ร่ำรวยและเหลื่อมล้ำ 5 เศรษฐีโลกรวยขึ้น 8 แสนล้านเหรียญ แต่ประชากรโลก 5 พันล้านคนจนลง - Forbes Thailand

ร่ำรวยและเหลื่อมล้ำ 5 เศรษฐีโลกรวยขึ้น 8 แสนล้านเหรียญ แต่ประชากรโลก 5 พันล้านคนจนลง

นับตั้งแต่ปี 2020 ความมั่งคั่งสุทธิของมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกทั้ง 5 คนพุ่งทะยาน 114% หรือ 8.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขหลังปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว จากรายงานประจำปีโดย Oxfam ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา หากทิศทางยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจได้เห็นมหาเศรษฐีล้านล้านเหรียญคนแรกในรอบทศวรรษ


    ในขณะเดียวกัน ประชากรเกือบ 5 พันล้านคนทั่วโลกกลับจนลง ยามต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ สงคราม และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยอาจต้องใช้เวลาราว 230 ปีเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปในปัจจุบัน

    รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลที่ Forbes รวบรวมไว้ และปล่อยออกมาประจวบเหมาะกับงานประชุม World Economic Forum ประจำปี ณ ดาฟอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2024 ซึ่งมีบรรดาบุคคลมั่งคั่งระดับแนวหน้าและผู้นำโลกมารวมตัวกัน

    “แม้ความเหลื่อมล้ำจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีแสงเทียนในความมืดมิด” Nabil Ahmed ผู้อำนวยการฝ่ายความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและชาติพันธุ์แห่ง Oxfam America กล่าว

    ผู้คนชนชั้นกรรมาชีพพากันออกมาแสดงพลังผ่านการประท้วงและต่อรองเรียกค่าตอบแทนและเงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น อีกทั้งหลายรัฐบาลก็อยู่ข้างพวกเขา ร่วมผลักดันนโยบายสนับสนุนสิทธิแรงงานต่างๆ

    “พวกเราอยู่ในยุคฉาบทองครั้งใหม่ แต่แรงงาน หน่วยงานกำกับดูแล สหภาพ และผู้จัดการชุมชนกำลังกะเทาะมัน” Ahmed เปรียบเปรยสถานการณ์ปัจจุบันกับช่วง Glided Age หรือยุครุ่งเรืองของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามกลางเมือง ที่อเมริกาเจริญก้าวหน้า ทันสมัย และเศรษฐกิจเฟื่องฟู แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเรื่องของการฉ้อโกงตลอดจนความอยุติธรรมต่างๆ อันก่อให้เกิดปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมตามมา


Elon Musk, Bernard Arnault และ Larry Ellison

ความมั่งคั่งทบทวี

    Elon Musk ผู้ดำเนินกิจการหลายบริษัทรวมถึง Tesla และ SpaceX ที่เติบโตยิ่งใหญ่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นแตะ 2.45 แสนล้านเหรียญ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2023 เทียบกับเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ถือว่าเติบโตถึง 737% แม้จะปรับค่าเงินเฟ้อแล้วก็ตาม

    ด้าน Bernard Arnault ประธานบริษัทสินค้าลักชัวรียักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส LVMH และครอบครัวมีความมั่งคั่งสุทธิถึง 1.93 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 111%

    ส่วนผู้ก่อตั้ง Amazon อย่าง Jeff Bezos มีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครอง 1.67 แสนล้านเหรียญ โต 24% ในขณะที่ Larry Ellison ผู้ก่อตั้ง Oracle มีความมั่งคั่งสุทธิ 1.45 แสนล้านเหรียญ คิดเป็นตัวเลขเติบโต 107% นับจากปี 2020

    และอีกคนที่ขาดไม่ได้เลยคือ Warren Buffett ซีอีโอแห่ง Berkshire Hathaway ที่ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 48% รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็น 1.19 แสนล้านเหรียญ

    หากคำนวณรวมกัน อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้มีมูลค่าความมั่งคั่งถึง 3.3 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มจากปี 2020 ราว 34% โดย Oxfam เผยว่าทรัพย์สินของพวกเขาเติบโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อถึงสามเท่า


Warren Buffett และ Jeff Bezos

อำนาจบริษัท

    จากรายงานของ Oxfam ประจำปีนี้ ชี้ว่าธุรกิจต่างๆ กำลังกอบโกยผลกำไรมหาศาล เติมมูลค่าทรัพย์สินให้แก่บรรดาผู้มั่งคั่งทั้งหลาย บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดในโลก 7 จาก 10 แห่งมีมหาเศรษฐีดำรงตำแหน่งซีอีโอ หรือไม่ก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

    ยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นบนที่มีเพียง 1% กลับถือครองทรัพย์สินทางการเงินราว 43% ของทั้งโลก อ้างอิงข้อมูลที่ Oxfam ได้จาก Wealth X โดยในสหรัฐฯ คนกลุ่มนี้ก็ครอบครองทรัพย์สิน 32%, ในเอเชียครอบครอง 50%, ในตะวันออกกลางครอบครอง 48% และในยุโรปครอบครอง 47%

    Oxfam เผยว่า บริษัทใหญ่ 148 แห่งของโลกทำกำไรเกือบ 1.8 ล้านล้านเหรียญตลอดระยะเวลา 12 เดือนนับย้อนจากเดือนมิถุนายนปี 2023 ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2018-2021 ถึง 52.5%

    Oxfam พุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เภสัชภัณฑ์ และการเงิน ที่กวาดผลกำไรตลอด 1-2 ปีมานี้ไปเป็นมูลค่ามหาศาลมากกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อนหน้านั้น

    “เราเมินเฉยต่อบทบาทที่ผูกขาดอำนาจในการแบ่งสรรปันความมั่งคั่ง ซึ่งนับว่าอันตรายมาก” Admed กล่าว

    Oxfam กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ก้าวเข้ามามีบทบาท

    “อำนาจรัฐสามารถกำราบอำนาจของบริษัทและความเหลื่อมล้ำอันยากจะควบคุมได้ เพื่อปรับตลาดให้เข้าที่เข้าทาง มีความเป็นธรรม และหลุดจากการครอบงำของมหาเศรษฐี” Amitabh Behar ผู้อำนวยการใหญ่ชั่วคราวแห่ง Oxfam International เผยผ่านแถลงการณ์

    “รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งการผูดขาด สนับสนุนแรงงาน เก็บภาษีจากกำไรมหาศาลของบริษัทเหล่านี้ และที่สำคัญ ต้องลงทุนสร้างศักราชใหม่ของสินค้าและบริการสาธารณะ”


แปลและเรียบเรียงจาก The wealth of the world’s five richest men more than doubled since 2020


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จากพนักงานสู่ประธานบริษัท! “เจแปนแอร์ไลน์” แต่งตั้งอดีตแอร์ฯ เป็นประธานหญิงคนแรกของสายการบิน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine