จากอดีตที่ Elon Musk เคยหัวเราะเยาะ BYD ว่าเป็นเสมือนภัยคุกคามหรือลางร้ายของนวัตกรรมแห่งยานยนต์ไฟฟ้า แต่ทว่าล่าสุดดูเหมือนอัตราการเติบโตของกำลังการผลิตแบรนด์รถยนต์ EV จากจีนจะเบียดแซงหน้า Tesla ของ Elon Musk จนตกบัลลังก์แล้วขึ้นแท่นครองแชมป์ยอดขายพุ่งส่งท้ายปีในไตรมาส 4 ปี 2023 ไปแล้วเรียบร้อย
ย้อนกลับไปในปี 2011 Elon Musk ผู้ซึ่งเคยหัวเราะเยาะในผลงานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนแบรนด์ BYD ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg
“คุณเห็นรถของพวกเขาไหม ผมคิดว่ามันไม่ได้มีความน่าสนใจอะไรเป็นพิเศษ แล้วเทคโนโลยีที่มีไม่ได้แข็งแกร่งมาก ผมคิดว่าแบรนด์นี้ควรจะโฟกัสให้ถูกจุดว่าจะทำธุรกิจอย่างไรไม่ให้พังลงและตายไปในประเทศของตัวเองมากกว่านะ” Musk กล่าวแบบไม่เกรงใจผ่านสื่อ
ถึงกระนั้นเองเมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจของแบรนด์ BYD ที่เคยถูกเจ้าพ่อเทคโนโลยีคนดังจากฝั่งอเมริกาเย้ยหยันกลับไม่ได้ล้มหายตายจากดั่งคำที่เขาเคยปรามาสไว้
ในทางกลับกันแบรนด์รถยนต์จากจีนกลับกลายเป็นฝ่ายเร่งสปีดแซงเบียดหน้าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของ Musk ให้ตกจากบัลลังก์แล้วขึ้นแท่นครองตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก จากการทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (Pure EV) ได้มากกว่า Tesla ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ที่ผ่านมา
สื่อต่างประเทศรายงานว่า BYD ได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 526,409 คันให้กับผู้บริโภคในไตรมาส 4 (ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม) ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 22% จาก 431,603 คัน ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ Tesla สามารถจำหน่ายรถไฟฟ้าในไตรมาส 4 ไปได้ทั้งสิ้น 484,507 คัน ส่วนไตรมาส 3 นั้น BYD มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่า Tesla ไม่มากนัก โดย Tesla มียอดขายอยู่ที่ 435,059 คัน
ประวัติที่มาของ BYD
แม้ปัจจุบัน BYD จะเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ทว่าอาณาจักรของธุรกิจในเครือนั้นได้แผ่ขยายออกไปในหลายธุรกิจนับตั้งแต่แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ ต่อเนื่องไปจนถึงเหมืองแร่ ซึ่งนั่นถือเป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จ
นักเคมี Wang Chuanfu ได้ก่อตั้ง BYD ขึ้นในปี 1995 ณ เมืองเซินเจิ้น ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน โดยมีพนักงานในช่วงเริ่มต้น 20 คน มีเงินทุน 2.5 ล้านหยวนจีน หรือเป็นเงิน 351,994 เหรียญสหรัฐฯ ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน
ปี 1996 BYD เริ่มผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อใช้กับมือถือสมาร์ทโฟน หลังจากนั้นได้รับหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ดำเนินการจัดหาแบตเตอรี่ให้กับ Motorola และ Nokia ในปี 2000 และ 2002 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือขณะนั้น
ถัดมาในปี 2002 เช่นกัน BYD ได้ทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ตอกย้ำความสำเร็จในด้านแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
ก้าวสู่ธุรกิจยานยนต์
ปี 2003 BYD ได้เข้า take over ซื้อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กชื่อ Xi'an Qinchuan Automobile สองปีต่อมาได้เปิดตัวรถยนต์คันแรกชื่อ F3 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สันดาป จากนั้นในปี 2008 จึงได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก ได้แก่ F3DM ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด
และในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัท Berkshire Hathaway ของนักลงทุนข้ามชาติชื่อดังอย่าง Warren Buffett ได้ตัดสินใจเข้าลงทุนใน BYD ด้วยมูลค่า 230 ล้านเหรียญ ณ ขณะนั้น นี่จึงถือเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมีความทะเยอทะยานก้าวหน้าพร้อมแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นไปอีก
ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งกับเป้าหมายการเป็นผู้นำในตลาดรถ EV จึงส่งผลให้ BYD สร้างนวัตกรรมซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนแห่งโลกยานยนต์ในปี 2020 จากการเปิดตัวแบตเตอรี่ Blade หลายคนต่างโต้เถียงกันว่า "นี่แหละคือจุดผลิกผันสำคัญที่สร้างการเติบโตให้แก่รถยนต์ EV ของ BYD"
ช่วงบุกเบิกเริ่มต้นผลิตรถยนต์ EV ณ เวลานั้น ปัญหาหลักสำคัญที่สร้างความปวดหัวแก่ผู้ผลิตและผู้ขับขี่เป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่มีความหนาแน่นของพลังงานต่ำทำให้มีพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการวิ่งได้แค่ระยะสั้นหรือน้อยเกินไป แต่สำหรับ Blade แบตเตอรี่ที่เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีของ BYD ผลิตขึ้นมานั้นสามารถวิ่งได้ในระยะที่ยาวกว่าและยังปลอดภัยกว่าด้วย
บริษัทจึงนำแบตเตอรี่ดังกล่าวไปใส่ไว้ในรถเก๋งสปอร์ตซีดานรุ่น Han ที่เปิดตัวในปี 2020 ซึ่งเหล่าบรรดาคนในวงการยานยนต์ต่างก็มองว่าเป็นรถรุ่นที่ตั้งใจปล่อยออกมาเป็นคู่แข่งเพื่อปะทะกับ Tesla โดยตรง
ปักกิ่งสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า
รัฐบาลจีนมีส่วนช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ EV ของประเทศอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยทางปักกิ่งได้เสนอเงินอุดหนุนเพื่อจูงใจผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเสนอการสนับสนุนจากภาครัฐให้แก่อุตสาหกรรมนี้นับตั้งแต่ปี 2009
Rhodium Group ประมาณการไว้ว่า BYD ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นเงินราว 4.3 พันล้านเหรียญระหว่างปี 2015 ถึง 2020
“BYD เป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมสูงและปรับตัวได้ แต่การเติบโตของบริษัทนั้นเชื่อมโยงกับการปกป้องและการสนับสนุนของปักกิ่งอย่างแยกไม่ออก” Gregor Sebastian นักวิเคราะห์อาวุโสของ Rhodium กล่าวกับสำนักข่าว CNBC “หากไม่มีการสนับสนุนจากปักกิ่ง BYD ก็คงไม่กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกอย่างทุกวันนี้”
เป้าหมายระดับโลก
เมื่อครองตลาดรถ EV ของจีนได้แล้ว BYD ก็เริ่มแผ่อาณาจักรขยายวงกว้างในต่างประเทศอย่างแข็งขัน เห็นได้จากการจัดจำหน่ายรถยนต์ไปยังประเทศต่างๆ นับตั้งแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปจนถึงประเทศไทยและสหราชอาณาจักร
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BYD มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถึง 43% แต่การขยายธุรกิจระหว่างประเทศของ BYD ไม่ได้มีเพียงการขายรถยนต์เท่านั้น เพราะยังต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับการผลิตและวัสดุต่างๆ ด้วย
BYD ยังเผยข้อมูลในช่วงเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมาด้วยว่าจะเปิดโรงงานผลิตแห่งแรกในยุโรปในฮังการี นอกจากนี้ บริษัทก็กำลังมองหาการซื้อสินทรัพย์สำหรับการขุดลิเธียมในประเทศบราซิลด้วย ซึ่งลิเธียมเองถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถของ BYD
ก้าวต่อไปในอนาคต
ศึกการแข่งขันระหว่าง Tesla และ BYD ซึ่งถือเป็น 2 ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของโลกจะยังคงเดินหน้าขับเคี่ยวกันต่อไป โดยทางบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ Sino Auto Insights กล่าวว่า BYD ยังสามารถพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ได้อีกมากในอนาคต
สำหรับ Tesla นั้น บริษัทต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยคู่แข่งจากแบรนด์สัญชาติจีนได้ทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นต่างๆ มากขึ้นอีกทั้งผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมต่างก็เร่งสปีดเพื่อไล่ตามการแข่งขันให้ทันในสมรภูมิตลาดรถยนต์ EV
ท้ายนี้ ในส่วนของตัว Elon Musk เองก็คงจะเพิ่งนึกได้ว่าเขาไม่ควรด้อยค่าแบรนด์เล็กๆ อย่าง BYD ณ เวลานั้น โดยการแสดงความคิดเห็นที่โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X เพื่อตอบกลับการโพสต์วีดิโอที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กในปี 2011 ว่า “นั่นมันหลายปีมาแล้ว ตอนนี้รถของพวกเขาแข่งขันได้สูงมาก”
Musk ของ Tesla ตระหนักดีว่าเขาไม่ควรมองข้าม BYD อย่างไม่ใส่ใจ ในความคิดเห็นที่โพสต์ใน X เพื่อตอบกลับวิดีโอการสัมภาษณ์ Bloomberg ของเขาในปี 2011 Musk กล่าวว่า “เรื่องนั้นมันก็ผ่านมาหลายปีแล้ว และปัจจุบันรถของ BYD ก็สามารถทำยอดขายจากการแข่งขันได้ดีเลยทีเดียว”
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Musk once laughed off BYD as a threat. Now the Chinese giant has taken Tesla’s EV crown
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : TikTok พร้อมชน Amazon หวังเจาะตลาด e-commerce ในสหรัฐฯ ตั้งเป้ารายได้ 1.75 หมื่นล้านเหรียญ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine