10 มหาเศรษฐีเฮลท์แคร์ ทรัพย์สินพุ่งทะยานจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า - Forbes Thailand

10 มหาเศรษฐีเฮลท์แคร์ ทรัพย์สินพุ่งทะยานจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า

ราคาหุ้นที่พุ่งทะยานของบริษัทผู้พัฒนาวัคซีน, ยารักษา และชุดทดสอบโรคโควิด-19 ได้ส่งให้มีมหาเศรษฐีหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คน ทั้งยังเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเหล่ามหาเศรษฐีเฮลท์แคร์อีก 9 คนด้วย

หลังเมื่อวันที่ 11 มีนาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลก ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างทรุดลงอย่างหนัก โดยดัชนีดาวน์โจนส์มียอดขายที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1987 แม้จากนั้นตลาดหุ้นจะดีดตัวขึ้นบ้าง แต่บริษัทกลุ่มหนึ่งกลับไม่เคยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งยังมีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยซ้ำ โดยตลาดมีการซื้อขายหุ้นบริษัทเฮลท์แคร์กันอย่างหนักหน่วง ท่ามกลางความพยายามในการคิดค้นวัคซีน, การรักษา และชุดทดสอบ

ทั้งนี้ หุ้นของบริษัทเหล่านี้ซึ่งกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางกำจัดไวรัสนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และยังสร้างมหาเศรษฐีหน้าใหม่ 1 ราย รวมถึงเพิ่มความมั่งคั่งให้กับมหาเศรษฐีอีก 9 รายด้วย

ผู้ชนะที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นใครไม่ได้นอกจากมหาเศรษฐีหน้าใหม่อย่าง Stéphane Bancel ซีอีโอบริษัท Moderna ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่เริ่มการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมาใน Seattle

ซึ่งเมื่อ WHO ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ Bancel ที่ตอนนั้นน่าจะมีทรัพย์สินอยู่ที่ราว 730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็น่าจะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นราว 1.5 พันล้านเหรียญ ผลจากราคาหุ้นของ Moderna ที่พุ่งขึ้นถึง 103% และ Bancel ผู้ถือสัญชาติฝรั่งเศส ก็ได้เข้ามาอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายนนั้นเอง ไม่เพียงเท่านั้น หุ้นของ Moderna ยังมีมูลค่าพุ่งขึ้นต่อเนื่อง หลังมีข่าวว่าบริษัทกำลังวางแผนทำการทดลองวัคซีนในเฟส 2

Bancel ถือเป็นผู้ที่มีรวยขึ้นมากที่สุดหากดูในแง่ของเปอร์เซ็นต์ ด้วยความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นถึง 109% ในช่วงเวลาเพียง 7 สัปดาห์

ขณะที่รองลงมาคือผู้ประกอบการอย่าง Gustavo Denegri ที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 32% หรือเพิ่มขึ้น 1.1 พันล้านเหรียญ ซึ่งต้องขอบคุณหุ้นสัดส่วน 45% ที่เขาถืออยู่ในบริษัทไบโอเทคสัญชาติอิตาลีอย่าง DiaSorin

แต่สำหรับผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน (คิดเป็นเม็ดเงิน) เพิ่มขึ้นมากที่สุดนั้น ได้แก่ มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสอย่าง Alain Mérieux ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชุดทดสอบอย่าง BioMérieux (ซึ่ง Bancel แห่ง Moderna เคยเป็นซีอีโอจนถึงปี 2011) และ Seo Jung-Jin ซีอีโอบริษัทชีวเวชภัณฑ์สัญชาติเกาหลีอย่าง Celltrion โดยทั้งคู่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นราว 1.5 พันล้านเหรียญ

ทั้งนี้ BioMérieux และ DiaSorin ถือเป็นผู้เล่นหลักที่ต่างพยายามแข่งขันกันผลิตชุดทดสอบ COVID-19 โดยทั้งสองบริษัทได้ปล่อยชุดทดสอบสำหรับโรคนี้ออกมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม

และนี่คือ 10 มหาเศรษฐีเฮลท์แคร์ ที่ร่ำรวยขึ้นจากวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งต้องขอบคุณที่บริษัทของเขาในความพยายามหาทางสู้กับโรคระบาดครั้งนี้

 

Stéphane Bancel

สัญชาติ: ฝรั่งเศส

ทรัพย์สินสุทธิ: 1.5 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้นจากวันที่ 11 มีนาคม 109%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: Moderna

Photo Credit: AFP

Bancel ดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัทจาก Cambridge, Massachusetts อย่าง Moderna Therapeutics ตั้งแต่ปี 2011 โดยก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นซีอีโอให้กับบริษัท BioMérieux ด้วย

เขาถือหุ้นใน Moderna อยู่ 9% โดยบริษัทรายนี้เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนกว่า 483 ล้านเหรียญจากกระทรวงสาธารณสุขและการบริการของสหรัฐฯ เพื่อใช้เร่งการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ซึ่ง Bancel กล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวจะนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

 

Gustavo Denegri

สัญชาติ: อิตาลี

ทรัพย์สินสุทธิ: 4.5 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 32%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: DiaSorin

Denegri ผู้ได้รับการฝึกให้มาเป็นนักเคมี และตอนนี้เขากำลังถือหุ้น 45% ในบริษัทไบโอเทคสัญชาติอิตาลีอย่าง DiaSorin อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเขาไม่ได้เริ่มต้นที่อุตสาหกรรมเภสัชกรรม

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเขาเกิดขึ้นในปี 1985 เมื่อเขารวมบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์อย่าง Gruppo Pro-Ind ที่เขาก่อตั้งขึ้นในทศวรรษที่ 1970 เข้ากับบริษัท Piaggio ที่ผลิตรถ Vespa

ขณะที่ DiaSorin เป็นบริษัทที่เขาได้มาในปี 2000 โดยปัจจุบันเป็นบริษัทที่เปิดตัววิธีการตรวจด้วยวิธี swab และชุดตรวจโควิด-19 โดยใช้แอนติบอดี โดยชุดตรวจแอนติบอดีชุดใหม่นั้นเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และปัจจุบันได้ส่งไปให้กับภูมิภาคต่างๆ ทั่วอิตาลี

โดย DiaSorin มีโรงงานผลิตอยู่หลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี และอิตาลีด้วย

 

Seo Jung-Jin

สัญชาติ: เกาหลีใต้

ทรัพย์สินสุทธิ: 4.5 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 22%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: Celltrion

Seo ร่วมก่อตั้งบริษัท Celltrion ในปี 2002 ก่อนจะนำเข้าสู่ตลาดในปี 2008 โดยบริษัทได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาทั้งชุดทดสอบและวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีศักยภาพ ซึ่งคาดว่าแนวการรักษาด้วยยาต้านไวรัสของบริษัทจะสามารถทดลองในมนุษย์ได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้

นอกจากนี้ Celltrion ยังพัฒนาชุดทดสอบโรคด้วยตัวเอง ซึ่งบริษัทอ้างว่าสามารถทราบผลได้ภายใน 15-20 นาที โดยมีกำหนดเปิดตัวในปลายฤดูร้อนนี้

 

Alain Mérieux

สัญชาติ: ฝรั่งเศส

ทรัพย์สินสุทธิ: 7.6 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 25%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: BioMérieux

Mérieux ก่อตั้ง BioMérieux ในปี 1963 เพื่อเป็นหน่วยทดสอบการวินิฉัยให้กับ Institut Mérieux ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัททางการแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยปู่ของเขาในปี 1897 และปัจจุบันลูกชายของ Alain กำลังขับเคลื่อนบริษัทในฐานะซีอีโอ

สำหรับ BioMérieux ได้เปิดตัวชุดตรวจโรคโควิด-19 มาในปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นชุดที่ลดเวลาการรู้ผลการทดสอบไวรัสให้เหลือเพียง 45 นาทีเท่านั้น

 

Maja Oeri

สัญชาติ: สวิตเซอร์แลนด์

ทรัพย์สินสุทธิ: 3.2 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 10%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: Roche

Maja Oeri นั้นเป็นทายาทของ Fritz Hoffmann-La Roche ผู้ซึ่งก่อตั้งบริษัทยายักษ์ใหญ่ของสวิสอย่าง Roche ในปี 1896 สำหรับ Oeri นั้นถือหุ้น 5% ในบริษัท ทั้งนี้ Roche ประกาศเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทกำลังเริ่มทดลองทางคลินิก เฟส 3 ในการใช้ยา tocilizumab ซึ่งใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ มาใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ บริษัทยังได้พัฒนาการทดสอบเซรุ่มแบบใหม่ ซึ่งใช้ตรวจสอบแอนติบอดีในคนที่เคยเป็นโรค และวางแผนที่จะเริ่มใช้งานในสหรัฐฯ และยุโรปในต้นเดือนพฤษภาคม

 

Leonard Schleifer

สัญชาติ: สหรัฐอเมริกา

ทรัพย์สินสุทธิ: 2.2 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 11%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: Regeneron Pharmaceuticals

 

George Yancopoulos

สัญชาติ: สหรัฐอเมริกา

ทรัพย์สินสุทธิ: 1.2 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 14%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: Regeneron Pharmaceuticals

Leonard Schleifer ซีอีโอ Regeneron Pharmaceuticals ร่วมก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตยาจาก New York แห่งนี้ขึ้นในปี 1988 ก่อนที่ George Yancopoulos จะเข้ามาร่วมงานด้วยในปีถัดมาในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์

โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม Regeneron เริ่มทำการทดลองชั้นคลินิกในการใช้ยารักษาโรครูมาตอยด์อย่าง sarilumab เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใน New York โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทจากฝรั่งเศสอย่าง Sanofi ซึ่งผลจากการทดลองในเฟสที่ 2 นั้นพบว่ายาช่วยลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว และบริษัทได้เริ่มการทดลองในเฟส 3 ในเดือนพฤษภาคม

 

Thomas Struengmann

สัญชาติ: เยอรมนี

ทรัพย์สินสุทธิ: 6.9 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 11%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: BioNTech

 

Andreas Struengmann

สัญชาติ: เยอรมนี

ทรัพย์สินสุทธิ: 6.9 พันล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 11%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: BioNTech

มหาเศรษฐีฝาแฝดแห่งตระกูล Struengmann มั่งคั่งขึ้นครั้งแรกจากการขายบริษัทผลิตยา Hexal ให้กับ Novartis ด้วยมูลค่าราว 7 พันล้านเหรียญในปี 2005 ปัจจุบันพวกเขาลงทุนในบริษัทด้านไบโอเทคและเฮลท์แคร์ผ่านบริษัทลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ของพวกเขาอย่าง Santo Holding

แต่บริษัทที่พวกเขาใส่เงินเดิมพันไปมากสุดก็คือบริษัทที่ตั้งอยู่ใน Mainz ประเทศเยอรมนีอย่าง BioNTech ทั้งนี้ BioNTech นั้นทำงานร่วมกับ Pfizer และ Fosun Pharmaceuticals ในการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์เป็นครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อวันที่ 23 เมษายน และบริษัทยังวางแผนขยายการใช้โปรดักต์ไปยังสหรัฐฯ ด้วยหากผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ

 

Li Xiting

สัญชาติ: สิงคโปร์

ทรัพย์สินสุทธิ: 1.26 หมื่นล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น 1%)

แหล่งที่มาความมั่งคั่ง: Mindray

Mindray ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 โดยมี Li Xiting เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์การแพทย์จาก Shenzhen รายนี้เติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์รายใหญ่ที่สุดของจีนแล้ว

ทั้งนี้ Mindray เข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่พบโรคนี้เป็นครั้งแรกในจีน โดยความสามารถในการผลิตเครื่องช่วยหายใจในโรงงานที่ Shenzhen ของเขานั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่ามาเป็น 3,000 เครื่องต่อเดือน

ขณะเดียวกัน บริษัทได้บริจาคเงินอุปกรณ์การแพทย์มูลค่ารวม 4.6 ล้านเหรียญให้กับโรงพยาบาลทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากอย่าง Wuhan และทางตอนเหนือของอิตาลี

    แปลและเรียบเรียงจาก These Healthcare Billionaires Have Gotten Richer Off The Coronavirus Pandemic