ใครจะเป็นประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้ต่อจาก Park Geun-hye? - Forbes Thailand

ใครจะเป็นประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้ต่อจาก Park Geun-hye?

ชาวเกาหลีใต้นับแสนคนที่เดินขบวนประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดี Park Geun-hye น่าจะยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2017 ศาลได้สนับสนุนการตัดสินใจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อนให้มีการฟ้องร้อง Park Geun-hye หลังเหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้น

อดีตประธานาธิบดีสายอนุรักษนิยมคนล่าสุดได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 ด้วยความหวังของประชาชนว่าเธอจะไม่สร้างเหตุการณ์อื้อฉาวเหมือนอย่างบรรพบุรุษ (เธอเป็นบุตรสาวคนโตของอดีตประธานาธิบดี Park Chung-hee ซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการในช่วงปี 1961 ถึง 1979 ซึ่งเป็นปีที่เขาถูกลอบสังหาร) แต่แล้ว Park กลับถูกถอดถอนเมื่อมีรายงานข่าวว่าเธอยินยอมให้บุคคลใกล้ชิดมีอิทธิพลเบื้องหลังในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสุนทรพจน์จนถึงใช้สายสัมพันธ์กับทำเนียบรัฐบาล Blue House ของเกาหลีใต้เพื่อถ่ายเททรัพย์สินผ่านมูลนิธิการกุศล หลังประชาธิปไตยของประเทศตกหลุมอากาศเป็นเวลากว่า 5 เดือน เกาหลีใต้คาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ประเทศที่มีประชากร 51 ล้านคนกำลังเตรียมการตัดสินใจเพื่อเลือกผู้นำประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาระหว่างประเทศ ทั้งการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและการโต้กลับสหรัฐอเมริกาของประเทศจีน รวมถึงปัญหาภายในประเทศเอง เช่น หนี้ครัวเรือน การปรับโครงสร้างองค์กรธุรกิจเอกชน ทั้งนี้ ผู้ต้องการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องลงสมัครภายในเดือนเมษายน ซึ่งรายงานจากสื่อต่างๆ พบว่าว่าที่ผู้สมัครเหล่านี้คือคนที่มีความเป็นได้ว่าชาวเกาหลีใต้จะลงคะแนนเสียงให้มากที่สุด   1.Park Won-Soon นายกเทศมนตรีกรุง Seoul
[เครดิตภาพ: rmaward.asia]
nbsp; จากการเป็นนายกเทศมนตรีมาถึง 6 ปี ทำให้เขาเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก สถานการณ์ของเขาคล้ายคลึงกับอดีตประธานาธิบดี Lee Myung-bak ซึ่งใช้ความสำเร็จจากการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุง Seoul เป็นบันไดสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีช่วงปี 2008-2013 สำหรับ Park Won-Soon ในวัย 60 ปี เขาเคยเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและมีแนวคิดทางการเมืองที่จะปฏิรูปรัฐบาล   2.Moon Jae-in อดีตผู้นำพรรค Minjoo
[เครดิตภาพ: alchetron.com]
nbsp; นักการเมืองวัย 63 ปีจากพรรคสังคมนิยม-เสรีนิยม ถูกนิยามว่าเป็น “ผู้นำหัวก้าวหน้า” เขากล่าวว่า กระแสความไม่พอใจต่ออดีตประธานาธิบดี Park แสดงให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้อง ‘ยกเครื่อง’ ประเทศนี้ใหม่ Moon Jae-in เคยเป็นมือขวาของอดีตประธานาธิบดี Roh Noo-hyun และขณะนี้ถือเป็นตัวเก็งด้วยเสียงสนับสนุน 30-35% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง   3. Ahn Cheol-soo สมาชิกสภาแห่งชาติและผู้ก่อตั้งพรรค People’s Party
[เครดิตภาพ: The Korea Herald]
nbsp; เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 แต่ถอนตัวก่อนการเลือกตั้งเพียงเดือนเดียว เขาเป็นนักการเมืองมาอย่างยาวนานและก่อตั้งพรรคระดับรองที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เดินทางสายกลางและเป็นพรรคทางเลือก Ahn อายุ 55 ปี ได้รับการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา เขาก่อตั้งบริษัท AhnLab ในปี 1995 ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในหมู่บริษัทซอฟต์แวร์   4. Lee Jae-myung นายกเทศมนตรีเมือง Seongnam
[เครดิตภาพ: Seongnam Municipal Office]
nbsp; เป็นว่าที่ผู้ลงสมัครอีกรายที่มาจากพรรค Minjoo และเป็นผู้บริหารเมืองขนาดใหญ่อันดับ 10 ของประเทศมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นักปฏิรูปเสรีนิยมเป็นที่รู้จักจากผลงานโครงการรัฐสวัสดิการสำหรับเด็กและผู้สูงอายุในเมือง Seongnam พรรค Minjoo ส่งชื่อเขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่นักวิชาการทางด้านกฎหมายวัย 52 ปีรายนี้ได้รับคะแนนความนิยมเพียง 16% เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีก่อน  

โอกาสของพรรคฝั่งเสรีนิยม

หลังแรงสนับสนุนสาธารณะต่อนักการเมืองสายอนุรักษนิยมแบบ Park Geun-hye ลดลงอย่างต่อเนื่อง โอกาสของพรรคแนวทางเสรีนิยมจึงมีมากขึ้นแทนที่ แต่หลังจากเหตุการณ์อื้อฉาวของ Park มาถึงบทสรุป ประเด็นที่สาธารณชนจะจับตาจากนี้จึงเป็นนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดี ซึ่งแนวทางพรรค Minjoo ของ Moon อาจถูกเพ่งเล็งตรวจสอบอย่างหนักจากชาวเกาหลีใต้ฝั่งอนุรักษนิยมซึ่งไม่ไว้วางใจนโยบายหัวก้าวหน้าของ Moon ขณะที่ Ahn Cheoul-soo ที่แม้จะได้คะแนนนิยมเพียง 8-10% ในช่วงนี้ แต่ถ้าหากเขาสามารถรวบรวมคะแนนนิยมจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่กำลังขาดตัวเลือกที่ดีในการลงคะแนนเสียง เขาก็อาจจะเป็นผู้ท้าชิงคนสำคัญของ Moon Jae-in  

ประธานาธิบดีหัวก้าวหน้าอาจพลิกประเทศเกาหลีใต้

หากเกาหลีใต้เลือกประธานาธิบดีจากพรรคหัวก้าวหน้าฝั่งเสรีนิยม อาจทำให้เกิดคำถามมากมายต่ออนาคตของประเทศ เนื่องจากประธานาธิบดีจากพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคอื่นๆ จะดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางเดิมคือเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับสหรัฐอเมริกา แต่พรรคหัวก้าวหน้าวางนโยบายที่จะกลับมาสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนืออีกครั้ง และคว้าโอกาสจากความรุ่งเรืองของประเทศจีนโดยการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคกับจีน รวมถึงกิจการภายในประเทศที่กลุ่มหัวก้าวหน้าต้องการจะจุดประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และสิทธิพิเศษของกลุ่มผู้มีอำนาจและร่ำรวยของเกาหลีใต้   เรียบเรียงจาก With Park Geun-hye Gone, Who Will Be The Next President Of South Korea? โดย Ralph Jennings และ With President Park Geun-hye Officially Out Of Office, What's Next For South Korea? โดย Scott Snyder