เอสโตเนียเป็นประเทศใหม่ที่เพิ่งได้เอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประเทศเล็กๆ ริมทะเลบอลติกแห่งนี้มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน และพวกเขาเลือกมุ่งมั่นสร้างชาติใหม่ของตนด้วยระบบ e-Government และ e-Residency
จากการพัฒนาระบบราชการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ปัจจุบันนี้ประชาชนเอสโตเนียสามารถยื่นเอกสารราชการทุกอย่างบนระบบออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้นเพียง 3 อย่างที่ยังต้องเดินทางไปยังหน่วยงาน คือ การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
ไม่ว่าจะเป็นการยื่นภาษี ออกเสียงเลือกตั้ง หรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ประชาชนเอสโตเนียไม่ต้องกรอกเอกสารใหม่ซ้ำๆ เพราะฐานข้อมูลทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบออนไลน์ และทุกคนจะมีบัตรประชาชนดิจิทัลเป็นสิ่งระบุตัวตน
หลังจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนระบบมีเสถียรภาพโดยมุ่งเน้นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เอสโตเนียจึงมีแนวคิดขยายระบบ e-Government นี้ไปนอกประเทศ โดยให้สิทธิเป็นผู้พักอาศัยแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Residency” ให้กับคนต่างชาติเป็นประเทศแรกของโลก
ชาวต่างชาติที่ได้สิทธินี้จะมีฐานะเป็นผู้พำนักในประเทศเอสโตเนียแบบเสมือนจริง ไม่ว่าตัวตนจริงของคุณจะอยู่ที่ไหน เมื่อเป็น e-Resident แล้วจะมีสิทธิ “เปิดบริษัทและทำธุรกิจออนไลน์เสมือนจัดตั้งบริษัทนั้นๆ ในเอสโตเนีย” โดยสามารถเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ เซ็นเอกสารผ่านระบบดิจิทัล และยื่นภาษีนิติบุคคลออนไลน์ (ไม่ใช่การถือสัญชาติและไม่สามารถใช้เข้าออกยุโรปแทนวีซ่าได้)
ด้วยพื้นฐาน e-Government ของประเทศ ทำให้เอสโตเนียดำเนินโปรแกรมนี้ได้จริง ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2014 จนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2019 เอสโตเนียมีผู้ได้รับสิทธิ e-Residency แล้วมากกว่า 57,000 คนจาก 165 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ Barack Obama อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือ พระสันตะปาปา Francis ล้วนเป็น e-Resident ของเอสโตเนียทั้งสิ้น
สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจสมัครโปรแกรมนี้มากที่สุดได้แก่ ฟินแลนด์ (10%) รัสเซีย (8%) และยูเครน (7%) อย่างไรก็ตาม ชาติที่กำลังสมัครโปรแกรมนี้สูงขึ้นคือ สหราชอาณาจักร จากความกังวลกรณี Brexit รวมถึง ตุรกี ที่มีความผันผวนทางการเมือง
ลดปริมาณเอกสารราชการ
จากการเสวนาภายในงาน The Secret Sauce to Estonia’s Digital Success ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2019 ในย่านสาทร สิ่งที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติสนใจสมัครเป็น e-Resident นั้นสรุปได้เป็น 3 เหตุผลใหญ่ คือ 1) ลดความยุ่งยากในการทำงานเอกสาร 2) โอกาสในการเปิดประตูสู่ตลาดยุโรป และ 3) สิทธิทางภาษีที่อาจคุ้มค่ากว่าประเทศของตนเอง และเอื้อต่อสตาร์ทอัพ
Quentin Cottereau ผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสที่ปัจจุบันปักหลักทำงานในไทยและพัฒนาสตาร์ทอัพมากว่า 6 ปี มองว่า โปรแกรม e-Residency มีประโยชน์มากในแง่ลดความยุ่งยากของการทำเอกสารราชการ
“หลายที่ในโลกนี้มีปัญหาเรื่องการใช้เวลาทำงานเอกสารราชการ ยกตัวอย่างที่ฝรั่งเศส เราต้องใช้เวลา 1 วันต่อสัปดาห์เพื่อจัดการเอกสาร แต่ในเอสโตเนียใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น และระบบยังไม่เคยล่มเลย ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นเยอะมากเพื่อทำงานหลักของเรา” Cottereau กล่าว
ด้าน ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐสวัสดิการจากสถาบันวิจัย The Welfare State Is Possible ซึ่งเริ่มดำเนินงานมา 10 เดือนและจดทะเบียนบริษัทในเอสโตเนีย เขามองว่า ข้อดีที่สำคัญที่สุดของโปรแกรมนี้คือโอกาสติดต่อกับบริษัทและบุคลากรในสหภาพยุโรปที่มากขึ้น เพราะบริษัทได้รับการระบุว่าเป็นบริษัทที่จัดตั้งในยุโรป
รองลงมาคือการลดเวลาการทำเอกสารราชการ เนื่องจากการติดต่อราชการทุกอย่างสามารถทำเสร็จสมบูรณ์บนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยงานราชการเหมือนในประเทศไทย และมีความโปร่งใส ซับซ้อนน้อยกว่า ทำให้การดำเนินบริษัทง่ายขึ้น
สิทธิประโยชน์ทางภาษี...อาจไม่คุ้มค่ามากนัก
อย่างไรก็ตาม ษัษฐรัมย์กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีอาจไม่ได้คุ้มค่ามากนัก โดยการเสียภาษีนิติบุคคลในเอสโตเนียจะคิดภาษี 20% เฉพาะเมื่อมีการปันผล (Dividend Tax) ไม่มีการคิดภาษีจากกำไรอย่างในไทย (Profit Tax) เพราะต้องการสนับสนุนให้บริษัทนำเงินลงทุนต่อเนื่อง
แต่ถ้าหากเจ้าของบริษัทชาวไทยต้องการนำเงินปันผลกลับประเทศจะเกิดกรณีเสียภาษีซ้ำซ้อน เพราะต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในเอสโตเนียและจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทยด้วย
ทั้งนี้ Forbes Thailand รายงานอ้างอิงข้อมูลจากกรมสรรพากร สำหรับประเทศไทย หากเป็นธุรกิจระดับ SMEs คือมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทมีสิทธิได้รับอัตราภาษีพิเศษ กรณีที่ SMEs มีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาทได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และหากกำไรสุทธิ 3 แสนถึง 3 ล้านบาทได้รับอัตราภาษีพิเศษ 15% จากปกติอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 20%
ษัษฐรัมย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อพึงระวังก่อนที่บริษัทจะเลือกจดทะเบียนในเอสโตเนียคือ เอสโตเนียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ดังนั้นบริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของยุโรปซึ่งต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนโดยเฉพาะในสายงานที่จะดำเนินธุรกิจ
เขาแนะนำว่า กฎหมายสำคัญที่ต้องระวังคือ GDPR (กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป) เพราะบริษัทส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจออนไลน์ผ่านโปรแกรม e-Residency มีแนวโน้มที่จะต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ใช้บนโลกดิจิทัล
ศูนย์ e-Residency ในกรุงเทพฯ
Arnaud Castaignet หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ต่างประเทศของโปรแกรมe-Residency เปิดเผยว่า บุคคลและบริษัทที่สมัครโปรแกรมนี้มักจะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการที่สามารถทำงานออนไลน์ในแบบ Digital Nomad ได้ เช่น กลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ เว็บดีไซเนอร์ และที่จะสะดวกที่สุดคือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตจากทางการเอสโตเนีย
โดยวิธีการเปิดบริษัทในเอสโตเนีย เจ้าของบริษัทต้องสมัครเป็น e-Resident ก่อนผ่านการกรอกใบสมัครออนไลน์และชำระค่าสมัคร 100 ยูโร จากนั้นรอการตรวจประวัติโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเอสโตเนียประมาณ 10 วันทำการ เมื่อผ่านการตรวจ บุคคลนั้นจะต้องไปพิมพ์ลายนิ้วมือและรับบัตรประชาชนดิจิทัลของตนเอง
สำหรับประเทศไทยนั้น Castaignet กล่าวว่าเอสโตเนียยังไม่มีสถานทูตของตัวเองในกรุงเทพฯ เลย ดังนั้นคนไทยที่สนใจจะต้องเดินทางไปรับบัตรประชาชนดิจิทัลที่ Shanghai หรือสิงคโปร์ อาจเป็นสาเหตุให้มีคนไทยเพียง 65 คน และบริษัทจากไทยอีก 4 บริษัทเท่านั้นที่ลงทะเบียนอยู่ในโปรแกรม แต่โปรแกรมนี้กำลังเตรียมหาที่ตั้งศูนย์ e-Residency ในกรุงเทพฯ ภายในปี 2020 ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันได้มากขึ้น
“เรามีความคาดหวังกับไทยเพราะเราทราบมาว่ามี Digital Nomad เยอะมากในไทย และไทยกำลังจะเป็นฮับของสตาร์ทอัพ นอกจากคนไทยแล้ว ยังมีทั้งชาวสิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซีย เข้ามาก่อตั้งสตาร์ทอัพที่นี่” Castaignet กล่าว
เอสโตเนียได้อะไรจากโปรแกรมนี้?
ในอีกมุมหนึ่ง เหตุผลที่เอสโตเนียเลือกขยายผลระบบ e-Government ของตนเองสู่ภายนอกประเทศนั้น Rene Tammist อดีตรัฐมนตรีกระทรวงผู้ประกอบการและไอทีของเอสโตเนีย ระบุว่า ประเทศเอสโตเนียมีพลเมืองเพียง 1.3 ล้านคน แม้เทียบกับกรุงเทพฯ ก็ยังเล็กกว่ามาก ทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูง การเปิดโปรแกรมนี้จึงเป็นการดึงดูดบุคลากรและบริษัทเข้ามาทำงาน
ด้าน Ott Vatter กรรมการผู้จัดการ โปรแกรมe-Residency เอสโตเนีย ให้สัมภาษณ์กับ forbes.com ว่าปัจจุบันโปรแกรมนี้สร้างรายได้ทางตรงเข้าประเทศแล้ว 14 ล้านยูโร ยังไม่นับผลบวกทางอ้อมอื่นๆ อีก เช่น จุดหมายการท่องเที่ยว กระตุ้นความสนใจลงทุน ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายที่สำคัญกว่าสำหรับรัฐบาลเอสโตเนีย
Vatter กล่าวด้วยว่า การดำเนินโปรแกรมที่ผ่านมาเปรียบเหมือนเป็น e-Residency 1.0 ต่อจากนี้โปรแกรมจะเข้าสู่เฟส 2.0 คือสร้างเสริมคุณภาพให้ธุรกิจของเหล่า e-Resident ให้มีเครือข่ายการทำงานที่ดีขึ้น และทำให้เอสโตเนียสามารถส่งออกองค์ความรู้ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศไปทั่วโลก
ที่มาข้อมูลประกอบเพิ่มเติม