กลายเป็นเรื่องสะเทือนวงการสตรีมมิงและการสร้างสรรค์รายการอีกครั้ง เมื่อ 3 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงชั้นนำอย่าง Apple, Amazon และ Netflix กำลังวางแผนนำระบบการจ่ายเงินแก่บรรดาผู้สร้างผลงานใหม่มาใช้ โดยเป็นการคำนวณค่าตอบแทนจาก ‘ศักยภาพ’ ของงานแต่ละชิ้น
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Apple ได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำระบบการจ่ายค่าตอบแทนโดยอิงจากศักยภาพ (Performance-based pay) มาใช้งาน ด้วยระบบดังกล่าว ผู้สร้างคอนเทนต์ที่เผยแพร่บน Apple TV+ จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษอิงจากเกณฑ์ 3 ข้อ ได้แก่ จำนวนคนที่สมัครสมาชิก Apple TV+ เพื่อรับชมผลงานเรื่องนั้น, เวลาที่พวกเขาใช้ไปกับการรับชม และต้นทุนของรายการเทียบกับจำนวนผู้ชม ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมในรายการที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกอาจได้รับเงินสูงถึง 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อซีซัน
อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวยังคงไม่มีข้อสรุปชัดเจน ซึ่งทาง Apple มีการสอบถามความคิดเห็นจากหลายฝ่าย อีกทั้งระบบนี้ไม่อาจใช้ได้กับทุกรายการบนแพลตฟอร์มของ Apple แต่จำกัดเฉพาะคอนเทนต์ที่ทางบริษัทผลิตเองเท่านั้น (in-house production)
นอกจาก Apple แล้ว Amazon กับ Netflix ก็กำลังพัฒนาระบบการจ่ายเงินโดยอ้างอิงจากศักยภาพด้วยเช่นกัน แม้จะยังไม่ได้นำมาใช้จริงก็ตาม โดย Amazon ต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เปอร์เซ็นต์ของผู้ชมที่ดูรายการจนจบ มาคิดคำนวณ ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั้งสองยังจำเป็นต้องพิจารณาวิธีการจ่ายค่าตอบแทน และตั้งเป้าไว้ว่าจะลองใช้ระบบใหม่ในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้
แผนการปรับเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าตอบแทนของบรรดาแพลตฟอร์มสตรีมมิงยักษ์ใหญ่แน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝั่งหนึ่งมองว่าการปรับค่าตอบแทนให้สอดรับกับศักยภาพเป็นเรื่องดี และหลายคนใน Hollywood ก็ต้องการ อย่าง Jason Blum โปรดิวเซอร์และ Jeremy Zimmer ซีอีโอจาก United Talent Agency ต่างให้เหตุผลว่า หากคุณได้รับค่าตอบแทน 10 ล้านเหรียญไม่ว่ารายการนั้นจะดีหรือไม่ คุณก็จะขาดแรงจูงใจในการทำให้มันออกมาดี
ตรงกันข้ามโปรดิวเซอร์และตัวแทนคนในวงการหลายคนกลับกังขาในแผนการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ พวกเขามองว่าบริษัทเหล่านี้แค่พยายามจะประหยัดเงิน ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่มีการให้กรรมสิทธิ์ในผลงาน แบ่งหุ้น หรือผลกำไรแต่อย่างใด แม้ว่า Apple และ Disney จะมีการให้โบนัสก็ตาม
จากกลยุทธ์ของ Netflix สู่โมเดลของวงการสตรีมมิง
สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนของแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเริ่มมาจาก Netflix โดยจะมีการจ่ายเงินจำนวนมากล่วงหน้า ทำเสมือนว่าทุกรายการเป็นรายการยอดนิยม เพราะ ณ ตอนนั้น Netflix คือหน้าใหม่ในธุรกิจ และจำเป็นต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อแย่งชิงโปรเจ็กต์ต่างๆ มาไว้ในครอบครอง มีการการันตีว่าจะได้ทำจนจบซีซัน (และอาจมีซีซันต่อ) รวมถึงค่าตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนของรายการ
Netflix สร้างโมเดลนี้ขึ้นมาตอนที่เริ่มผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ด้วยตัวเอง มีการเสนอสัญญาระยะยาวแก่บรรดาโปรดิวเซอร์ฝีมือดีมากมายไม่ให้ไปทำงานกับคู่แข่ง ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ Netflix สร้างเงื่อนไขที่ไม่เคยมีมาก่อน
ช่วงแรกทุกคนก็รัก Netflix เพราะทั้งโปรดิวเซอร์ นักแสดง และคนเขียนบท ต่างก็ได้รับค่าตอบแทนมหาศาลแม้รายการของพวกเขาจะไม่ได้โด่งดังอะไร และ Netflix ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มทรงอิทธิพลที่ทำให้บริษัทใหญ่รายอื่นต้องหันมาใช้โมเดลเดียวกันเพื่อไม่ให้ต้องเสียบุคลากรคุณภาพไป
ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และความโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลายคนใน Hollywood เริ่มจะคิดว่าข้อสัญญาเหล่านี้ไม่ได้ให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่พวกเขาเมื่อพิจารณาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสตรีมมิงและภาพยนตร์ คนเขียนบทและทีมงานอื่นๆ ทำงานหนักขึ้น สวนทางกับรายได้ พวกเขาจึงออกมารวมตัวประท้วงหยุดงานถึง 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา
นอกเหนือจากบรรดาทีมงาน ทางโปรดิวเซอร์และนักแสดงต่างก็ไม่พอใจเช่นกัน พวกเขาเคยได้รับค่าตอบแทนทุกครั้งที่มีการทำผลงานมาฉายซ้ำ และขายลิขสิทธิ์การฉายบนโทรทัศน์ช่องอื่นหรือในประเทศอื่น
ทั้งนี้ Netflix ไม่ใช่สตูดิโอภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุด และผู้ผลิตภาพยนตร์หลายรายยังเลือกที่จะฉายผลงานในโรงภาพยนตร์ ที่ซึ่งโปรดิวเซอร์ นักแสดง และผู้กำกับอาจได้รับค่าตอบแทนมากกว่า เช่น Christopher Nolan ที่ท้ายสุดก็ได้เงินจากการสร้างภาพยนตร์ Oppenheimer ทะลุ 100 ล้านเหรียญ โดยเขาเคยปฏิญาณตนไว้ว่าจะไม่มีวันทำงานกับ Netflix
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้ Netflix ต้องปรับกลยุทธ์รวมถึงแผนการหลายอย่าง ซึ่งระบบการจ่ายค่าตอบแทนก็เป็นหนึ่งในนั้น และหากทุกอย่างไปได้สวย เราอาจได้เห็นความโปร่งใสในวงการสตรีมมิงมากขึ้น เพราะหากต้องการจ่ายค่าตอบแทนโดยอิงจากศักยภาพของรายการจริง แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ต้องมีการเผยข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
แปล สรุป และเรียบเรียงจาก Apple, Netflix, Amazon Want to Change How They Pay Hollywood Stars
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “จงสั่งสมความเห็นต่าง” แนวคิดสู่การตัดสินใจ ฉบับ Reed Hastings แห่ง Netflix
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine