สตาร์ทอัพอินเดีย ร่วมใจตั้งหน่วยเฉพาะกิจต้านโควิด-19 - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพอินเดีย ร่วมใจตั้งหน่วยเฉพาะกิจต้านโควิด-19

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีทีท่าจะกินเวลายาวนาน ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน 3,666 ราย ผู้เสียชีวิต 109 ราย (ข้อมูลที่ปรากฏในบทความ) ทำให้ สตาร์ทอัพอินเดีย ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ

กลุ่ม "สตาร์ทอัพอินเดีย" หลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นด้าน สุขภาพ เทคโนโลยี การพัฒนาสังคม และหน่วยงานภายในรัฐบาล ได้ร่วมกันหาหนทางเพื่อสนับสนุน ทดลอง รักษา และบริหารจัดการโรคระบาดในครั้งนี้

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Startups vs Covid-19” ได้ร่วมกันสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้กับหน่วยไอซียูที่ใกล้ชิดกับการรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สุด เพื่อเสริมความคล่องตัวให้กับทีมแพทย์ ด้วยการจัดหาอุปกรณ์การรักษา และเปิดตัวสายด่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

จากกลุ่มสตาร์ทอัพ 50 แห่งที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการได้พัฒนาสู่กลุ่มคนทำงานที่มีสมาชิกราว 1,000 คนและเข้าไปมีส่วนช่วยการทำงานของหน่วยรัฐบาลในมลรัฐ Karnataka, Punjab, Goa, Maharashtra และ Assam โดยมุ่งเป้าไปภารกิจ 4 ด้านได้แก่ การลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เพิ่มชุดทดสอบ เชื่อมต่อข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดให้กับหน่วยงานแพทย์ และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้กับผู้ทำงานในสถานการณ์โควิด-19

“พวกเราเห็นตัวเราเองลงไปช่วยกันถึงขั้นตอนการผลิต” Mekin Maheshwari อดีตซีพีโอ Flipkart ซึ่งปัจจุบันก่อตั้ง Udhyam Learning Foundation สถาบันที่ทำงานกับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก กล่าวถึงการความร่วมมือหลังจากได้ก่อตั้งกลุ่ม “Startups Vs Covid-19” เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“เราคือกลุ่มของคนที่มีใจรักธุรกิจและนักแก้ไขปัญหา เป้าหมายในครั้งนี้คือการช่วยเหลือรัฐบาลและพลเมืองท่ามกลางวิกฤต” Maheshwari กล่าวและเสริมว่า “หมวกหลายใบที่สวมเป็นทั้งผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐและขณะเดียวกันสร้างระบบบริหารจัดการให้กับรัฐบาลและพลเมืองให้สามารถพึ่งพาได้”

กลุ่มสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลแห่งมลรัฐ Karnataka ที่มีเมือง Bangalore เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและคนทำงานด้านสตาร์ทอัพ ด้วยการขยายสายด่วนฉุกเฉินเป็น 104 คู่สายใส่ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคัดกรอกสายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ผ่านบทสนทนาออกมาและดึงสายดังกล่าวส่งไปยังแพทย์โดยตรง

สำหรับความช่วยเหลือโดยตรงกับโรงพยาบาลนั้น AgVa Healthcare และ Remidio Innovative Solutions ได้ร่วมกันจัดหาวัตถุดิบเพื่อพิมพ์ท่อช่วยหายใจในห้องไอซียูและหน้ากากอนามัยผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่สามารถทำได้เอง ทำให้โรงพยาบาลสามารถสั่งผลิตตามที่ตนเองต้องการได้

“เราพยายามจะจับคู่การทำงานไว้ด้วยกัน” Udhay Shankar นักปั่นสตาร์ทอัพและเมนทอร์ชื่อดังแห่งอินเดีย กล่าวและเสริมว่า “หากผู้ใดมีบริการที่เกี่ยวข้องและสามารถช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์โควิด-19 สามารถโพสต์รายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.startupvcoid.org เรากำลังมองหาผู้มีน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือการทำให้จำนวนเตียงรักษาในห้องไอซียูมีเพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่พวกเขาคาดการณ์คืออินเดียกำลังเดินเข้าสู่ภาวะขาดแคลนเตียงผู้ป่วย

จากการคำนวณเตียงผู้ป่วยไอซียูทั่วประเทศมีอยู่ราว 7 หมื่นเตียง โมเดลจำลองชี้ให้เห็นว่าอินเดียต้องมีเตียงที่สามารถรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสราว 1 แสนถึง 2 แสนเตียง

และด้วยความร่วมมือกับโรงพยาบาล St. John ในเมือง Bangalore พวกเขาทดลองเพิ่มห้องไอซียูด้วยการเปลี่ยนห้องพักฟื้นผู้ป่วยทั่วไปและบางส่วนของตึกผู้ป่วยในที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งจากโครงการทดลองนำร่องภายใน 7 วัน สามารถสร้างเตียงผู้ป่วยไอซียูได้ถึง 20 เตียง ด้วยงบประมาณ 16,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเตียง

“สิ่งที่จำเป็นไม่ว่าสถานที่ อุปกรณ์การช่วยชีวิตในห้องไอซียู เราจะรวบรวมให้ครบ” Anand Dureja รองประธานด้านธุรกิจแห่ง Urban Company กล่าวเสริมถึงความตั้งใจเพิ่มเตียงผู้ป่วยไอซียู

ขณะที่อีก 2 สตาร์ทอัพสุขภาพอย่าง Portea ที่ให้บริการด้านบุคลากรการแพทย์ส่งตรงถึงบ้าน และ Practo ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มการรักษาออนไลน์สำหรับกลุ่มแพทย์ ได้นำเทคโนโลยีออนไลน์ที่เรียกว่า CloudPhysician ทำให้สามารถวินิจฉัยและดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสได้อย่างทั่วถึง

ด้าน Urban Company ธุรกิจบริการทำความสะอาดแบบตามประสงค์ นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านความสะอาด ทำความสะอาดห้องไอซียูที่ร่วมอยู่ในโครงการ

ทั้งนี้สมาชิก 120 ราย ของกลุ่ม “Startups Vs Covid-19” ร่วมกันสร้างแคมเปญที่รณรงค์เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างซึ่งกันและกัน หรือแคมเปญที่มุ่งสื่อสารไปที่เด็กๆ อย่าง “Help Your Parents”

พร้อมๆ กับแปลเป็นภาษาท้องถิ่น 8 ภาษาให้กับคนทั่วไปได้รับชมและประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายของกลุ่มสตาร์ทอัพด้านการศึกษา อาทิ Daily Hunt, Meesho, Vokal และ My Upachar เพื่อให้สารกระจายไปให้ถึงประชากรกว่า 250 ล้านคนของอินเดีย

เรียบเรียงใหม่จากบทความ Startups Ramp Up The Fight Against COVID-19 With Pop-Up Intensive Care Units; Helplines And Regional Content โดย Anu Raghunathan ที่เผยแพร่บน forbes.com


ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine