต่ตัวเลขสถิติกลับชี้ไปยังทิศทางตรงกันข้าม มีข้อมูลในแวดวงอุตสาหกรรมร้านอาหารเผยว่า ราว 60% ของร้านอาหารมักจะล้มเหลวภายในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ และอัตราการล้มเหลวเพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเข้าสู่ปีที่ห้า ซึ่งร้านอาหารเจ้าของดาวมิชลินก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

    “การได้รับดาวมิชลินจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการต่อรองกับเจ้าของที่ดิน ซัพพลายเออร์ และพนักงาน” Daniel Sands หนึ่งในทีมวิจัยจาก UCL กล่าว

    เมื่อร้านอาหารได้รับดาวมิชลิน ก็มักมีลูกค้าหน้าใหม่แห่แหนกันมาเยือนมหาศาล หลายคนคาดหวังว่าอาหารทุกจานต้องยอดเยี่ยมไร้ที่ติ ทำให้ร้านต้องสรรหาวัตถุดิบเกรดพิเศษ เพิ่มจำนวนพนักงาน และลงทุนปรับปรุงสถานที่ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือความท้าทายใหม่ๆ อันนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของแต่ละร้าน กลายเป็นภาระด้านการเงิน

    นอกจากนี้ ร้านอาหารยังต้องเผชิญแรงกดดันจากการพยายามรักษาดาวมิชลินเอาไว้ หรือไม่ก็ความทะเยอทะยานต้องการจำนวนดาวมากขึ้น ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ต้องสะดุดลง เนื่องจากเชฟอาจยึดติดกับเมนูอาหารที่คว้ารางวัลมาให้ร้านจนเผลอจำกัดไอเดียและโอกาสในการทดลองสิ่งใหม่


อิทธิพลของดวงดาว ภาระของร้านอาหาร

    ปัญหาจากดาวมิชลินไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2020 สำนักข่าว CNN รายงานว่า เชฟและร้านอาหารดังหลายแห่งมองว่าดาวมิชลินเป็นเสมือนภาระมากกว่ารางวัลแห่งเกียรติยศ โดยหลายคนเลือกที่จะขอคืนดาวมิชลิน ปิดประตูอำลาเส้นทางแห่งอาหารชั้นสูง (Haute-cuisine) เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ที่เติมเต็มชีวิตของพวกเขาได้ดีกว่า เช่น การหันมาทำรถขายอาหาร (Food Truck) แทน



    ยกตัวอย่าง ในปี 2018 ร้านอาหารในอันดาลูเซีย สเปนของ Dani Garcia ได้รับดาวมิชลินดวงที่ 3 และ 22 วันหลังจากนั้น เชฟชาวสเปนผู้นี้ก็แจ้งแก่พนักงานว่าเขาจะปิดร้านในปี 2019 นับเป็นช่วงเวลาการครอบครองดาวมิชลิน 3 ดวงที่สั้นที่สุดในโลก

    Garcia ให้เหตุผลว่า เขาไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถอุทิศทุ่มเทเพื่อรักษาดวงดาวเหล่านี้เอาไว้ได้ “ความสำเร็จครั้งนี้บ่อนทำลายอิสระในการทดลองทำสิ่งใหม่ของผม”

    การประกาศปิดร้านอาหาร ณ ขณะที่กำลังเฟื่องฟูนับว่าสร้างความฉงนไม่น้อย แต่กรณีเช่นนี้สะท้อนมุมมองความคิดว่าด้วยโมเดลธุรกิจร้านอาหาร fine dining สมัยใหม่ที่กดดันให้เชฟต้องมีความคิดสร้างสรรค์ไม่ขาดสายเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

    แน่นอนว่ารางวัลดาวมิชลินช่วยให้ผู้คนรู้จักร้านอาหารมากขึ้นจริง การศึกษาของ UCL ชี้ว่าผลการค้นหาร้านอาหารที่เพิ่งได้รับดาวมิชลินใน Google มีความเข้มข้นขึ้นกว่า 1 ใน 3 อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดร้านอาหารในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ย่อมกลายเป็นประเด็นร้อนยิ่งกว่า และถือเป็นโอกาสดีให้เชฟได้ประชาสัมพันธ์ธุรกิจใหม่ บางทีการปิดกิจการหนึ่งเพื่อดำเนินกิจการอื่นก็อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่เลวร้ายอะไร


แปลและเรียบเรียงจาก Why a Michelin star can spell danger for restaurants

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:

The Michelin Star: A Blessing or a Curse?

Tom Brown’s Michelin-starred restaurant Cornerstone to close amidst wave of high-profile closures

Has Berlin's fine dining bubble already burst? Michelin-starred restaurants in crisis in Germany


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไทยติดอันดับ 3 เมืองที่สายกินต้องมาเยือนในเอเชีย รองจาก ‘เกาหลีใต้ - ไต้หวัน’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine