3 นักวิทย์ผู้ประดิษฐ์ “แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน” ชนะรางวัลโนเบล - Forbes Thailand

3 นักวิทย์ผู้ประดิษฐ์ “แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน” ชนะรางวัลโนเบล

3 นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นแบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออนนวัตกรรมเปลี่ยนโลกยุคใหม่ ชนะรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2019

M. Stanley Whittingham ชาวอังกฤษจาก Binghamton University, John Goodenough ชาวอเมริกันจาก University of Texas at Austin และ Akira Yoshino ชาวญี่ปุ่นจาก Meijo University คือ 3 นักวิทยาศาสตร์ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการประดิษฐ์คิดค้น แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน โดยพวกเขาจะได้รางวัลเป็นเงินจำนวน 9 ล้านโครเนอร์สวีเดน (ประมาณ 27.5 ล้านบาท)

แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออนซึ่งสามารถนำมาชาร์จไฟซ้ำได้ของพวกเขา ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1985 ก่อนที่บริษัท Sony จะเป็นบริษัทแรกที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1991 โดยติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ คุณสมบัติของแบตฯ ลิเทียม-ไอออนซึ่งมีน้ำหนักเบาทำให้สิ่งนี้กลายเป็นประดิษฐกรรมครั้งสำคัญ และมีการนำไปใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่ที่เคลื่อนที่ได้กันอย่างแพร่หลาย เช่น สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก และรถยนต์ไฟฟ้า

โดย The Royal Swedish Academy of Sciences ผู้มอบรางวัลโนเบลได้ให้เครดิตกับทีมวิจัยนี้ว่า พวกเขาได้ช่วยสร้างโลกที่ยั่งยืนขึ้นเพราะแบตเตอรี่นี้ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้จริง และยังใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้ด้วย

แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออนถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ได้ทั่วโลก ทำให้เราสามารถสื่อสาร ทำงาน ศึกษาหาความรู้ หรือฟังเพลงได้จากทุกที่ แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนยังเป็นบ่อเกิดการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ในระยะไกล และเป็นเครื่องกักเก็บพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม The Royal Swedish Academy of Sciences ระบุในแถลงการณ์การมอบรางวัลครั้งนี้

M.-Stanley-Whittingham-แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน
M. Stanley Whittingham ผู้วางรากฐานสู่การประดิษฐ์แบตเตอรี่ชาร์จไฟซ้ำได้ในยุคทศวรรษ 1970s (PHOTO CREDIT: SEBASTIAN GOLLNOW / AFP)

สำหรับเรื่องราวการค้นพบ เริ่มต้นจาก Whittingham ผู้เริ่มศึกษางานอันเป็นรากฐานของแบตเตอรี่ในทศวรรษ 1970s และเป็นคนแรกที่ทดลองประดิษฐ์แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ ขณะที่ Goodenough ค้นพบการพัฒนาศักยภาพของแบตเตอรี่ให้ดียิ่งขึ้นในปี 1980

John-Goodenough-แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน
John Goodenough ผู้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลที่สูงอายุที่สุดในประวัติศาสตร์ (PHOTO CREDIT: University of Texas at Austin)

ปิดท้ายด้วย Yoshino ผู้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนให้เหมาะสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1985 โดยเขาพัฒนาจนแบตเตอรี่สามารถชาร์จไฟซ้ำได้หลายร้อยครั้ง 30 ปีหลังจากการค้นพบของพวกเขา ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดอื่นที่สามารถเอาชนะลิเทียม-ไอออนได้

Goodenough หนึ่งในผู้พัฒนาให้แบตเตอรี่ชาร์จซ้ำเป็นจริง เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Times ว่า เขาเพียงแต่จินตนาการว่าการใช้พลังงานของเราจะเป็นอย่างไร หากเรามีแบตเตอรี่ที่เล็ก เบา และชาร์จซ้ำได้ไว้ใช้งาน และการพัฒนาของเขาในขณะนั้นก็เป็นเพียงการหาอะไรทำโดยไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งประดิษฐ์นี้จะแพร่หลายได้มากแค่ไหน

ทั้งนี้ Goodenough ยังถือเป็นบุคคลที่อายุมากที่สุดในโลกที่ได้รับรางวัลโนเบล (รวมทุกสาขา) โดยปีนี้เขาอายุ 97 ปี

  ที่มา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine