เศรษฐกิจ “ญี่ปุ่น-อังกฤษ” ถดถอย “เยอรมนี” ผงาดอันดับ 3 แต่อาการยังน่าห่วง - Forbes Thailand

เศรษฐกิจ “ญี่ปุ่น-อังกฤษ” ถดถอย “เยอรมนี” ผงาดอันดับ 3 แต่อาการยังน่าห่วง

เข้าเดือนที่สองของปี 2024 ได้ไม่นาน สหราชอาณาจักรก็ถึงคราวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวญี่ปุ่นที่ต้องเสียตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี สืบเนื่องจากตัวเลขจีดีพีของทั้งสองประเทศหดตัวลงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2023


    ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ของญี่ปุ่นและอังกฤษหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ดีมานด์และกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศตกต่ำ พาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย


อังกฤษเผชิญ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค”

    สำนักงานสถิติแห่งชาติประจำสหราชอาณาจักรเผยจีดีพีตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปี 2023 ตกลง 0.3% ถือเป็นการหดตัวติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว นับว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Technical Recession)

    ทั้ง 3 ภาคส่วนหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ได้แก่ การบริการ การก่อสร้าง และการผลิต ต่างก็มีผลประกอบการตกลงในไตรมาส 4/2023 สืบเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โครงสร้างตลาดแรงงานที่อ่อนแอ และอัตราการเติบโตของผลิตภาพที่ตกต่ำ


Jeremy Hunt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร


    โดย Jeremy Hunt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรเน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อสูงยังคง “เป็นกำแพงสูงเพียงหนึ่งเดียวที่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ” เพราะเป็นปัจจัยที่บีบให้ธนาคารกลางของอังกฤษจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้

    อย่างไรก็ตาม Marc Brookes ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนจาก Quilter Investors เผยว่าการถดถอยครั้งนี้ไม่ได้น่ากังวลนัก และสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ เขาชี้ไปยังภาคบริการว่าเป็นกุญแจสำคัญ เพราะมีส่วนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน อัตราค่าแรง ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคในประเทศอย่างมาก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรฟื้นตัวได้


ญี่ปุ่นจีดีพีหดตัว ตกอันดับตามหลังเยอรมนี

    ข้ามมาฝั่งเอเชีย ยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่นก็เผชิญตัวเลขจีดีพีที่ตกลง 0.4% ใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2023 ต่ำกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตราว 2% ในปี 2023 ด้วยอานิสงส์จากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยว

    แม้กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการถดถอยของแทบทุกภาคส่วนภายในประเทศ มีเพียงการส่งออกเท่านั้นที่เป็นบวก โดยการบริโภคของภาคเอกชน (Private Comsumption) ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกลง 0.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปีเทียบกับปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากราคาอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าอื่นๆ ที่มีราคาแพงขึ้น ทั้งยังต้องเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดที่น้อยลง


ชิบูย่า ย่านการค้าที่สำคัญของญี่ปุ่น


    ค่าเงินเยนยังตกลง 6.6% เทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นหนึ่งสกุลเงินที่มีศักยภาพต่ำสุดในหมู่สกุลเงินที่ถูกใช้งานในกลุ่ม 10 ประเทศอุตสาหกรรม

    ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ยังพาให้ญี่ปุ่นเสียตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแก่เยอรมนี โดยตลอดปี 2023 จีดีพีของญี่ปุ่นเติบโตเพียง 5.7% คิดเป็น 4.2 ล้านล้านเหรียญ ในขณะที่เยอรมนีจีดีพีเติบโต 6.3% แตะ 4.46 ล้านล้านเหรียญ

    อย่างไรก็ตาม Piero Cingari นักวิเคราะห์การตลาดมองว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีอิทธิพลยิ่งต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของยุโรปยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากมาย

    “ตัวบ่งชี้เศรษฐกิจเยอรมันยังคงไม่แน่นอน ตัวเลขต่างๆ ในเดือนมกราคมตกต่ำอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19” พร้อมเสริมว่ากิจกรรมเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีแนวโน้มอ่อนแอ

    สำหรับปัญหาที่เยอรมนีเผชิญตลอดปีที่ผ่านมามีทั้งการผลิตและการบริการที่ตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กับอัตราการว่างงานเลยทีเดียว


แหล่งที่มา:

UK economy slipped into technical recession at the end of 2023

Japan is no longer the world’s third-largest economy as it slips into recession

IMF lifts Japan's 2023 growth forecast to 2% amid tourism boom

Japan just lost its crown as the world’s third-largest economy

Germany now world's third largest economy as Japan loses its spot


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ยูโอบี ประเมินจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัวได้ 3.6% จากภาคส่งออก และท่องเที่ยวฟื้นตัว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine